ผ้าทอไทยวน ถือเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาวไทยวนโยนกเชียงแสนที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ที่บ่งบอกถึงชาติพันธุ์และถิ่นกำเนิด โดยเฉพาะการทอผ้าจกที่เป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของกลุ่มชนเชื้อสายไทยวนโยนก ที่สืบต่อกันมาอย่างยาวนาน ในอดีตผู้หญิงชาวไทยวนมีความสามารถในการทอผ้า เมื่อมีการอพยพไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ใดก็จะนำภูมิปัญญาศิลปะการทอผ้าจกที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของชาวไทยวนเมืองเชียงแสนที่มีอยู่ในสายเลือดติดตัวมาด้วย ดังเช่นครอบครัวของ ครูประณีต วรวงสานนท์ ครูผู้สืบทอดภูมิปัญญาหัตถกรรมผ้าทอไทยวนมาจากรุ่นสู่รุ่นที่ได้รับการเชิดชูจาก สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit ให้เป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน ประจำปี 2560 ที่ยังคงสืบสานงานหัตถกรรมผ้าไทยวนให้คงอยู่ ไม่เลือนหายไปตามกาลเวลา
“มากกว่าความภาคภูมิใจที่ได้สืบสานมรดกในงานหัตถกรรมทอผ้าไทยวน คือ การได้รับเลือกเป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2560 จาก sacit เหมือนเป็นการต่อลมหายใจให้กับภูมิปัญญาผ้าไทยวน มีช่องทางในการส่งต่อยังรุ่นลูก รุ่นหลาน ได้มีโอกาสเผยแพร่องค์ความรู้ไปยังสาธารณะมากขึ้น สร้างความภาคภูมิใจให้กับช่างฝีมือและชาวบ้านในชุมชนอย่างยิ่ง”
ครูปราณีต วรวงสานนท์ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ประจำปี 2560 ด้านงานทอผ้าไทยวน จังหวัดนครราชสีมา เล่าให้ฟังว่า ภูมิปัญญาที่สะท้อนเอกลักษณ์ผ้าทอไทยวน คือ ผ้าซิ่นยวนโดยเป็นผ้าที่ใช้กรรมวิธีทอลายขวางลงไปในบริเวณส่วนกลางของผืนซิ่น (ตัวซิ่น) สามารถเปลี่ยนสีของผืนซิ่นได้ตามความต้องการของลูกค้า แต่ยังคงไว้ในส่วนหัวซิ่น กับช่วงท้ายซิ่นที่ยึดถือใช้สีเหมือนกันถือเป็นการอนุรักษ์รูปแบบการทอผ้าซิ่นยวนโบราณ นอกจากนี้ ยังมีผ้าทอที่ยากที่สุด ซึ่งได้มีการสืบทอดกันมาในครอบครัว และปัจจุบันหาคนที่ทอผ้าชนิดนี้ได้ยากนัก คือ “ผ้าห่มมุก” ซึ่งในสมัยโบราณนั้นมีการยกย่องกันว่าใครที่สามารถทอผ้าห่มเสื่อและผ้ามุกได้นั้นถือเป็นผู้มีความรอบรู้ในศาสตร์ผ้าทอไทยวนเนื่องจากรูปแบบของลายที่ใช้ทอประกอบลงไปในเนื้อผ้าทั้งสองชนิดนั้นเป็นรูปแบบลายที่ยาก ต้องนำผ้ามุกมาทอลายยกดอก 5 ตะกอ ควบคู่การจกที่ใช้ความชำนาญ ซึ่งผ้าชนิดนี้ถือได้ว่าเป็นผ้าชั้นสูงในอดีตมีใช้เฉพาะครอบครัวที่มีฐานะ ใช้สำหรับห่มเวลาไปทำบุญ เที่ยวงานวัด หรือใช้ห่มในงานพิธีต่าง ๆ และสาเหตุที่ครูสามารถทอผ้าห่มมุกได้อย่างคล่องแคล่ว เนื่องจาก ได้รับการฝึกฝนจากรุ่นคุณแม่ตั้งแต่วัยเด็ก โดยผ้าไทยวนชิ้นแรกที่แม่สอนให้ทอ คือ ผ้าห่มมุก จึงนับว่า ได้มีโอกาสเรียนรู้งานระดับที่ยากที่สุดก่อนจะมาสู่การทอเป็นผ้าซิ่นชนิดอื่น จึงทำให้การทอผ้าจกไทยวนสามารถทำได้อย่างคล่องแคล่ว และคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของงานหัตถกรรมไทยไว้ในทุกขั้นตอน
ดังจะเห็นได้ว่า ผ้าทอไทยวนถือเป็นงานหัตถกรรมไทยที่หายากและใกล้สูญหาย ดังนั้น นอกจาก sacit จะมุ่งสร้างส่งเสริม สร้างการรับรู้ให้ผ้าไทยวนสามารถเข้ามาตอบโจทย์ตลาดมากขึ้น ในส่วนตัวครูประณีตเองก็มุ่งมั่นในการทำหน้าที่ถ่ายทอดอัตลักษณ์ และภูมิปัญญาในงานหัตถกรรม จึงได้มีการถ่ายทอดความรู้ในการทอผ้าไทยวนให้แก่สมาชิกภายในกลุ่มทอผ้าบ้านโนนกุ่ม รวมทั้งยังมีการสอนให้กับโรงเรียนที่อยู่ภายในเขตอำเภอสีคิ้ว โดยเริ่มสอนเยาวชนในโรงเรียน ให้ได้มีการนำงานหัตถศิลป์ทอผ้าไทยวน ไปบรรจุลงในรายวิชาเพื่อให้เด็กได้ลองหัดทอผ้าไทยวนเพื่อสีบสานงานผ้าทอชาติพันธุ์ไม่ให้หายไป อีกทั้งยังได้ทำหน้าที่เป็นวิทยากรของสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานทัณฑสถานหญิง เพื่อฝึกสอนการทอผ้าไทยวนให้แก่ผู้ที่ต้องการประกอบอาชีพช่างทอผ้าด้วย ซึ่งถือเป็นการอนุรักษ์สืบสานงานผ้าทอไทยวนที่ใกล้สูญหายให้คงอยู่