สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (สกมช.) จัดการอบรม “หลักสูตรเร่งรัดเพื่อแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562” เพื่อสร้างเครือข่ายผู้ประสานงาน ในการจัดการกับเหตุการณ์ภัยคุกคามทางไซเบอร์ โดยการพิจารณาผู้มีความรู้ความชำนาญด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์มาอบรม และคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ การอบรมดังกล่าว จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 – 21 และ 27 ก.ย.65 ในรูปแบบออนไลน์ และวันที่ 28 ก.ย.65 ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ 6โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ โดยได้รับเกียรติจากพลเอก ดร.ปรัชญา เฉลิมวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติเป็นประธานในพิธีปิดการอบรมและมอบเสื้อให้แก่ผู้เข้าร่วมการอบรม พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร สกมช.
พลเอก ดร.ปรัชญา เฉลิมวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ กล่าวว่า ตามประกาศคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เรื่อง กำหนดระดับความรู้ความชำนาญด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เพื่อแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ พ.ศ 2565 ประกาศ ณ วันที่ 19 พ.ย
. 2564 ผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 จะต้องผ่านการอบรมฯหลักสูตรต่าง ๆ แล้วแต่กรณี นั้น จึงทำให้เกิดการจัดโครงการอบรมหลักสูตรเร่งรัดเพื่อแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 หลักสูตรเร่งรัด (Intensive Courses) ระยะเวลารวม 5 วัน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดอบรมให้กับบุคคลซึ่งจะได้รับการแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ในกรณีพิเศษ ซึ่งได้รับการยกเว้นตามหลักเกณฑ์ในการกำหนดคุณสมบัติเป็นพนักงานทั่วไป ให้สามารถบริหารจัดการภัยคุกคามไซเบอร์เบื้องต้นได้
ซึ่งการอบรมในครั้งนี้ มีผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมอบรมจำนวน 81 คน จากหน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแล หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ ศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์สำหรับหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเนื้อหาในการอบรมประกอบด้วย ด้านการสืบสวนสอบสวน ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ (Information Security) ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber Security) ด้านการบริหารจัดการเหตุภัยคุกคามทางไซเบอร์ (Incident Handling) ด้านการพิสูจน์หลักฐานทางดิจิทัล (Digital Forensics) รวมไปถึงเรื่องจริยธรรมต่าง ๆ ที่พึงมี ทั้งนี้ผู้ที่ผ่านการพิจารณา จะต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติตามกฎหมาย และมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการสนับสนุน ช่วยเหลือแก่หน่วยงานที่มีความสำคัญต่าง ๆ เมื่อเกิดเหตุภัยคุกคามทางไซเบอร์ขึ้น อันจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถ ในการป้องกันระบบโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศของประเทศต่อไป