ที่สถานีกลางบางซื่อ กรุงเทพฯ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ผนึกกำลังภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและสถาบันการศึกษา ร่วมแสดงพลัง ตื่นรู้สู้โกง กระตุ้นบทบาทผู้นำทุกองค์กรร่วมต่อต้านคอร์รัปชัน ภายใต้แนวคิด “ผู้นำ…กับการปราบโกง” ในวัน “ต่อต้านคอร์รัปชัน” ประจำปี 2565
โดย นายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT กล่าวว่า องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ผนึกกำลังร่วมกับองค์กรสมาชิกกำหนดให้ทุกวันที่ 6 ก.ย.ของทุกปี เป็นวันต่อต้านคอร์รัปชัน โดยได้ร่วมกันจัดกิจกรรมต่อต้านคอร์รัปชันต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา แม้การขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชันจะดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง แต่ยิ่งพบว่าปัญหาเพิ่มความซับซ้อน มีการหาช่องว่าง ช่องโหว่ รวมทั้งนำเทคโนโลยีทันสมัยมาเอื้อต่อการคอร์รัปชันมากขึ้น รูปแบบการฮั้วประมูลประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ที่คนโกงยังหาช่องทุจริตได้ หรือการจัดซื้อจัดจ้างในท้องถิ่น ที่ยกข้ออ้างเรื่องนวัตกรรมมาเพิ่มราคากลางให้สูงขึ้น
“เราต้องรู้เท่าทันรูปแบบการโกงด้วยการนำเทคโนโลยีในยุคดิจิทัลมาใช้ผ่านเครื่องมือ ACT Ai เพื่อป้องกันการโกงได้อย่างแม่นยำ อาทิ กรณีเสาไฟกินรีโซลาร์เซลล์ในพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะ จังหวัดสมุทรปราการ เป็นกรณีศึกษาที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเมื่อใช้เครื่องมือตรวจสอบที่เข้าถึงข้อมูลภาครัฐอย่างรวดเร็ว จะช่วยยับยั้งความเสียหายจากการโกงได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ประชาชนสามารถเข้าถึงการใช้งานแพลตฟอร์ม ACT Ai ด้วยการสแกนคิวอาร์โค้ด (QR Code) ผ่านยันต์กันโกงทางเพจเฟสบุ๊กองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ซึ่งจะสามารถใช้งานเครื่องมือ ACT Ai ได้อย่างหลากหลาย”
นายวิเชียร ยังกล่าวย้ำถึงบทบาทของผู้นำว่า มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการปราบโกง เพราะผู้นำคือต้นแบบ หากได้ผู้นำที่มุ่งโกงกินจะก่อให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวง ดังนั้นประชาชนต้องสนับสนุนผู้นำที่โปร่งใสมุ่งประโยชน์ส่วนรวมและสนับสนุนการตรวจสอบจากภาคประชาชน รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนมีโอกาสใช้เครื่องมือที่ทันสมัยตรวจสอบการคอร์รัปชัน
ด้าน ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้ดูแลโปรเจกต์ ACT Ai ระบุถึงการนำระบบปัญญาประดิษฐ์(Ai) มาสนับสนุนการตรวจสอบการคอร์รัปชัน ว่า จากเดิมการตรวจสอบข้อมูลเอกสารราชการทำได้ยากและยังไม่ปลอดภัยต่อตัวผู้ตรวจสอบ ส่งผลให้ประชาชนหลายคนไม่กล้าแสดงบทบาทนี้ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ และพันธมิตรได้ออกแบบแพลตฟอร์ม ACT Ai เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้งานได้ง่ายและปลอดภัย เชื่อมโยงฐานข้อมูลภาครัฐ ที่ผ่านมาใช้ตรวจสอบการทุจริตเสาไฟกินรีด้วย ACT Ai โดยประชาชนและสื่อได้รับความสำเร็จมาแล้ว ทั้งนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเครื่องมือ ACT Ai จะได้รับการยอมรับจากประชาชนเพื่อใช้เป็นอาวุธในการปราบโกง เพราะถ้าหากเราไม่ร่วมมือช่วยกันปราบโกงแล้ว จะยิ่งทำให้ปีศาจคอร์รัปชันมีอิทธิฤทธิ์สูงขึ้น ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อประเทศเพิ่มขึ้นตามมา
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถเข้าใช้งาน ACT Ai ผ่านการกดเข้าใช้งานได้ที่ https://actai.co เพื่อเข้าถึงฐานข้อมูลในการตรวจสอบอย่างหลากหลาย ประกอบด้วย โครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ, ระบบจับโกงงบ COVID, โครงการ Build Better Lives by CoST, การตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินนักการเมือง, การตรวจสอบงบท้องถิ่น, กระดานวิเคราะห์ความเชื่อมโยงเครือข่ายการโกง (Corruption Analysis Dashboard), การตรวจสอบการใช้งบในโรงเรียนด้วย School Governance และยังรวมถึงแพลตฟอร์มที่ระดมไอเดียใหม่ๆ จากโครงการ ACTKathon เช่น แจ้งเบาะแสเหตุสงสัยทุจริตคอร์รัปชันผ่าน LINE OA : จับตาไม่ให้ใครโกง Corruption Watch (@corruptionwatch) และ Voice of Change เครื่องมือรับแจ้งเบาะแสการทุจริตสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นต้น
สำหรับกิจกรรมวันต่อต้านคอร์รัปชัน ประจำปี 2565 จัดขึ้นในแนวคิด “ผู้นำ...กับการปราบโกง” เป็นเวทีให้ผู้นำตั้งแต่ระดับท้องถิ่น จังหวัด และระดับชาติมีโอกาสมาร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การปราบโกงร่วมกัน ประกอบด้วย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง, รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. และผู้ว่าราชการจังหวัดหลายจังหวัด เข้าร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองด้วย