3 พ.ค. 2565 โคแฟค (ประเทศไทย) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ สำนักข่าวไทยพีบีเอส สถาบัน Change Fusion มูลนิธิฟรีดริช เนามัน (ประเทศไทย) และ Centre for Humanitarian Dialogue (“hd ) จัดงานสวนานักคิดดิจิทัล “สงครามข่าวสารผ่านหน้าจอ สื่อจะธำรงเสรีภาพ ความจริง และ สันติภาพได้อย่างไร” เนื่องในวาระวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก โดยเป็นการเสวนาออนไลน์ ผ่านโปรแกรม Zoom ถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ Cofact โคแฟค , Thai PBS , สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ดร.จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวเปิดการเสวนา ระบุว่า องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) กำหนดให้วันที่ 3 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ซึ่งประเด็นท้าทายในปีนี้คือการเติบโตของสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ทำให้ทุกคนสามารถเป็นผู้ผลิตข้อมูลข่าวสารได้ ทำให้เต็มไปด้วยข้อมูลทั้งที่เป็นข้อเท็จจริงและข้อมูลบิดเบือน โดยเฉพาะจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่สามารถดัดแปลงภาพหรือคลิปวีดีโอให้เสมือนจริงมากขึ้น ทั้งนี้ มีการใช้ปฏิบัติการในการใช้ข้อมูลข่าวสารเพื่อจูงใจผู้คนในมิติการเมือง เศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะในยุคที่มีความขัดแย้งทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ตลอดจนความขัดแย้งด้านเชื้อชาติ ศาสนา จนกลายเป็นสงครามข้อมูลข่าวสารผ่านหน้าจอมือถือ สร้างความสับสน เข้าใจผิด นำไปสู่ความเกลียดชังและยั่วยุให้เกิดความรุนแรง ท่ามกลางสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ สื่อมวลชนในฐานะที่เป็นองค์กรที่สังคมมีความคาดหวังสูง จำเป็นต้องใคร่ครวญและทบทวนว่าจะธำรงบทบาทของตนอย่างไร “วันนี้จึงนับเป็นโอกาสสำคัญที่องค์กรทั่วโลก ร่วมฉลองให้สังคมตระหนักถึงเสรีภาพสื่อมวลชน เพราะเสรีภาพกับความจริงนั้นมีความสำคัญ และเป็นพื้นฐานสำคัญของประชาธิปไตย หากปราศจากเสรีภาพสื่อ ก็ยากที่สื่อจะค้นหาความจริงได้ ขณะเดียวกัน ถ้าการใช้เสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลทำให้เกิดความเข้าใจผิด ก็จะส่งผลร้ายต่อสังคมเช่นกัน เป็นคำถามเชิงขบคิดว่าสื่อมวลชนจะปฏิบัติหน้าที่อย่างไร ในการค้นหาข้อเท็จจริงตามหลักเสรีภาพ และจะกลั่นกรองข้อเท็จจริงอย่างไร ให้ผู้รับสารได้รับข้อมูลที่ถูกต้องรอบด้าน” ดร.จิรพร กล่าว ดร.พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล ผู้จัดการโครงการมูลนิธิฟรีดริชเนามัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ที่ผ่านมาสื่อมวลชนเผชิญความท้าทายหลายประการ อาทิ ความเปลี่ยนแปลงทางภูมิทัศน์สื่อจากอนาล็อกสู่ดิจิทัล จากการนำเสนอข่าวจากสำนักข่าวสู่การนำเสนอผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ด้านหนึ่งเอื้อให้เกิดพื้นที่ส่งเสียงไปถึงวงกว้างกว่าที่เคยเป็นมา แต่อีกด้านหนึ่งก็เกิดคำถามว่าวารสารศาสตร์ยังจำเป็นอยู่หรือไม่ ซึ่งจากสถานการณ์วิกฤติต่างๆ เช่น การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เป็นโรคอุบัติใหม่ หรือประเด็นที่มีความละเอียดอ่อน อาทิ สงคราม ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ก็ทำให้พบว่าวารสารศาสตร์ยังคงมีความจำเป็นในการสืบค้นข้อเท็จจริงและความจริงร่วมให้กับสังคม เพื่อประกันสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของปัจเจกในสังคม ทั้งนี้ มีตัวอย่างจากช่วงเวลากว่า 2 เดือน ที่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ก็ได้เห็นสงครามข่าวสารจากทั้ง 2 ฝ่าย และมีความหลากหลายตามรูปแบบการนำเสนอของแต่ละแพลตฟอร์ม “สงครามข่าวผ่านหน้าจอ นำไปสู่คำถามว่า สื่อจะสามารถที่จะธำรงเสรีภาพ ความจริงและสันติภาพได้อย่างไร หากต่างฝ่ายต่างปิดกั้นการเข้าถึง และแบนสื่อฝ่ายตรงข้ามไม่ให้นำเสนอข้อมูล คำขอของประธานสหภาพยุโรป (EU) ไม่ให้สื่อของรัสเซียเข้าถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยอ้างเหตุเพื่อหยุดข่าวสารที่เรียกว่าโฆษณาชวนเชื่อ ขณะที่รัสเซียเองก็ออกกฎหมาย กำหนดโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี คนที่เผยแพร่ข่าวเท็จตามคำจำกัดความของทางรัสเซีย ตามด้วยศาลรัสเซียซึ่งสั่งแบนทั้งเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมโดยอ้างว่าเป็นกลุ่มหัวรุนแรง อันนี้อาจจะทำให้เราเห็นว่า สงคราม สันติภาพ และสื่อสารมวลชน มีความเชื่อมโยงกัน” ดร.พิมพ์รภัช กล่าว รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) กล่าวว่า เหตุการณ์สงครรมรัสเซีย-ยูเครน โดยทั่วไปแล้วในการนำเสนอข่าวต่างประเทศจะพึ่งพาสำนักข่าวต่างประเทศเพียงไม่กี่สำนักซึ่งไม่เพียงพอ คำถามคือแล้วจะตรวจสอบกับแหล่งข่าวอื่นๆ ได้อย่างไร ซึ่งสื่อสังคมออนไลน์ก็เป็นอีกแหล่งข่าวสำคัญที่สื่อหลายสำนักใช้กันอยู่ แต่สงครามครั้งนี้ก็มีการทำสงครามบนโลกเสมือน (Virtual Front) กันด้วย คนทำงานสื่อกระแสหลักจึงต้องเข้มงวดกับตนเองมากขึ้น เช่น ในห้องข่าวของไทยพีบีเอส เท่าที่ทราบมีกระบวนการทบทวนหลังปฏิบัติงาน (After Action Review-AAR) กันแทบทุกวัน เนื่องจากไม่ได้มีเฉพาะประเด็นสงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่เป็นทุกๆ ประเด็นที่มีความขัดแย้ง คนทำงานต้องทบทวนตนเองอยู่เสมอ อาทิ ข้อมูลที่ได้มาถูกต้องเพียงใด ได้กลายเป็นผู้เผยแพร่ข้อมูลบิดเบือน (Disinformation) บ้างหรือไม่ หากเผยแพร่ไปแล้วจะแก้ไขอย่างไร หรือการตีความสถานการณ์ต่างๆ ใช้มุมมมองแบบใด เป็นต้น จึงต้องให้เวลาทำความเข้าใจประเด็นมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องที่มีความอ่อนไหว “ยิ่งเราเข้าใจและรู้เท่าทันที่มาของความขัดแย้งไม่ว่าในระดับชาติหรือระดับโลกได้มากแค่ไหน คิดว่าคนทำงานสื่อก็จะสามารถรับมือกับความท้าทาย แล้วก็สามารถเตรียมตัวที่จะป้องกันไม่ให้ผลกระทบต่างๆ มันเกิดขึ้นรุนแรงที่เราไม่อยากเห็นได้มากขึ้น” รศ.ดร.วิลาสินี กล่าว ด้านนายอเล็กซานเดอร์ ดักลาส ผู้ช่วยผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Centre for Humanitarian Dialogue (HD) กล่าวว่า ระบบการสื่อสารมีการพัฒนาขึ้นตลอดเวลา เราได้รับข้อมูลข่าวสารเพิ่มขึ้นอย่างมาก และเรามองเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบโลก แต่การที่สามารถส่งผ่านข้อมูลจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งอย่างง่ายดาย