คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัด “โครงการจัดแสดงงานศิลปะ Art Gallery คณะวิทยาศาสตร์ เพื่อช้างไทย: Art Science Gallery for Elephant” เพื่อสนับสนุนกิจการของปางช้างแม่แตง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ และเครือข่ายเกี่ยวกับกิจกรรมของช้างไทย ผ่านกิจกรรมการจัดแสดงภาพวาดจากฝีมือช้าง รวมทั้งการจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์จากปางช้างแม่แตง โดยภาพต่าง ๆ ที่แสดงในนิทรรศการ ไม่เพียงแต่สะท้อนถึงความสามารถของช้างไทย แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงความหวัง และน้ำใจของทุกท่านที่ต้องการช่วยเหลือให้ธุรกิจหรือหน่วยงานที่สนับสนุนและดูแลช้างไทยทุกภาคส่วน ให้สามารถกลับมามีชีวิตและมีกำลังที่จะก้าวต่อไปได้อีกครั้งหนึ่ง ตลอดจนการบูรณาการระหว่างศาสตร์ทั้งศิลปะ วิทยาศาสตร์ และทรัพยากรธรรมชาติ
ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลกระทบต่อธุรกิจหลายภาคส่วนในประเทศไทย และจากการที่หน่วยวิจัยด้านจีโนมิกส์และทรัพยากรชีวภาพสัตว์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้มีการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางทรัพยากรชีวภาพสัตว์ สุขภาพสัตว์ และสัตวแพทย์ในระดับจีโนม เพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมการเกษตร อาหาร และใช้ประโยชน์จากฐานความหลากหลายชีวภาพ ร่วมกับบริษัทแอนิเว็ท เมดิคอล ซัพพลาย จำกัด ทำให้ทราบถึงปัญหาธุรกิจปางช้างในพื้นที่อำเภอแม่แตง โดยเฉพาะปางช้างแม่แตง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ประสบปัญหาด้านธุรกิจอย่างต่อเนื่องมากว่า 3 ปี จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ด้วยที่ไม่มีนักท่องเที่ยว ปางช้างจึงต้องปรับตัวในการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างมาก เพื่อนำเงินมาหมุนเวียนในธุรกิจที่ถึงแม้ว่าไม่มีรายได้ แต่รายจ่ายยังคงมีอย่างต่อเนื่องมาตลอด 3 ปี ที่ไม่มีนักท่องเที่ยวทำให้ขณะนี้ปางช้างแม่แตงขาดทุนสะสมแล้วไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท รศ. ดร.ครศร ศรีกุลนาถ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประธานคณะกรรมการดำเนินงานหน่วยวิจัยด้านจีโนมิกส์และทรัพยากรชีวภาพสัตว์ ได้ลงพื้นที่ปฏิบัติงานเก็บข้อมูลเพื่อทำการวิจัยเรื่อง “โครงการวิจัยการถอนรหัสพันธุกรรมของช้างไทย เพื่อจัดทำฐานข้อมูลจีโนมอ้างอิงเพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน” ภายใต้งบประมาณวิจัยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโยลีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศึกษาตัวอย่างจากปางช้างแม่แตงมาเป็นเวลาหลายเดือน ทำให้ได้รับทราบถึงปัญหาเรื่องของการขาดรายได้จากนักท่องเที่ยวเนื่องจากสาเหตุจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และขาดสภาพคล่องในการจัดซื้ออาหารมาเลี้ยงช้าง จึงได้เกิด “โครงการจัดแสดงงานศิลปะ Art Gallery คณะวิทยาศาสตร์ เพื่อช้างไทย: Art Science Gallery for Elephant” เพื่อนำรายได้ช่วยเหลือช้างต่อไป
