ขณะนี้ แม้มีการรับหลักการของ ร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. ... เสนอโดยพรรคภูมิใจไทย และร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากกัญชา กัญชง พ.ศ.... เสนอโดยพรรคพลังประชารัฐแล้วในสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งจะมีการพิจารณาในรายละเอียดในชั้นกรรมาธิการ แล้วนำเข้าสู่การพิจารณาในวาระ 2 และ 3 ในสภาผู้แทนราษฎร และจะต้องเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาต่อไปนั้น
เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว เครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด มีข้อเสนอแนะ ดังนี้
จากประสบการณ์ทั่วโลกของการควบคุมสารเสพติดที่ถูกกฎหมายคือบุหรี่และสุรา องค์การอนามัยโลกและองค์การสหประชาชาติแนะนำ ให้รัฐต้องมีมาตรการ “ควบคุมอุปทาน (supply control)” ที่มีประสิทธิผลที่เพียงพอ ไม่ใช่เพียงแต่ทำด้านการแนะนำผู้ใช้ให้เสพอย่างปลอดภัย ที่เรียกว่า “ควบคุมอุปสงค์ (demand control)” สำหรับประสบการณ์กรณีกัญชา ทั้งประเทศอุรกวัย ประเทศแคนาดา และหลายรัฐในประเทศอเมริกา ล้วนมีการกำหนดมาตรการควบคุมอุปทานที่เข้มข้นทั้งสิ้น
ส่วนมาตรการที่สามารถดำเนินการได้เพื่อให้เกิดการควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดที่เพียงพอ ได้แก่ 1.ควบคุมการบริโภคกัญชา เช่น ห้ามการบริโภคกัญชาโดยบุคคลอายุต่ำกว่ายี่สิบปีโดยเด็ดขาด ห้ามการโภคกัญชาโดยยกเว้นให้บริโภคได้ในกรณีใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ที่มีแพทย์เป็นผู้สั่งจ่าย หรือกรณีที่ปลูกและใช้กัญชาในครัวเรือน ในส่วนของกัญชาที่ไม่ใช่ช่อดอก เพื่อให้เป็นระบบที่สนับสนุน “กัญชาทางการแพทย์” อย่างแท้จริง “ไม่ใช่” การสนับสนุน “กัญชาเสรี”
2.สนับสนุนเศรษฐกิจครัวเรือนจาก “กัญชง” เนื่องจากมีสารเมา THC ต่ำ จะเกิดการใช้ในทางที่ผิดได้ยาก หากสนับสนุนเศรษฐกิจครัวเรือนจากกัญชา จะเกิดการใช้กัญชาในทางที่ผิดได้มาก เช่น นำช่อดอกไปสูบหรือไปจำหน่ายทั้งที่เปิดเผยและไม่เปิดเผย หรือนำช่อดอกไปใส่อาหารและเครื่องดื่มจำหน่าย ทั้งโดยเปิดเผยและไม่เปิดเผย เป็นต้น
3.ควบคุมการใช้กัญชาในเชิงพานิชย์ทุกระดับทั้งระดับครัวเรือน ธุรกิจขนาดย่อม และธุรกิจขนาดใหญ่ เนื่องจากการทำธุรกิจจะมีธรรมชาติของการสร้างกำไรสูงสุด จะมีการใช้เครื่องมือ “การโฆษณาและการตลาด (advertising and marketing)” มาใช้ จะทำให้เกิดสภาวะ “อุปสงค์ที่มากเกินจริง อันเกิดจากการกระตุ้นโดยอุปทาน (supply-induced demand)”
4.ควบคุมกิจกรรมการตลาดต่าง ๆ ได้แก่ ควบคุมสถานที่จำหน่าย ทั้งที่ให้ซื้อและบริโภคในร้าน หรือที่ซื้อกลับไปบริโภคภายนอก จะต้องมีใบอนุญาต สถานที่นั้นจะต้องมีการบ่งชี้ชัดเจนว่ามีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ผสมกัญชา และจะต้องเป็นสถานที่ที่ไม่อนุญาตให้เยาวชนเข้าไป หากร้านค้าใดต้องการจะขายผลิตภัณฑ์ผสมกัญชา ก็ต้องแลกกับการปฏิบัติเหล่านี้ ห้ามการจำหน่าย เมล็ดพันธุ์กัญชา ต้นกัญชา และผลิตภัณฑ์กัญชาทางออนไลน์
ควบคุมบรรจุภัณฑ์ เช่น ต้องบรรจุผลิตภัณฑ์กัญชาในบรรจุภัณฑ์แบบเรียบ (plain packaging) มีการระบุระดับ THC และ CBD ของผลิตภัณฑ์ มีการติดฉลากคำเตือน ห้ามโฆษณาโดยสิ้นเชิงเพื่อปกป้องเด็กและเยาวชน เช่นเดียวกับกรณีบุหรี่ในประเทศไทย ซึ่งได้ผลในการเปลี่ยนแปลงค่านิยมการสูบบุหรี่ในประเทศไทยมาแล้ว ควบคุมการครอบครองในที่สาธารณะ เช่น ประเทศแคนาดากำหนดให้ ห้ามครอบครองกัญชาเทียบเท่ากัญชาแห้งจำนวน 30 กรัม ห้ามครอบครองต้นกัญชาเกินสี่ต้น และห้ามครอบครองต้นกัญชาที่มีดอกกัญชาเกินหนึ่งต้นในที่สาธารณะ เป็นการป้องกันการซื้อขายที่ไม่ถูกกฎหมายได้ดี