หากเป็นข้อมูลที่ผิดย่อมแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วมาก เช่น ในช่วงที่สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 รุนแรง ก็มีคนที่เชื่อว่าโควิดเป็นเพียงเรื่องหลอกลวงไม่ใช่ความจริง เป็นต้น ดังนั้นระบบนิเวศที่ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ก็มีโอกาสเกิดเนื้อหาที่ดึงดูดผู้รับสาร แต่เป็นเนื้อหาที่นำไปสู่ความรู้สึกแบ่งแยกระหว่างปัจเจกบุคคล อาจส่งผลกระทบกับความขัดแย้งที่มีอยู่แล้ว กระตุ้นให้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งภารกิจของ HD คือการลดความรุนแรงและแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ หากย้อนไปเมื่อ 10 ปีก่อน เรื่องของระบบข้อมูลหรือระบบสารสนเทศอาจอยู่เบื้องหลัง แต่ปัจจุบันได้มาอยู่เบื้องหน้าแล้ว “เรามีการจัดการในการพลิกแพลงข้อมูลข่าวสารเหล่านี้ตลอดเวลา เราพยายามบิดเบือนข้อมูล หรือสร้างประทุษวาจา (Hate Speech) แพร่กระจายไป ฉะนั้นถ้าเกิดขึ้นไม่ว่าประเทศที่อาจจะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง ก็สามารถที่จะเข้ามาให้ข้อคิดเห็น แล้วก็ออกข่าวลวงมาได้ แล้วก็ไม่สามารถจะหยุดยั้งได้ เหมือนกับทำได้ตามสบายใจ ฉะนั้นความขัดแย้งใดๆ ก็ตามมันเริ่มขึ้นได้ง่าย แต่จะหยุดยั้งมันลำบาก ฉะนั้นการกระจายข้อความที่เป็นข้อมูลที่ผิดไป อาจทำให้เกิดความกระจายของความขัดแย้งอย่างมาก และรบกวนกระบวนการสันติภาพที่เราพยายามดำเนินการ” ผู้ช่วยผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ HD กล่าว ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ในการรายงานข่าวสงครามรัสเซีย-ยูเครน มักเป็นการรายงานพัฒนาการของเหตุการณ์ หรือเรื่องของความรุนแรง เช่น เทคโนโลยีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ถูกนำมาใช้ ความสูญเสียที่เกิดขึ้น โดยส่วนใหญ่จะมีกรอบอยู่กับนักข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศซึ่งเป็นแหล่งอ้างอิง เพราะไม่สามารถเข้าถึงเหตุการณ์จริงได้ แต่ไม่ค่อยได้เห็นการตรวจสอบจากหลายแหล่ง รวมถึงการวิเคราะห์ที่มา-ที่ไปและทางออกของเหตุการณ์ความรุนแรง โดยจากการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นข่าวสงครามรัสเซีย-ยูเครน จากสำนักข่าวในประเทศไทยที่เผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มยอดนิยมของคนไทยอย่างเฟซบุ๊ก เบื้องต้นพบ 4,512 โพสต์ นำมาคัดกรองเหลือ 3,000 โพสต์ที่เกี่ยวข้องจริงๆ ในจำนวนนี้แบ่งเป็น อันดับ 1 ผลกระทบ อันดับ 2 การรายงานสถานการณ์ อันดับ 3 การวิเคราะห์ในมิติต่างๆ และอันดับ 4 ข้อมูลที่เผยแพร่จากทางการรัสเซีย ส่วนประเด็นการเจรจาสันติภาพ มีการรายงานข่าวน้อยกว่า 4 อันดับแรกอยู่พอสมควร ทั้งนี้ การที่สื่อจะนำเสนอเน้นประเด็นใดก็ขึ้นอยู่กับทิศทางหรือจุดยืนของสำนักข่าวแต่ละแห่ง เช่น สื่อที่เน้นข่าวธุรกิจก็จะเน้นไปที่ประเด็นด้านเศรษฐกิจ ส่วนสื่อที่ในอดีตเรียกกันว่าหนังสือพิมพ์หัวสีจะเน้นนำเสนอประเด็นที่ปุถุชนคนทั่วไปสนใจ ตามหลักเสรีภาพแล้วไม่สามารถไปกำหนดได้ว่าสื่อควรเน้นประเด็นใด แต่ไม่ว่าจะนำเสนอเรื่องใดก็ต้องอยู่ในกรอบจริยธรรมสื่อด้วย ส่วนบทบาทขององค์การกำกับดูแลอย่าง กสทช. แม้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายจะว่าด้วยเรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่และการกำกับดูแล