เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2565 พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี และประธานกรรมการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ให้เกียรติเป็นประธานตรวจเยี่ยมการดำเนินงานโครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพง มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ในพื้นที่ จ.เพชรบุรี โดยมี นายอภัยชนม์ วัชรสินธุ์ กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท นายจอมกิตติ ศิริกุล กรรมการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท นายสมคิด วรรณลุกขี รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกลุ่มธุรกิจในเครือเจริญโภคภัณฑ์ และผู้บริหารส่วนราชการในพื้นที่ให้การต้อนรับ
นอกจากนั้น ท่านองคมนตรีฯ ได้เป็นประธานการส่งมอบโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ ในโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน โรงเรียนบ้านหุบกะพง พร้อมทั้งรับฟังการบรรยายการบริหารจัดการและการดูแลโครงการฯ โดยครูและนักเรียน เข้าเยี่ยมชมกระบวนการผลิตป่านศรนารายณ์ ตั้งเเต่ต้นน้ำ กลางน้ำ เเละปลายน้ำ ของกลุ่มสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์) อีกทั้งยังร่วมกับมูลนิธิฯ กลุ่มธุรกิจเครือซีพี หน่วยงานภาครัฐ ชุมชน และซีพีอาสา ปลูกต้นป่านศรนารายณ์ ในพื้นที่ 5 ไร่ จำนวน 20,000 ต้น
นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และผู้ช่วยบริหารสำนักประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ในฐานะกรรมการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เปิดเผยว่า สหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์) ในโครงการ "ตามพระราชประสงค์หุบกะพง" จัดตั้งเป็นสหกรณ์ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2514 ซึ่งได้รับพระราชทานใบทะเบียนสหกรณ์จาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และยังทรงพระราชทานคำแนะนำให้มีการนำ "ป่านศรนารายณ์" มาใช้ประโยชน์ด้านการจักสาน เพื่อเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน สามารถสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน โดยปัจจุบัน สหกรณ์มีจำนวนสมาชิกประมาณ 654 คน ประกอบธุรกิจ 4 ด้าน คือ ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย ธุรกิจสินเชื่อ ธุรกิจการให้บริการน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค ธุรกิจรวบรวมผลิตภัณฑ์จักสานป่านศรนารายณ์จากสมาชิกในราคายุติธรรม ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยต่อปีรวมประมาณ 3 ล้านบาท
มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ได้ให้การสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรขยายธุรกิจป่านศรนารายณ์ เพื่อพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำ - ปลายน้ำ ตั้งแต่การปลูกทดแทนแปลงป่านศรนารายณ์ การบริหารจัดการแปลงปลูกเพื่อรักษาระดับผลผลิตเส้นใยป่านศรนารายณ์ที่นำมาจักสานได้คงที่ให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้น พร้อมสนับสนุนงานวิชาการเพิ่มศักยภาพสมาชิกสหกรณ์ และพัฒนาผลิตภัณฑ์งานหัตถกรรมจากเส้นใยป่านศรนารายณ์ให้คงมาตรฐานสินค้าโอทอป (OTOP) รวมไปถึงช่องทางการจัดจำหน่าย เพื่อต่อยอดและยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ให้มีรายได้และความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน