สวนสละลุงถัน แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บริหารจัดการโดย Young Smart Farmer ตามหลักการ BCG Model
 
นางอัญชลี สุวจิตตานนท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการขับเคลื่อนภาคการเกษตรด้วย BCG Model ตามนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาภาคการเกษตร สู่ 3 สูง คือ ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง และรายได้สูง โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้บูรณาการกระบวนการส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่เข้ากับแนวทางการพัฒนาการเกษตรด้วย BCG Model โดยส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรตามแนวทางเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio) - เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular) – เศรษฐกิจสีเขียว (Green) หรือ BCG เพื่อยกระดับภาคการเกษตรของไทยให้สามารถบริหารจัดการการเกษตร การท่องเที่ยวเชิงเกษตร วิสาหกิจชุมชน สินค้าเกษตร ฯลฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐานตามหลักสากล สอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งแนวทางดังกล่าวเป็นแนวโน้มที่หลายประเทศจะกำหนดให้เป็นเงื่อนไขทางการค้าสำหรับสินค้านำเข้าในอนาคตด้วย 

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สวนสะละลุงถัน หมู่ที่ 5 ตำบลหนองธง  อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการจากรุ่นพ่อ (นายถัน ดำเรือง) - สู่รุ่นลูก (นายวิชัย ดำเรือง) ที่ได้รับการพัฒนาให้เป็น Young Smart Farmer ของกรมส่งเสริมการเกษตร โดยสวนสะละลุงถัน นอกจากจะพัฒนาต่อยอดจากสวนสละ เป็นแหล่งท่องท่องเที่ยวเชิงเกษตรสวนสะละลุงถัน บนพื้นที่ 50 ไร่ ภายใต้แนวคิด “ขายบริการควบคู่กับผลผลิตและผลิตภัณฑ์ที่ได้ในสวน” มีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมสวนหนึ่งพันกว่าคนต่อปี และมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเปิดสวนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรปีละ 2.3 ล้านบาทแล้ว ยังได้นำหลัก BCG Model มาต่อยอด พัฒนาการจัดการสวนสละจนได้มาตรฐาน GAP รวมทั้งนำผลผลิตสละที่เป็นลูกเดี่ยว และวัสดุเหลือใช้จากการทำสวนสละมาพัฒนาต่อยอดให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ก่อให้เกิดรายได้งาม และสามารถจัดการให้ขยะในสวนเหลือทิ้งเป็นศูนย์ได้

 


สวนสะละลุงถัน ได้นำหลัก BCG มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง โดยมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรคอยเป็นพี่เลี้ยง ดังนี้  1) ด้านเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio) เน้นการสร้างมูลค่า ระดับต้นน้ำ เน้นการพัฒนากลุ่มเกษตรกร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสละ โดยการให้ความรู้ด้านการผลิต การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า และการพัฒนาตลาด ให้แก่เกษตรกรแปลงใหญ่สละ ผ่านกลไกศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพสินค้าเกษตรสละตำบลหนองธง จนสามารถพัฒนาต่อยอดให้เป็นผลไม้อัตลักษณ์ สละ GAP และ สละ GI ระดับกลางน้ำ สร้างแบรนด์และแปรรูปสินค้าให้เกิดมูลค่าเพิ่มนอกเหนือจากการจำหน่ายผลสด ได้แก่ สละลอยแก้ว สละทรงเครื่อง แยมสละ สละกวน ไวน์สละ น้ำพริกสละ วุ้นสละ เป็นต้น ระดับปลายน้ำ ได้พัฒนาตลาดสละเพิ่มเติมนอกเหนือจากการขายผ่านพ่อค้าคนกลาง คือ จำหน่ายผ่านแหล่งท่องเที่ยว OTOP ตลาดเกษตรกร ตลาดริมทางถนนสายหลัก และทำการตลาดออนไลน์ ผ่านเฟสบุ้ค ไลน์ พร้อมทั้งส่งขายผ่านช่องทางบริษัทไปรษณีย์ไทย 2) ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular) เน้นจัดการของเสียและขยะเป็นศูนย์  ระดับต้นน้ำ เกษตรกรผู้ปลูกสละได้จัดการวัสดุเหลือใช้จากการผลิตโดยการเก็บรวบรวมวัสดุเหลือใช้ เช่น ต้น ใบ ก้านใบ และเมล็ด นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ระดับกลางน้ำ สร้างมูลค่าเพิ่มโดยการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์พลอยได้จากการแปรรูป เช่น นำใบสละและก้านใบมาสับย่อยทำปุ๋ย ทำวัสดุมุงหลังคา ทำร่มบังแดด ทำรั้ว และแนวกั้น นำใบสละไปใช้ทำชาใบสละ และใช้ห่อขนมและอาหาร นำเมล็ดสละไปสกัดเป็นน้ำมันใช้ทานวดกล้ามเนื้อ และน้ำมันบำรุงผม ทำเชือกรัดของจากก้านใบ และนำเศษเหลือจากลำต้นไปสับย่อยทำปุ๋ยหมัก ระดับปลายน้ำ การสร้างตลาดและการนำผลิตภัณฑ์แปรรูปจากวัสดุเหลือใช้มาจัดจำหน่าย โดยจำหน่ายตามแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