แต่เป้าหมายคือการทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ หมายถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและการแสดงออก อย่างไรก็ตาม สำหรับประเด็นข้อมูลบิดเบือน ที่ผ่านมา กสทช. ยังทำงานในส่วนนี้ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับเรื่องอื่นๆ ในขณะองค์กรกำกับดูแลทั่วโลกให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก แต่อีกมุมก็ต้องยอมรับว่า ระบบกฎหมายของไทยยังไม่เอื้ออำนวย “อย่างที่ทราบคือ กสทช. มีอำนาจกำกับดูแลแค่วิทยุ โทรทัศน์ และโทรคมนาคมในส่วนที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน คือ License (ใบอนุญาต) ก็เป็น License ในการประกอบกิจการให้บริการในการเข้าถึง (Access) แต่ในแง่ข้อมูลข่าวสารที่ไหลอยู่ในระบบที่เป็นออนไลน์ กสทช. ไม่ได้มีอำนาจ อันนั้นเป็น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ผู้ที่ถือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ คือกระทรวงดีอี (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) เราไม่ได้บอกว่าจะปฏิเสธ แต่เราก็คงต้องทำอย่างไรให้เกิดการลื่นไหลในแง่ของการกำกับดูแล ที่คงจะต้เองร่วมมือกันมากขึ้น” ศ.ดร.พิรงรอง กล่าว ผศ.ดร.วลักษณ์กมล จ่างกมล อาจารย์สาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี) กล่าวว่า การรายงานข่าวความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย อย่างสถานการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส) สื่อยังคงเน้นการเสนอข่าวเหตุความรุนแรงเป็นหลัก ทั้งที่ระยะหลังๆ จำนวนเหตุการณ์ลดลงไปจากเดิมมาก อีกทั้งกระบวนการเจรจาสันติภาพมีความคืบหน้าขึ้น ขณะเดียวกัน บทบาทของผู้สื่อข่าวที่ทำงานให้สื่อกระแสหลักลดลง โดยถูกแทนที่ด้วยการสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เช่น บล็อกเกอร์ เพจเฟซบุ๊ก แต่สิ่งที่พบคือ ช่องทางดังกล่าวจำนวนไม่น้อยถูกใช้เพื่อทำปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร หรือไอโอ (Information Operation-IO) ทั้งโดยฝ่ายรัฐและฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก เห็นได้จากยอดผู้ติดตามหรือแชร์โพสต์ที่มากกว่าสื่อหลักบางสำนักเสียอีก ผศ.ดร.วลักษณ์กมล จ่างกมล อาจารย์สาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี) นอกจากนี้ แม้โลกออนไลน์เป็นพื้นที่งอกงามทางความคิดซึ่งเอื้อต่อการเข้ามาของนักสื่อสารรุ่นใหม่ๆ แต่ก็พบว่า การนำเสนอเรื่องราวของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มักจะเน้นกันอยู่ที่ 2 ด้าน ด้านหนึ่งคือข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรง ส่วนอีกด้านหนึ่งคือข่าวสารเชิงบวก อาทิ การพัฒนาเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว วิถีชีวิตและวัฒนธรรม ในขณะที่การวิเคราะห์หาสาเหตุของความขัดแย้งและการคลี่คลายจนนำไปสู่สันติภาพ เป็นประเด็นที่หายไปทั้งในสื่อท้องถิ่นหรือแม้กระทั่งสื่อส่วนกลาง “เราอยากเห็นสื่อมวลชนทำหน้าที่อะไรในภาวะความขัดแย้ง ยังไม่ต้องไปถึงรัสเซีย-ยูเครน เรื่อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นี่คือสิ่งที่เราอยากเห็น