ห้ามสูบกัญชาในที่สาธารณะโดยสิ้นเชิง ไม่ใช่เพียงเฉพาะห้ามการสูบที่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนรำคาญ เหมือนกรณีบุหรี่ในประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว ห้ามขับขี่ยานพาหนะหรือใช้เครื่องจักรภายใต้อิทธิพลของกัญชา
มีมาตรการภาษีกัญชา ซึ่งเป็นมาตรการที่สำคัญมาก เพราะก่อให้เกิดรายได้เข้ารัฐ และควบคุมการบริโภคได้ดี และควรกำหนดให้นำส่วนหนึ่งของภาษีกัญชา มาใช้ในการบำบัดรักษาผู้เสพติดกัญชา การดำเนินกิจกรรมการให้ความรู้และการป้องกันเยาวชนใช้กัญชา ตลอดจนใช้เพื่อการวิจัยและการติดตามประเมินผลกระทบทางลบจากการใช้กัญชา
ที่สำคัญ คือ ยังต้องกำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดอยู่ต่อไป บนหลักการที่ว่า “คุมส่วนใหญ่ ปล่อยส่วนน้อย” แทนที่จะเป็น “คุมส่วนน้อย ปล่อยส่วนใหญ่” เพื่อให้ประเทศไทยยังสามารถออกแบบควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดได้ และจะทำให้พ่อแม่และระบบการศึกษายังสามารถที่จะสอนเด็กและเยาวชนได้ว่าควรปฏิบัติต่อกัญชาอย่างไร ขณะนี้ยังไม่มีประเทศใดในโลกที่กำหนดให้กัญชา (cannabis) ไม่เป็นยาเสพติด แม้แต่ประเทศที่อนุญาตให้สูบกัญชาเพื่อความบันเทิงแล้วก็ตาม
เครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด ยังมีข้อเสนอต่อ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นฉบับ “นโยบายกัญชาเสรี โดยมีนโยบายควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดน้อยมาก” เนื่องจากไม่มีมาตราใดกำหนดการควบคุมการบริโภคกัญชาเลย คือ ประชาชนและเด็กและเยาวชน ทุกอายุ ทุกเพศ จะสามารถเสพหรือสูบกัญชาได้อย่างเสรี อีกทั้งยังกำหนดอนุญาตให้ปลูกกัญชาโดยไม่จำกัดจำนวนและนำช่อดอกมาสูบได้ในครัวเรือน และมีมาตรการควบคุมการปลูกและใช้กัญชาในทางที่ผิดที่น้อยมาก เพราะมีเพียงการกำหนดมาตรการ “ห้ามจำหน่ายกัญชา” แก่เยาวชนอายุต่ำกว่ายี่สิบปี และสตรีมีครรภ์หรือให้นมบุตรเท่านั้น (ไม่ใช่การห้ามเสพกัญชา เพียงห้ามจำหน่าย)
จึงไม่สามารถกล่าวได้ว่าเป็นฉบับส่งเสริมกัญชาทางการแพทย์ เพราะการอนุญาตให้เสพหรือสูบกัญชาได้อย่างเสรี เป็นนโยบายที่เลยกัญชาทางการแพทย์ไปแล้ว เพียงแต่ใช้คำว่ากัญชาทางการแพทย์เป็นข้ออ้างเท่านั้น
ส่วน ร่าง พ.ร.บ.ฉบับพรรคพลังประชารัฐ เป็นฉบับ “นโยบายกัญชาทางเสรีทางการแพทย์ บวกกัญชาเพื่อเศรษฐกิจ และมีมาตรการควบคุมการใช้ในทางที่ผิดในระดับหนึ่ง”
เนื่องจากเน้นการใช้กัญชาเพื่อวัตถุประสงค์ในทางการแพทย์ เปิดโอกาสให้ประชาชนใช้กัญชาได้ในส่วนที่ไม่ใช่ช่อดอก และสนับสนุนการสร้างเศรษฐกิจจากกัญชง ซึ่งมีสารเมา THC ต่ำ
ดังนั้น สภาผู้แทนราษฎรควรยึดเนื้อหาใน พ.ร.บ.ฯ ฉบับพรรคพลังประชารัฐเป็นหลัก และแก้ไขให้เหมาะสมยิ่งขึ้นตามข้อแนะนำข้างต้น โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1.ไม่ควรใช้มาตรา 3 ของร่าง พ.ร.บ.ฯ ฉบับพรรคภูมิใจไทย ที่ระบุว่า “ให้กัญชา กัญชง ที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว ไม่ถือเป็นยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ หรือประมวลกฎหมายยาเสพติด” เนื่องจากจะทำให้เกิดการปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติดโดยถาวรตลอดไป
