ดร.ณัฐวรพล รัชสิริวัชรบุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) พระนคร เปิดเผยว่า มทร.พระนคร เล็งเห็นถึงสถานการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคต และความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจและนวัตกรรมของประเทศในด้านสุขภาพองค์รวมและวิถีแห่งการชะลอวัย เนื่องด้วยประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อีกทั้งการปรับและการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมที่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างพลิกผัน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมทางด้านสุขภาพ ด้านเครื่องสำอางและการชะลอวัยก็จัดเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีมูลค่าทางการตลาดสูงและมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก และนับได้ว่าเป็นส่วนสำคัญหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยปัจจัยที่ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจสุขภาพและความงามมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ จำนวนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสนับสนุนของภาครัฐในการสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมด้านสุขภาพ เครื่องสำอางและการชะลอวัย
ดร.ณัฐวรพล กล่าวว่า แผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี มีเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ของประชากรไทยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อก้าวสู่การเป็นประเทศรายได้สูงภายในปี พ.ศ. 2579 อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ประเทศไทยผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (New S-Curve) ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย ดังนั้น คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทร.พระนคร จึงได้จัดทำหลักสูตรใหม่ ทางด้านสุขภาพ เครื่องสำอาง การชะลอวัยเพื่อรองรับศาสตร์แห่งสุขภาพและสังคมผู้สูงอายุ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) สาขาวิชาเทคโนโลยีสุขภาพ เครื่องสำอางและการชะลอวัย (หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2566) จัดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี 3 ปีครึ่ง ตามมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ โดยเปิดรับนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษา ปีที่ 6 หรือเทียบเท่า หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)
ด้าน ดร.จิระศักดิ์ ธาระจักร คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ภายในหลักสูตรผู้เรียนจะได้ศึกษาเกี่ยวกับศาสตร์แห่งการชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ ด้านกัญชาศาสตร์ วัตถุดิบและสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ การพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพ เครื่องสำอางและการชะลอวัย เทคโนโลยี นวัตกรรมการผลิตและการควบคุมคุณภาพ ตลอดจนการฝึกปฏิบัติให้นักศึกษาเป็นผู้ประกอบการเริ่มต้น และยังเปิดรับผู้ที่ต้องการเข้ามาเพิ่มพูนความรู้ Upskills/Reskills ภายใต้ความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมอีกด้วย โดยอาชีพที่นักศึกษาสามารถนำไปประกอบอาชีพหลังจบการศึกษาได้ อาทิ นักวิจัยและพัฒนาทางเทคโนโลยีสุขภาพ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและการชะลอวัย นักวิทยาศาสตร์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ผ่ายผลิตและควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์สุขภาพ ผู้ให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีสุขภาพ การพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพ ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สุขภาพ ผู้ผลิตและแปรรูปสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและสมุนไพร หรือผู้จำหน่าย ผู้นำเข้า ผู้ส่งออกสินค้าและวัตถุดิบสำหรับผลิตภัณฑ์สุขภาพ
“เรามุ่งมั่นผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติมืออาชีพที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสุขภาพ เครื่องสำอางและการชะลอวัยในระดับสากลบนพื้นฐานการบูรณาการข้ามศาสตร์ นวัตกรรมสร้างสรรค์ นักปฏิบัติเชี่ยวชาญ ผู้ประกอบการเริ่มต้น ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สาขาวิชาเทคโนโลยีสุขภาพ เครื่องสำอางและการชะลอวัย โทรศัพท์ 02 836 3000 ต่อ 4156, 4159 ผศ.ดร.วรวิทย์ จันทร์สุวรรณ 084 667 3969
ผศ.ดร.สิริรัตน์ พานิช 092 623 9865 หรือ Facebook: https://www.facebook.com/hcatscirmutp และเว็บไซต์ https://hcat.sci.rmutp.ac.th” ดร.จิระศักดิ์ กล่าว