เรายังไม่เห็นพื้นที่การคลี่คลายความจริง ยังไม่เห็นพื้นที่ของการที่จะนำเสนอ พยายามที่จะ Set Agenda (กำหนดวาระ) บางอย่าง จริงๆ อยากให้สื่อช่วย Set Agenda เรื่องการพูดคุยสันติภาพ เพราะในเรื่องการพูดคุยสันติภาพ ถ้าในแง่ของ Peace Journalism (วารสารศาสตร์เพื่อสันติภาพ) มันเป็นข่าวที่เชื่องช้า น่าเบื่อ เป็นข่าวที่ไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไร ไม่รู้ว่าคำตอบคืออะไร แต่ถ้าสื่อช่วย Set Agenda บอกว่ามันสำคัญ บอกว่าเราต้องให้ความสนใจ บอกว่านี่คือทางออกของความขัดแย้ง มันก็สามารถช่วยได้” ผศ.ดร.วลักษณ์กมล กล่าว น.ส.ฐิตาภา สิริพิพัฒน์ นักข่าวอิสระ และ ที่ปรึกษา AI Company กล่าวว่า จากประสบการณ์เป็นผู้สื่อข่าวในสังกัดสถานีโทรทัศน์อยู่หลายปี การขอออกไปทำข่าวในพื้นที่ เช่น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะต้องตอบคำถาม เช่น ทำแล้วจะได้เรตติ้งหรือไม่ ไปแล้วใช้งบประมาณท่าไร สถานีจะได้อะไรจากการส่งผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ จะได้ตามเป้าหมายหรือไม่ ต้องใช้เวลาเท่าใดกว่าจะได้ เป็นต้น จนบทสรุปคืออยู่อ่านข่าวและทำข่าวในกรุงเทพฯ ดีกว่า ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าสื่อโทรทัศน์ต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง มีการลงทุนอุปกรณ์ราคาแพง การทำข่าวก็ต้องไปกันเป็นทีม มีทั้งผู้สื่อข่าว ช่างภาพ ผู้ช่วยช่างภาพ รวมถึงต้องจ้างผู้สื่อข่าวในท้องถิ่นนั้นๆ มาช่วย และหากต้องการได้ข้อมูลเชิงลึกก็อาจต้องฝังตัวในพื้นที่กันยาวนานแรมเดือนแรมปี แต่ไม่มีอะไรรับประกันว่าผลงานที่ออกมาจะสร้างเรตติ้งให้สถานีได้ โดยเฉพาะในยุคทีวีดิจิทัลที่มีสถานีเกิดขึ้นพร้อมกันนับสิบช่อง บวกกับกว่าจะได้ช่องมาต้องเสียเงินไปมากกับการประมูลใบอนุญาต จึงไม่ผิดที่ผู้ประกอบการจะกังวลกับเรื่องการได้ทุนคืน น.ส.ฐิตาภา สิริพิพัฒน์ นักข่าวอิสระ และ ที่ปรึกษา AI Company “เชื่อว่านักข่าวหลายคนในยุคนี้อยากจะไปยูเครน อยากจะลงไปใต้ ไปทำ Content (เนื้อหา) เองเลย แต่โดนปฏิเสธไม่ให้ไป เพราะฉะนั้นมันก็เป็นโจทย์หลักๆ ที่นักวิชาการหรือสื่อรุ่นใหญ่อาจจะต้องมองในจุดนี้ ตราบใดที่ว่ามันไม่ใช่เรื่องของสวัสดิภาพเราอย่างเดียว สังกัดเราก็ไม่สามารถรับปากได้ว่าจะดูแลเราไปตลอดชีวิต หรือแม้แต่ว่าไม่ได้ Support (สนับสนุน) เราขนาดนั้น สุดท้ายเราสู้ไม่ได้อยู่ดี อิจฉาคนที่ทำสื่อรุ่นก่อนที่มีคู่แข่งน้อยมากๆ เขาถึงได้มาในชื่อฐานันดรที่ 4 เพราะเขาทำอะไรได้หลายอย่าง แล้วเขามีอำนาจต่อรองสูง แต่สมัยนี้ไม่มีคำว่าฐานันดรที่ 4 แล้ว ใครมาพูดว่าสมัยนี้สื่อคือฐานันดรที่ 4 เราเถียงใจขาด เพราะรู้สึกว่าตัวเองไมได้ Privilege (เป็นคนพิเศษ) อะไรเลย ที่สำคัญตอนเป็นสื่อทีวีก็รู้สึกว่าตัวเองไม่ค่อยได้ Privilege อยู่แล้วนะ แต่พอไปทำสื่ออิสระ กลายเป็นฐานันดรที่เท่าไรก็ไม่รู้ คนไม่ Welcome (ต้อนรับ) คุณมาจากอะไร คูณเป็นใคร” น.ส.