"ทนายเชาว์" จวก ตร.ล็อกล้อ แม้เป็นอำนาจตามกฎหมายจราจร แต่ไม่ควรล็อกล้อ ขณะมีผู้ขับรถอยู่บนรถ เสนอ ตัดอำนาจตร.ในการล็อกล้อรถ ปชช. เหตุ จำกัดสิทธิในการเดินทาง ขัด รธน. มาตรา 38 เตรียม ยื่นศาล รธน.วินิจฉัย
วันที่ 11 ก.ย.65 นายเชาว์ มีขวด ทนายความอาสา อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ Facebook Chao Meekhuad เรื่อง จอดรถผิดที่ ถูกล็อกล้อกล้อ กฎหมายจราจรที่ควรแก้ไข มีเนื้อหาระบุว่า การโต้เถียงกันระหว่างผู้ขับรถยนต์รายหนึ่งกับตำรวจจราจรที่ใช้เครื่องมือไปล็อกล้อรถยนต์ของเขาที่จอดในที่ห้ามจอดทั้ง ๆ ที่ตัวเขายังนั่งอยู่ในรถที่เป็นข่าวอยู่ในโซเชียล มีคำถามเกิดขึ้นตามมาว่า ระหว่างผู้ขับรถยนต์กับตำรวจที่เข้าไปล็อกล้อ ใครถูก ใครผิด ทำไมไม่แจ้งเจ้าของรถให้เคลื่อนรถออกจากจุดดังกล่าว แทนที่จะทำการล็อกล้อ ทั้งที่มีผู้ขับรถที่สามารถเคลื่อนที่รถยนต์ออกจากที่ห้ามจอดได้ ตนไม่ปฏิเสธว่าเจ้าหน้าที่จราจรคนนั้น ทำตาม พรบ.จราจรทางบก 2522 มาตรา 59 ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่จราจรในการดำเนินการ กับผู้ที่จอดรถฝ่าฝืนตาม มาตารา 57 โดยเจ้าหน้าที่จราจรมีอำนาจสั่งให้คนขับเคลื่อนย้ายรถ หรือยกรถเคลื่อนย้ายเอ งหรือจะใช้เครื่องมือล็อกล้อก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม และการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่จราจรผู้พบการกระทำผิด เมื่อรถถูกล็อกล้อก็ไม่สามารถขับเคลื่อนที่ได้ เจ้าของรถต้องไปชำระค่าปรับ รวมทั้งชำระค่าล็อกล้อแก่เจ้าหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดก่อน จึงจะสามารถให้เจ้าหน้าที่มาถอดเครื่องมือออกจึงจะขับขี่รถต่อไปได้
นายเชาว์ ระบุด้วยว่า มีประเด็นที่อยากชวนสังคมขบคิด คือ การที่กฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการใช้เครื่องมือล็อคล้อรถบังคับไม่ให้เคลื่อนที่ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ขับขี่ไม่สามารถที่จะเดินทางต่อไปได้ เหมาะสมหรือเป็นการละเมิดสิทธิการเดินทางของบุคคลหรือไม่ ส่วนตัวคิดว่าการบังคับใช้กฎหมายในลักษณะนี้เป็นเรื่องที่ประหลาดมาก เพราะการล็อกล้อสำเร็จ ถือเป็นการตัดสินความผิดบุคคล โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมทางศาล จึงเป็นกฎหมายที่ขัดกับกระบวนการยุติธรรม และยังเป็นโทษที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่ผู้ได้รับการลงโทษเกินควร นอกจากนี้ผมยังมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลในการเดินทาง ยังเป็นการขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 38 ด้วย เพราะไม่ใช่แค่หยุดการเดินทางของผู้กระทำความผิดเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีความเสียหายต่อเนื่องที่จะตามมาอีกมาก ทั้งที่มีวิธีการที่สามารถเลือกใช้โทษอย่างอื่นบังคับ ให้ผู้กระทำความผิดมีความเกรงกลัวต่อกฎหมายได้อีกหลายวิธี เช่นเพิ่มค่าปรับให้สูงขึ้น หรือ อาจจะมีโทษจำคุก ก็ไม่ได้เสียหายอะไร
“เราเพิ่งแก้กฎหมายจราจรที่แก้ไขใหม่ หรือ กฎหมาย พ.ร.บ.จราจรทางบก ฉบับที่ 13 เพิ่มอัตราโทษปรับ-จำคุก ในหลายข้อหา มีผลตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา แต่ก็ไม่มีประเด็นตามมุมมองของผม และเร็ว ๆ นี้ ครม.เพิ่งมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีจราจร พ.ศ. .... ตามที่ สำนักงานศาลยุติธรรมเสนอ ถือเป็นมิติใหม่ที่เราจะมีศาลจราจร ในการพิจารณา “คดีจราจร” ให้มีความเด็ดขาดมากยิ่งขึ้น ผมจึงเสนอขอแก้กฎหมายเกี่ยวกับการให้อำนาจจราจรล็อกล้อรถตามอำเภอใจเสียทีเถอะครับ และคู่ขนานไปกับข้อเรียกร้อง ผมจะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า พรบ.จราจรทางบก 2522 มาตรา 59 ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่จราจรในการดำเนินการกับผู้ขับขี่รถที่จอดฝ่าฝืนตาม มตารา 57 ขัดหรือแย้งกับกฎหมายรัฐธรรมนูญมตรา 38 หรือไม่ด้วย”