มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทูลเกล้า ฯ ถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และชุมชน คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ แด่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี

พิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2564 (สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการประชุมครั้งที่ 6/2565 วันที่ 27 มิถุนายน 2565 มีมติเป็นเอกฉันท์ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ประกาศสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรื่อง ทูลเกล้า ฯ ถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ประกาศ ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2565 )

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเป็นพระโสทรกนิษฐภคินีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระบรมวงศ์พระองค์แรกที่ได้รับสถาปนาพระอิสริยยศที่ “สยามบรมราชกุมารี” ปัจจุบันทรงดำรงตำแหน่งนายกสภาสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา และสถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย ทั้งยังทรงเป็นประธานกรรมการมูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

พระองค์มีพระปรีชาสามารถในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านการศึกษา และการพัฒนาสังคม ทรงมีโครงการในพระราชดำริส่วนพระองค์หลายหลากโครงการ ซึ่งโครงการในระยะเริ่มต้นนั้น มุ่งเน้นทางด้านการแก้ปัญหาการขาดสารอาหารของเด็กในท้องถิ่นทุรกันดาร และพัฒนามาสู่การให้ความสำคัญทางด้านการศึกษาเพื่อการพัฒนาราษฎร

ด้วยทรงตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และชุมชนของประเทศไทย ทั้งการศึกษาในระบบโรงเรียน การศึกษานอกระบบโรงเรียนและการศึกษาตามอัธยาศัย โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลที่ขาดแคลนบุคลากรทางการศึกษา

เมื่อพระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษาแล้ว ทรงเข้ารับราชการเป็นพระอาจารย์ประจำกองวิชากฎหมายและสังคมศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของพลตรียุทธศักดิ์ คล่องตรวจโรค ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าในขณะนั้น ทรงสอนวิชาประวัติศาสตร์ไทยและสังคมวิทยา พระองค์จึงทรงเป็น "ทูลกระหม่อมอาจารย์" สำหรับนักเรียนนายร้อยตั้งแต่นั้น ต่อมา เมื่อมีการตั้งกองวิชาประวัติศาสตร์ขึ้นในปี พ.ศ. 2530 พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการกองวิชาประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน และทรงได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์ ส่วนการศึกษา ประจำโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2529 และเป็นศาสตราจารย์ ส่วนการศึกษา ประจำโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (อัตราจอมพล) เมื่อปี พ.ศ. 2543 นอกจากนี้ พระองค์ยังได้ทรงรับเชิญเป็นพระอาจารย์สอนในสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒนั้น พระองค์ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์พิเศษ สาขาพัฒนศึกษาศาสตร์ด้วย

ในปี พ.ศ. 2525 ทรงพระราชดำริให้ก่อตั้งโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ขึ้นในพระบรมมหาราชวัง เพื่อเปิดโอกาสทางการศึกษาให้กับบุตรหลานข้าราชบริพารและประชาชนทั่วไป เปิดทำการสอนครั้งแรกในปีการศึกษา 2525 โดยทรงดำรงตำแหน่งเป็นองค์ประธานกรรมการคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ และทรงเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานทุกครั้ง รวมถึงเสด็จพระราชดำเนินไปในงานปิดภาคเรียนของโรงเรียนทุกครั้ง เพื่อพระราชทานทุนพระราชทานส่งเสริมการเรียนดี และพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานจากสถานศึกษาต่าง ๆ คือ โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ วิทยาลัยในวังชาย วิทยาลัยในวังหญิง โรงเรียนผู้ใหญ่พระดาบส ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจนาภิเษก (วิทยาลัยในวัง) กาญจนาภิเษกวิทยาลัย (ช่างทองหลวง)

ในปี พ.ศ. 2533 เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จฯ เยือนประเทศลาวครั้งแรกระหว่างวันที่ 15 - 22 มีนาคม ได้มีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทุนทรัพย์โดยเสด็จพระราชกุศลเป็นเงิน 12 ล้านกีบ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำเงินไปก่อสร้างเรือนนอนให้แก่โรงเรียนวัฒนธรรมเด็กกำพร้า (หลัก 67) ซึ่งอยู่ห่างจากนครหลวงเวียงจันทน์ไปทางทิศเหนือประมาณ 67 กิโลเมตร พระราชทานชื่อว่า “อาคารสิรินธร” โดยมีพระราชดำริที่จะช่วยเหลือนักเรียนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในรูปแบบของโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน โดยนำแนวทางที่ดำเนินการในประเทศไทยมาประยุกต์ใช้ และสนับสนุนการประกอบอาชีพเสริม