ร่าง พ.ร.บ.ฯ ฉบับพรรคพลังประชารัฐ ไม่ได้กำหนดให้ปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติดแบบถาวร แต่เสนอการควบคุมที่สมเหตุสมผล ดังมาตรา 3 ที่กำหนดว่า การใช้กัญชาและกัญชงเป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์สมุนไพรตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยาตามกฎหมายว่าด้วยยา อาหารตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร เครื่องสำอางตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องสำอาง หรือผลิตภัณฑ์อื่นใดตามที่มีกฎหมายเฉพาะบัญญัติไว้ รวมถึงการนำเข้า การส่งออก การจำหน่าย และ การโฆษณา ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น เว้นแต่กรณีที่บัญญัติไว้ในหมวด 3 การป้องกันการใช้ในทางที่ผิด (ซึ่งกำหนดห้ามการบริโภค ยกเว้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์) (หมายเหตุ: ประเทศแคนาดาก็ไม่ได้ปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติด แม้จะให้สูบกัญชาเพื่อความบันเทิงได้อย่างถูกกฎหมายก็ตาม)
2.ควรใช้ร่าง พ.ร.บ.ฯ ฉบับพรรคพลังประชารัฐ (แต่ปรับปรุงให้ดีขึ้นได้) ในมาตรา 22 กำหนดห้ามผู้ใดบริโภคกัญชา กัญชง เว้นแต่เป็นการบริโภคเพื่อรักษาโรคตามคำสั่งแพทย์แผนปัจจุบัน/แผนไทย/หมอพื้นบ้าน หรือ เพื่อการศึกษาวิจัย หรือ เป็นการใช้ประโยชน์ในครัวเรือนตามที่ได้จดแจ้งไว้ในมาตรา 15
มาตรา 15 กำหนดไว้ว่า ผู้ใดประสงค์จะปลูกกัญชา กัญชง เพื่อใช้ประโญชน์ในครัวเรือน โดยให้ยกเว้น ดอก ช่อดอก หรือเมล็ด ให้ปลูกได้ไม่เกินจำนวนที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้ยื่นขอจดแจ้งต่อผู้รับจดแจ้ง และเมื่อผู้รับจดแจ้งออกใบรับจดแจ้งให้แล้ว จึงจะดำเนินการนั้นได้ แทนการใช้มาตรา 18 ของฉบับพรรคภูมิใจไทย ซึ่งกำหนดอนุญาตให้ปลูกกัญชาโดยไม่จำกัดจำนวนและนำช่อดอกมาสูบได้ในครัวเรือน ซึ่งข้อเท็จจริงคือยังไม่มีประเทศใดในโลก ที่กำหนดให้ปลูกต้นกัญชาได้โดยไม่มีมาตรการควบคุมที่เหมาะสม แม้แต่ประเทศที่อนุญาตให้สูบกัญชาเพื่อความบันเทิงแล้วก็ตาม
นอกจากนี้ ไม่ควรมีการกำหนดให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้ยกเว้นการควบคุมการจำหน่ายและการโฆษณาของส่วนของกัญชา กัญชง สารสกัด หรือกากจากสารสกัด ได้ในภายหลัง (มาตรา 16 และ 30 ของร่าง พ.ร.บ.ฯฉบับพรรคภูมิใจไทย) เนื่องจากจะทำให้มาตรการควบคุมการใช้ในทางที่ผิดอ่อนลงไปอีกในอนาคต
เครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด ประกอบด้วย นพ.ชาตรี บานชื่น ดร.วิโรจน์ สุ่มใหญ่นางทิชา ณ นคร ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ศ.นพ.มานิต ศรีสุรภานนท์ ศ.นพ.ชวนันท์ ชาญศิลป์ รศ.ดร.ภญ.จุฑามณี สุทธิสีสังข์ ผศ.นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ ศ.ดร.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย ผศ.ดร.อุษณีย์ พึ่งปาน ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร นายพงศธร จันทรัศมี นายไฟซ้อน บุญรอด นายวัชรพงศ์ พุ่มชื่น นายวันชัย บุญประชา นพ.ไพศาล ปัณฑุกำพล รศ.นพ.วัชรพงศ์ พุทธิสวัสดิ์ นพ.วิทยา จารุพูนผล ศ. คลินิก นพ.อภิชาติ ศิวยาธร นพ.วิโรจน์ เยาวพลกุล นพ.วัฒนา สุพรหมจักร พล.อ.นพ.ชูศักดิ์ สุวรรณศิริกุล พล.อ.ท.นพ.วิศิษฏ์ ดุสิตนานนท์ นพ.เจริญ ปฏิภาณเทวา และพญ.ภาพิส เสงี่ยมพรพาณิชย์