มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ฯ จับมือ OTOP สระแก้ว - ปทุมธานี ยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน จัดแสดงสินค้า THE POWER OF LOCAL PRODUCTS : Fashion & Lifestyle Showcase
 
มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ดำเนินโครงการพัฒนางานบริการวิชาการสู่งานวิจัยและนวัตกรรมเชิงพื้นที่และเชิงประเด็น ภายใต้การดำเนินงานขับเคลือนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏ เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ตามพระบรมราโชบายของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร่วมกับ ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชน (OTOP) ของจังหวัดสระแก้ว และจังหวัดปทุมธานี ทำการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่น แผนธุรกิจ และการตลาดให้กับชุมชนทั้งหมด 14 ผลิตภัณฑ์  พร้อมจัดแสดงและนำเสนอสินค้า (Showcase) THE POWER OF LOCAL PRODUCTS : Fashion & Lifestyle Showcase โดยมีนายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน  เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย รศ.ดร. นฤมล ธนานันต์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทั้งนี้ยังได้ดีเจ ต้นหอม สกุลตลา มาร่วมไลฟ์สดขายสินค้าทาง Facebook Page : มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ และ VRU-Marketplace Fanpage อย่างสนุกสนาน ณ หอประชุมหอประชุมไลยอลงกรณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

 

รศ.ดร. นฤมล ธนานันต์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์  ร่วมกับ ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชน OTOP จังหวัดสระแก้ว และ จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นพื้นที่บริการของมหาวิทยาลัย จัดงานแสดงและแนะนำสินค้า (Showcase) THE POWER OF LOCAL PRODUCTS : Fashion & Lifestyle Showcase โดยมีสินค้าเข้าร่วมในงานครั้งนี้ จำนวน 14 ผลิตภัณฑ์ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์ประเภทอาหาร (Food) ผลิตภัณฑ์ประเภทของใช้และไลฟ์สไตล์ (Lifestyle) และ ผลิตภัณฑ์ประเภทเสื้อผ้า (Fashion)  ซึ่งการจัดงานดังกล่าว ดำเนินการภายใต้โครงการพัฒนางานบริการวิชาการสู่งานวิจัยและนวัตกรรมเชิงพื้นที่และเชิงประเด็น ซึ่งวัตถุประสงค์ของโครงการ 1)เพื่อนำองค์ความรู้เทคโนโลยีมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน 2) เพื่อยกระดับรายได้ของผู้ประกอบการในพื้นที่บริการของมหาวิทยาลัย 3) เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้จากการพัฒนาผู้ประกอบการด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์ถ่ายทอดสู่ชุมชนในการเพิ่มมูลค่าและแข่งขันทางการตลาดได้ พร้อมร่วมฟังปาฐกถา เรื่อง แนวโน้มและทิศทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่น และการส่งเสริมการตลาดเพื่อชุมชน VRU Marketplace โดย ผศ.ดร.สุพจน์ ทรายแก้ว อธิการบดี  และการเสวนาบันไดสู่ความสำเร็จ ในหัวข้อ Eco Print ผ้าพิมพ์ลายธรรมชาติจากงานวิจัยสู่การประกอบธุรกิจ Fashion ตามแนวคิด BCG Model โดยอาจารย์วีระศักดิ์ ศรีลารัตน์  

 


  
พร้อมกันนี้ ยังได้มีการเพ้นท์ลายผ้า “ลายดอกบัวแห่งเมืองปทุมธานี” โดยผู้ประกอบการผ้าเขียนลาย คุณสุรางรัตน์ สมุทรกลิน และการประมูลสินค้า 3 ผลงาน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ผ้าเขียนลาย และ กระเป๋าปางสีดา รวมถึงจัดจำหน่ายกล่องสุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชน จำนวน 100 กล่อง ในราคากล่องละ 299 บาท จำนวน 50 กล่อง และ กล่องสุ่มผลิตภัณฑ์ ราคา 499 บาท จำนวน 50 กล่อง ผ่านการไลฟ์สด ช่องทางออนไลน์ ซึ่งได้รับการตอบรับจากนักช้อปออนไลน์เป็นอย่างดี และปิดท้ายด้วยแฟชั่นโชว์ สุดอลังการ ภายใต้ธีม “BCG Economy and Equality Lifestyle and Fashion” โดยมีผลิตภัณฑ์ 4 กลุ่ม ได้แก่ อาหาร  ของใช้ไลฟ์สไตล์ เสื้อผ้า และ ผลิตภัณฑ์ ECO Print ผ้าพิมพ์ลายธรรมชาติ