พ.ศ. 2535 ทรงพระราชดำริพระราชทานความช่วยเหลือกัมพูชาในการก่อตั้งวิทยาลัยกำปงเฌอเตียล ณ จังหวัดกำปงธม ประเทศกัมพูชา โดยพระราชทานเงินค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอาคารสถานที่ต่าง ๆ เสด็จฯ ไปทรงเปิดวิทยาลัยเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนแก่นักเรียนเพื่อให้มาศึกษาต่อในประเทศไทยในหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิตและหลักสูตรอาชีวศึกษา เพื่อนำความรู้กลับไปสอนและพัฒนาการจัดการศึกษาของวิทยาลัย รวมทั้งทรงสนับสนุนการศึกษาด้านนาฏศิลป์และดนตรี

ในปี พ.ศ. 2549 พระองค์ทรงมีแนวความคิดจัดตั้งโครงการพัฒนานักอักษรศาสตร์รุ่นใหม่ขึ้น โดยความร่วมมือของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาและคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสร้างนักอักษรศาสตร์ที่มีมุมมองและแนวคิดใหม่เพื่อเป็นกำลังของชาติ ด้วยทรงตระหนักว่าปัจจุบันประเทศไทยขาดแคลนนักวิจัยพัฒนาและนักประดิษฐ์คิดค้นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงได้มีการส่งเสริมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในโรงเรียน มีพระวิสัยทัศน์ก้าวไกล ทรงสนับสนุนการช่วยเหลือ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ให้เป็นโรงเรียนผลิตนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ สร้างองค์ความรู้ ให้แก่ประเทศไทย ซึ่งเป็นโรงเรียนที่เปิดสอนเฉพาะสายวิทยาศาสตร์เท่านั้น จึงได้นำโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์มาจัดตั้งเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ เพื่อเป็นต้นแบบแก่โรงเรียนในลักษณะดังกล่าว ให้โรงเรียนมีวัตถุประสงค์เพื่อบริหารจัดการ และดำเนินการจัดการเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษาที่มุ่งเน้นความเป็นเลิศด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กที่มีศักยภาพสูงทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ดำเนินการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นความเข้มข้นของการเรียนการสอนทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์สำหรับนักเรียนที่มีศักยภาพสูงทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ จัดทำหลักสูตรวิธีการเรียนการสอน สื่อและอุปกรณ์การเรียนการสอนสำหรับใช้ในโรงเรียน ดำเนินการและส่งเสริมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนามาตรฐานการศึกษาของโรงเรียน และให้บริการพิเศษทางด้านการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์

นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงให้ความสำคัญกับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลที่ขาดแคลนทั้งบุคลากรทางการศึกษา อุปกรณ์การเรียน และทรัพยากรอื่น ๆ จึงได้ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์และพัฒนาโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน สืบต่อพระปณิธาน ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทั้งนี้ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเมื่อกว่า 50 ปีมาแล้ว ที่หมู่ลาดตระเวนชายแดนและตำรวจพลร่มเข้าไปในหมู่บ้านชาวเขา และได้พบเห็นว่าไม่มีใครพูดไทยได้ และแม้ว่าจะมีเด็กวัยเรียนจำนวนมาก แต่ก็ไม่มีใครไปจัดตั้งโรงเรียนในหมู่บ้านเหล่านั้น หากปล่อยทิ้งไว้อาจส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศได้ ดังนั้น ตำรวจตระเวนชายแดนจึงได้ริเริ่มจัดตั้ง โรงเรียนชาวเขาและประชาชนไกลคมนาคม ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2499 เพื่อสอนให้เด็กชาวเขา และประชาชนในถิ่นทุรกันดาร ได้เรียนรู้ภาษาและขนบธรรมเนียมประเพณีของไทย เป็นสื่อกลางในการสร้างความคุ้นเคยและไว้วางใจให้เกิดขึ้นระหว่างชาวบ้านและตำรวจตระเวนชายแดน อันเป็นแนวทางของการพัฒนาที่ถาวรและนำไปสู่การพัฒนาในด้านอื่นๆ ต่อไป