ภายในงานมีการจัดแสดงภาพวาดจากศิลปินช้างน้อยชื่อดังแห่งปางช้างแม่แตง 3 เชือก คือ พลายธันวา พังสุรีย์ และพังสุดา ซึ่งมีทั้งภาพวาดเดี่ยวจากศิลปินช้างน้อย และภาพวาดพิเศษสำหรับการประมูลบนแคนวาส ขนาด 80 x 100 ซม. ซึ่งเป็นผลงานจากความร่วมมือทางด้านศิลปะจากศิลปินช้างน้อยและศิลปินระดับชาติหลายท่าน อาทิเช่น อ.พิชัย นิรันดร์ ศิลปินแห่งชาติ อ.พรชัย ใจมา อ.ประสงค์ ลือเมือง อ.สุรทิน ตาตะนะ อ.ประเทือง ก่ำพัด และครูช้าง อ.พงษ์ประนาฏต เพ็ชรัตนกูล ครูสอนช้างวาดภาพชื่อดัง ตลอดจนศิลปินในเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ศิลปะเชียงใหม่ Chiang Mai Art Museum เป็นจำนวนมากกว่า 50 ท่านพร้อมผลงานวาดภาพมากว่า 100 ชิ้นงาน
คณะวิทยาศาสตร์ จัดพิธีเปิด โครงการจัดแสดงงานศิลปะ Art Gallery คณะวิทยาศาสตร์ เพื่อช้างไทย: Art Science Gallery for Elephant และจัดกิจกรรมการประมูลภาพวาดฝีมือช้างจากปางช้างแม่แตงร่วมกับศิลปินระดับชาติ ในวันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม 2565 เวลา 15.00-17.00 น. ณ หอประวัติคณะวิทยาศาสตร์ ชั้น 2 ตึกสุวรรณวาจกกสิกิจ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมี รศ.ดร.อภิสิฏฐ์ ศงสะเสน คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย รศ.ดร.ครศร ศรีกุลนาถ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะวิทยาศาสตร์ ดร.บุญทา ชัยเลิศ ประธานบริหารปางช้างแม่แตง ร่วมในพิธี
โครงการจัดแสดงงานศิลปะ Art Gallery คณะวิทยาศาสตร์ เพื่อช้างไทย เป็นการจัดแสดงและจำหน่ายภาพวาด สินค้า และผลิตภัณฑ์ของปางช้างแม่แตงในระหว่างเดือน พฤษภาคม ถึง ตุลาคม 2565 โดยภายใน Art Gallery จัดแสดงผลงานศิลปะ ประกอบด้วยภาพวาดบนกระดาษ จำนวน 45 ภาพ (ราคารวมกรอบรูป 3,000 บาท) และภาพวาดแคนวาสที่วาดร่วมกับศิลปินขนาดปกติสำหรับการประมูลในวันดังกล่าว จำนวน 3 ภาพ และภาพวาดแคนวาสร่วมกับศิลปินขนาดใหญ่สำหรับการประมูล มากกว่า 50 ภาพ ซึ่งจะจัดงานประมูลอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 กรกฎาคม 2565 ทั้งนี้ติดตามรายละเอียดต่างๆ ได้ที่เพจเฟสบุค Art Sci Gallery โดยผลงานภาพวาดทั้งหมดนี้รายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายจะนำไปช่วยเหลือค่าอาหารช้างปางช้างแม่แตง และสนับสนุนการทำงานขององค์กรและมูลนิธิต่างๆ ที่ทำงานช่วยเหลือช้างไทย เช่น โรงพยาบาลช้างสถาบันคชบาลแห่งชาติ จ.ลำปาง มูลนิธิเพื่อนช้าง พร้อมด้วยสมาคมสหพันธ์ช้างไทย
กิจกรรมนี้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ในเป้าหมายหลักข้อที่ 8 (ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่ และมีผลิตภาพ และการมีงานที่สมควรสำหรับทุกคน) ข้อ 12 (สร้างหลักประกันให้มีแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน) และข้อ 17 (เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน) เป้าหมายรอง ข้อที่ 15 (ปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ต่อสู้การกลายสภาพเป็นทะเลทราย หยุดการเสื่อมโทรมของที่ดินและฟื้นสภาพกลับมาใหม่ และหยุดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ) และมีข้อที่ 11 (ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความปลอดภัย ทั่วถึง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและยั่งยืน) และ 16 (ส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและครอบคลุม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรม และสร้างสถาบันที่มีประสิทธิผล รับผิดชอบ และครอบคลุมในทุกระดับ) เป็นเป้าหมายสนับสนุน นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับการพัฒนาการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) ตามนโยบายของรัฐบาล ทั้งด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และด้านความหลากหลายชีวภาพ