ขลู่เป็นพืชไม้ทรงพุ่ม นับเป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นทางภาคตะวันออกหรือพื้นที่ติดกับชายทะเลที่มีบริเวณที่น้ำเค็มท่วมถึง  ใบขลู่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ด้วยภูมิปัญญาของชาวบ้านในทางอายุรเวช เพื่อลดการอักเสบมาอย่างช้านานในแถบเอเชีย เช่น อินเดีย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยเฉพาะเพื่อบรรเทาอาการปวดของแผลพุพอง ลดการอักเสบ  โดยพบสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่สำคัญคือ กลุ่มฟีนอลิก (phenolic) และฟลาโวนอยด์ (flavonoid) นอกจากนี้ยังมีกรดคลอโรจีนิก (chlorogenic acid) เคอร์ซิติน (quercetin) ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบ  ซึ่งปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์หลายชนิดที่พัฒนาจากสารสกัดจากใบขลู่ที่ใช้สำหรับการรักษาการอักเสบแผลสดจำพวกโลชั่น ครีม เป็นต้น จากข้อมูลทางพฤกษเคมีและสรรพคุณที่เป็นประโยชน์ข้างต้น คณะผู้วิจัยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) พระนคร โดยมี ผศ.ดร.วรวิทย์ จันทร์สุวรรณ  ผศ.ดร.สิริรัตน์ พานิช และ อ.อัญชนา ขัตติยะวงศ์  ทำการศึกษาผลทางพฤกษเคมีของฤทธิ์การต้านการอักเสบที่ได้จากสารสกัดจากขลู่  เพื่อนำประโยชน์ของสารสกัดมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เวชสำอาง ประเภทโฟมล้างหน้าที่มีคุณสมบัติลดการอักเสบของผิวหนังและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์  โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 

ผศ.ดร.วรวิทย์  หัวหน้าโครงการวิจัยกล่าวว่า ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เวชสำอางที่ผลิตมามีฤทธิ์และข้อบ่งใช้ในการต้านการอักเสบอยู่จำนวนมาก ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีตัวยาที่นำมาใช้ต่างชนิดกัน แต่อีกแนวทางหนึ่งที่ได้รับความสนใจไม่น้อย คือ การนำศาสตร์แห่งภูมิปัญญาทางด้านสมุนไพรจากสารที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบจากธรรมชาติ โดยเฉพาะองค์ความรู้ตำรับยาอายุรเวชจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่นำพืชที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบมาศึกษาเพื่อนำมาใช้รักษาโรค  โดยเฉพาะใบขลู่ เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นการซ่อมแซมแผล และลดการอักเสบได้ ทั้งนี้โรคผิวหนังอักเสบ (Dermatitis) เป็นภาวะอักเสบของผิวหนังที่เกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุและหลายรูปแบบ โดยภาวะผิวหนังอักเสบที่พบบ่อย ได้แก่ โรคผื่นภูมิผิวหนัง โรคเซบเดิร์ม และผื่นระคายสัมผัส  ซึ่งจากการศึกษาพบว่าสารสกัดใบขลู่ ในเมทานอลมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระสูง และยังมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรียที่มีระดับความเข้มข้น 

ด้าน ผศ.ดร.สิริรัตน์ กล่าวถึงขั้นตอนการวิจัยในการสกัดน้ำมันหอมระเหย ว่าเริ่มจาก การเก็บใบขลู่ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม โดยนำเฉพาะใบ มาล้างด้วยน้ำสะอาด จากนั้นผึ่งให้แห้งก่อนนำมาสกัดด้วยกระบวนการกลั่นด้วยระบบไอน้ำด้วยเครื่องอะลิมบิก (Alimbic) และทำการเก็บสารละลายที่ได้จากการควบแน่นทุก ๆ 10 นาที จากนั้นวิเคราะห์ปริมาณสารประกอบฟีนอลิกทั้งหมดในน้ำสกัดน้ำมันหอมระเหย หรือที่เรียกว่า ไฮโดรโซล (Hydrosol) ในเวลาที่แตกต่างกัน  ซึ่งจากการศึกษาพบว่าสารสกัดจากใบขลู่มีกลิ่นหอม น้ำสกัดน้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระสูงสุด ที่ค่า 0.06±0.003 โดยเปรียบเทียบกับสารมาตรฐานกรดแอสคอร์บิก  (Ascorbic Acid) eq/g sample  นอกจากนี้ในการทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์ผิวหนังมนุษย์ชนิดเคราติโนไซต์  (HaCaT) ที่ระดับความเข้มข้น 8 ระดับ นาน 24 ชั่วโมง  โดยวิธี WST-1 assay  พบว่า ผลิตภัณฑ์โฟมล้างหน้าจากสารสกัดใบขลู่ไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษ และตรวจไม่พบการเปลี่ยนแปลงทางสัณฐานวิทยาต่อเซลล์ผิวหนังมนุษย์ในหลอดทดลอง และสุดท้ายทำการทดสอบการยอมรับทางประสาทสัมผัสต่อสูตรผลิตภัณฑ์ประเภทโฟมล้างหน้า โดยผู้ทดสอบ 30 คน พบว่า คุณลักษณะของผลิตภัณฑ์โฟมล้างหน้าใช้เกณฑ์การประเมินการยอมรับและความชอบโดยรวม เป็นที่พึงพอใจระดับปานกลาง ทั้งประสิทธิภาพการทำความสะอาด สี กลิ่น ฟอง ความชุ่มชื้นหลังล้างหน้า  โดยผลิตภัณฑ์ที่ใช้น้ำสกัดน้ำมันหอมระเหยจากใบขลู่เป็นส่วนสำคัญในการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สามารถลดการอักเสบของผิวหนัง โดยไม่ทำให้เกิดการระคายเคือง เนื่องจากไม่มีส่วนประกอบของน้ำมันแต่อย่างใด  

“นับได้ว่าการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านเวชสำอางเป็นการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของเครื่องสำอางสมุนไพรพื้นบ้านของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี โดยปัจจุบันได้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์โฟมล้างหน้า ภายใต้ลิขสิทธิ์ของบริษัทกีรติ จำกัด  โดยงานวิจัยดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างในการพัฒนางานวิจัยทางด้านส่งเสริมสุขภาพและการชะลอวัย ซึ่งจะสอดรับกับสาขาวิชาใหม่ของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้ชื่อสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ เครื่องสำอางและชะลอวัย   ซึ่งคาดว่าจะเปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่ในปีการศึกษา 2566 ที่จะถึงนี้  สำหรับผู้สนใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ ผศ.ดร.วรวิทย์  084 667 3969  และ ผศ.ดร.สิริรัตน์ 092 623 9865  หรือที่  https://www.facebook.com/hcatscirmutp”ผศ.ดร.สิริรัตน์ กล่าว