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จึงได้พระราชทานพระราชทรัพย์สร้างโรงเรียน มีอาคารเรียนถาวร สื่ออุปกรณ์การเรียนต่าง ๆ อีกทั้งโรงเรียน ตชด. มีความเจริญก้าวหน้า ขยายออกไปในอีกหลายพื้นที่ โรงเรียน ตชด. เป็นโรงเรียนในสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีที่ตั้งกระจายอยู่ตามแนวชายแดน พื้นที่ทุรกันดาร ห่างไกลการคมนาคมทั่วทุกภาคของประเทศ ปรัชญาของโรงเรียนคือ “สร้างภูมิปัญญา พัฒนาคุณภาพชีวิต สัมฤทธิ์ผลความมั่นคง” จากเริ่มต้นมีโรงเรียนทั้งสิ้น 713 โรง แต่บางส่วนถูกยุบเลิกไปเนื่องจากประชาชนย้ายถิ่นฐาน และบางส่วนมอบโอนให้กระทรวงศึกษาธิการเนื่องจากพื้นที่มีความเจริญเข้าถึง ในปัจจุบัน มีโรงเรียนในสังกัดตำรวจตระเวนชายแดน 164 โรง แบ่งเป็นระดับอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 161 โรง และระดับมัธยมศึกษา 2 โรง ซึ่งเปิดสอนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลายสายอาชีพ และสายสามัญ นักเรียนส่วนใหญ่มาจากครอบครัวเกษตรกร มีหลากหลายเชื้อชาติ อาทิ ไทยพุทธ ไทยมุสลิม ไทยใหญ่ ไทยภูเขาเช่น กระเหรี่ยง ลัวะ ม้ง มูเซอ จีนฮ่อ อีก้อ เป็นต้น ครูของโรงเรียน ตชด. เป็นตำรวจตระเวนชายแดน ไม่ได้มีความรู้วิชาครูมาก่อน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเพิ่มพูนความรู้และทักษะทางการสอนให้แก่ครู ตชด. ทั้งการศึกษาระยะยาวเพื่อเพิ่มคุณวุฒิทางการศึกษา และการฝึกอบรมระยะสั้นด้านเทคนิควิธีการจัดการเรียนการสอนในสาขาวิชาต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

โรงเรียน ตชด. กับงานพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 เป็นต้นมา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน 

รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานโครงการตามพระราชดำริให้กับโรงเรียน ตชด. เพื่อดำเนินการพัฒนาให้เด็กและชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น การดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริจะมีครู ตชด. เป็นแกนนำในการถ่ายทอดความรู้ โดยให้ประชาชนในชุมชนมาร่วมในทุก ๆ กิจกรรมของโรงเรียน ตชด. ทำให้เด็กนักเรียนได้รับการพัฒนาไปพร้อมๆ กับการถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชน เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป

โครงการตามพระราชดำริ อาทิ

– โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน

– โครงการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีน

– โครงการส่งเสริมโภชนาการและสุขภาพอนามัยแม่และเด็กในถิ่นทุรกันดาร

– โครงการส่งเสริมคุณภาพการศึกษา

– โครงการฝึกอาชีพ

– โครงการส่งเสริมสหกรณ์

– โครงการนักเรียนในพระราชานุเคราะห์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

– โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ผลของการปฏิบัติงานของครู ตชด. รวมทั้งหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนโครงการตามพระราชดำริ ได้ส่งผลให้เด็กและเยาวชนในท้องถิ่นทุรกันดารจำนวนหลายหมื่นคนได้รับการศึกษา หลายคนได้เรียนต่อจนจบมหาวิทยาลัย และอีกหลายคนมีอาชีพ สามารถหารายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัว ชุมชนที่อยู่ในเขตบริการการศึกษาของโรงเรียน ตชด. ซึ่งมีมากกว่า 500 แห่งก็ได้รับการพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน ทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น แม้ว่าเด็กและชุมชนในถิ่นทุรกันดารส่วนใหญ่จะได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนก้าวหน้าไปมาก แต่ยังมีพื้นที่ชายแดนห่างไกลการคมนาคม ที่มีประชาชนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยยังรอโอกาสที่จะได้รับความเสมอภาคทางการศึกษา และยังไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปจัดการศึกษาได้ ตำรวจตระเวนชายแดนจึงยังต้องทำหน้าที่จัดการศึกษาให้กับประชาชนเหล่านั้น ด้วยทุนพระราชทานจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี และผู้มีจิตศรัทธาที่ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย ทำให้ตำรวจตระเวนชายแดนสามารถสร้างสถานศึกษา จัดหาวัสดุอุปกรณ์การศึกษา และจ้างคนในท้องถิ่นมาเป็นผู้ช่วยจัดการศึกษาให้แก่เด็กในพื้นที่ห่างไกลได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในแต่ละปี

ทั้งนี้ คณาจารย์ของภาควิชาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และชุมชนได้มีโอกาสในการศึกษาวิจัยถอดบทเรียนรูปแบบการจัดการศึกษาและการพัฒนาครูตามแนวพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี บทเรียนจากกรณีศึกษาโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านต้นมะม่วง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อนำเสนอตัวอย่างรูปแบบการจัดการศึกษาและการพัฒนาครูตามแนวพระราชดำริโดยสะท้อนจากประสบการณ์ของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านต้นมะม่วงจังหวัดกาญจนบุรีพบว่าวิธีปฏิบัติของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านต้นมะม่วงในด้านการจัดการศึกษาและการพัฒนาครูตามแนวพระราชดำริที่สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียนและบริบทของการปฏิรูปการศึกษา สรุปเป็นกลยุทธ์ได้ 7 ประการ ได้แก่ 1) ปรับให้มีสมดุลระหว่างวิชาการและการปฏิบัติ 2) สร้างกลไกบ่มเพาะลักษณะนิสัยที่พึงประสงค์ให้กับนักเรียน 3) หนุนเสริมและต่อยอดครู 4) สร้างเสริมชุมชนสัมพันธ์เพื่อร่วมคิดร่วมทำและร่วมแบ่งปัน 5) ร่วมเรียนรู้กับเครือข่ายโรงเรียนในท้องถิ่น 6) แสวงหาการสนับสนุนจากภายนอกอย่างต่อเนื่อง 

และ 7) พร้อมรับการติดตามและประเมินผล จากงานวิจัยดังกล่าวสามารถสังเคราะห์รูปแบบการจัดการศึกษา และพัฒนาครูจากประสบการณ์โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านต้นมะม่วงซึ่งเป็นตัวอย่างเชิงประจักษ์ของหลักการและแนวคิดตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี ในเรื่อง “การศึกษาเป็นวิถีในการเสริมพลังให้กับเด็กและเยาวชนผู้ด้อยโอกาส”

นอกจากที่กล่าวข้างต้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี ยังทรงเชื่อมร้อยงานส่วนพระองค์เพื่องานด้านการพัฒนาสังคม โดยทรงสนพระทัยงานด้านการพัฒนา ซึ่งถือเป็นงานหลักที่พระองค์ทรงงานควบคู่กับงานวิชาการ พระองค์ทรงเรียนรู้งานทางด้านพัฒนาจากการตามเสด็จพระราชดำเนินพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ไปทรงเยี่ยมประชาชนในถิ่นทุรกันดารต่าง ๆ ทั่วประเทศ 

จากการที่พระองค์ทรงได้เสด็จฯ ไปตามสถานที่ต่าง ๆ มากมาย พระองค์ทรงนำความรู้ที่ได้จากการลงพื้นที่จริงมาใช้ในงานด้านการพัฒนาสังคม นำไปสู่โครงการตามพระราชดำริส่วนพระองค์มากมาย โดยโครงการตามพระราชดำริในระยะเริ่มแรกนั้น พระองค์ทรงงานเกี่ยวกับเด็กนักเรียนในพื้นที่ทุรกันดารที่มีปัญหาขาดสารอาหาร ดังนั้น จึงทรงพระราชดำริส่งเสริมให้นักเรียนปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ แล้วนำมาประกอบเป็นอาหารกลางวันรับประทาน โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันนี้ เริ่มต้นขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2523 โดยเริ่มที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในจังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์ และได้ขยายออกไปยัง 44 จังหวัดในพื้นที่ทุรกันดาร โครงการในพระราชดำริในระยะต่อมา พระองค์ทรงมุ่งเน้นทางด้านการศึกษามากขึ้น เนื่องจากพระองค์ทรงพระราชดำริว่า การศึกษาเป็นปัจจัยหลักในการสร้างและพัฒนาความรู้ ความคิด ตลอดจนความประพฤติและคุณงามความดีของบุคคล โดยพระองค์ทรงตั้งพระทัยให้ประชาชนทุกระดับชั้นสามารถได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนควรได้รับจากรัฐ

ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นต่อพสกนิกรชาวไทย ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และชุมชน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงขอพระราชทานพระราชาอนุญาต ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และชุมชน แด่พระองค์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติคุณให้ปรากฏ และเป็นสิริมงคลอันสูงสุดแก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ต่อไป