3) ด้านเศรษฐกิจสีเขียว (Green) เน้นสมดุลและยั่งยืน ระดับต้นน้ำ เกษตรกรผู้ปลูกสละได้นำหลักเกษตรยั่งยืนมาใช้ โดยการทำการเกษตรแบบอินทรีย์เพื่อลดการใช้สารเคมี และใช้ปุ๋บอินทรีย์ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี ทำการเกษตรผสมผสานโดยการปลูกสละร่วมกับปลูกยาง ระดับกลางน้ำ พัฒนาต่อยอดแปลงสละให้ได้มาตรฐาน GAP จากการใช้สารอินทรีย์ทดแทนการใช้สารเคมีในการกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช ระดับปลายน้ำ พัฒนากลไกตลาดขายตรง เชื่อมโยงตลาดกับประเทศมาเลเซีย เพื่อจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสละ เช่น ไวน์ แยม สละกวน นอกจากนั้นยังได้เผยแพร่องค์ความรู้ดังกล่าวสู่เกษตรกรเครือข่าย YSF และเครือข่ายสมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่สละของจังหวัดพัทลุง รวมถึงกลุ่มเกษตรกรอื่นๆ อีกด้วย  ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรได้เข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ปลูกสละได้รวมกลุ่มกันในพัฒนาการผลิต การบริหารจัดการแปลง ตามแนวทางแปลงใหญ่ 5 ด้าน ซึ่งนายวิชัย ดำเรือง YSF เจ้าของจุดท่องเที่ยวเชิงเกษตรสวนสะละลุงถันได้สมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่สละตำบลหนองธง ซึ่งจัดตั้งเมื่อปี 2560 ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 37 คน พื้นที่ปลูกสละ จำนวน 320 ไร่ ผลผลิตประมาณ 380 ตันต่อปี มีรายได้ของสมาชิกประมาณ 15 ล้านบาท โดยนายวิชัยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประชาสัมพันธ์ของกลุ่ม และมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาด้านการตลาดของกลุ่ม ทำให้สละของจังหวัดพัทลุงเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคอย่างแพร่หลาย

ทั้งนี้ ปัจจุบันจังหวัดพัทลุงมีกลุ่มแปลงใหญ่สละทั้งหมด 8 แปลง สมาชิก 374 คน พื้นที่ปลูก 3,140 ไร่ พื้นที่ปลูก 3,140 ไร่ ราคาผลผลิตเฉลี่ย 58.45 บาท/กก. มูลค่าผลผลิตปี 2564 96,243,000 บาท ได้รับมาตรฐาน GAP จำนวน 146 ราย  525.22 ไร่