ฐิตาภา กล่าว นายธีรนัย จารุวัสตร์ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ จะพบการ “ดัก-ปั่น” ซึ่งจุดเริ่มต้นเป็นเพียงเรื่องตลกล้อเลียนกัน แต่ในเวลาต่อมาดูเหมือนจะแยกไม่ออกว่าอะไรเป็นการดักและอะไรเป็นเรื่องจริง เช่น ฝ่ายหนึ่งสร้างเรื่องขึ้นมาว่าคนของฝ่ายตรงข้ามพูดอะไรที่ดูโง่มาก แล้วก็มีผู้หลงเชื่อ ทั้งที่จริงๆ แล้วเจ้าตัวไมได้พูด ที่ผ่านมาจึงต้องพยายามเตือนคนรอบข้างให้ลด-ละการดักหรือปั่นแบบนี้ เพราะเริ่มไม่รู้กันแล้วว่าอะไรจริง-ไม่จริง ส่วนการทำหน้าที่ของสื่อซึ่งถูกคาดหวังให้ทำหน้าที่ตรวจสอยข้อเท็จจริง (Fact Check) ก่อนเผยแพร่ ก็ยังพบสื่อไทยบางสำนักหลุดเสนอข่าวปลอมหรือข้อมูลผิดพลาดออกมาอยู่บ้าง โดยมีต้นทางจากโลกออนไลน์แต่สื่อไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนเผยแพร่ เช่น ข่าวสงครามรัสเซีย-ยูเครน แทนที่จะเลือกแปลข่าวโดยอ้างอิงจากสำนักข่าวต่างประเทศที่มีความน่าเชื่อถือและมีการส่งผู้สื่อข่าวลงพื้นที่จริง กลับไปเลือกแปลเนื้อหาจากบุคคลซึ่งอ้างว่าเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองบ้าง นักวิชาการอิสระบ้าง ที่อยู่ในสื่อสังคมออนไลน์ เป็นต้น นายธีรนัย จารุวัสตร์ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย “อันนี้เป็นข้อเสนอส่วนตัว อยากให้สื่ออย่ามองเรื่องยูเครนเป็นกีฬา หรือเป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่าง 2 มหาอำนาจ แทนที่จะดูเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างเดียว อยากจะให้ Focus (มุ่งเน้น) เรื่องมนุษยธรรม เรื่องให้เห็นความโหดร้ายของสงคราม มันไม่ใช่แค่ตัวเลขว่าเศรษฐกิจปีนี้จะโตเท่าไรหรือจะหดเท่าไร ไม่ใช่ว่าน้ำมันจะขายได้ไหม เราจะมีนักท่องเที่ยวมามาก-น้อยแค่ไหน อยากให้เน้นเรื่องนี้ว่าประชาชนที่เขาเจอผลกระทบสงครามเขาอยู่กันลำบากอย่างไร มันโหดร้ายอย่างไร มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างไร ให้ประชาชนที่ผมรู้สึกว่าไม่ว่าจะเป็นชนชาติไหน พอมาเห็นเรื่องราวสิ่งที่มนุษย์ด้วยกันโดนกระทำ อันนี้มันจะเป็นอารมณ์ร่วม แล้วสุดท้ายก็อาจเป็นชื่อหัวข้อของงานนี้ Truth and Peace (ความจริงและสันติภาพ) สื่อจะนำเสนอข้อเท็จจริงเรื่องสงคราม สิ่งที่ประชาชนเจอจริงๆ ในยูเครน สุดท้ายมันทำให้คนเห็นสงครามว่ามันไม่ใช่กีฬา มันไม่ใช่การแสดงแสนยานุภาพ โห!..มิสไซล์ยิงจากเรือดำน้ำ ดูตื่นเต้น มันเป็นเรื่องชีวิตคนจริงๆ สุดท้ายอาจจะทำให้คนหันมาสนใจสันติภาพมากขึ้นก็ได้” นายธีรนัย กล่าว นายกวี จงกิจถาวร กรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวว่า นับตั้งแต่การประชุมที่ประเทศนามิเบีย เมื่อ 30 ปีก่อน ซึ่งเป็นที่มาของวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกโดยยูเนสโก ปัจจุบันก็ยิ่งมีการพูดถึงกันมากว่า ยิ่งสื่อสังคมออนไลน์มีบทบาทกับสงครามข่าวสารมากขึ้นเท่าใด ยิ่งมีความจำเป็นในการรักษาชีวิตคนทำสื่อแบบดั้งเดิมมากเท่านั้น เพราะคนเหล่านี้ยังตรวจสอบข้อมูลข่าวสาร ไม่ได้อาศัยแต่ความรวดเร็ว แต่ท่ามกลางการแข่งขันบนพื้นที่ออนไลน์ ก็จะพบเห็นบรรดาผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ หันมาตรวจสอบข้อมูลข่าวสารกันมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะในเหตุการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่มีการต่อสู้กันทุกรูปแบบและแทบจะทุกวินาทีอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน จากขีดความสามารถของทั้ง 2 ชาติที่ไม่ด้อยไปกว่ากัน จึงเป็นความท้าทายของสื่อมวลชนไทย ซึ่งสังคมไทยเปิดรับสื่อทุกชนิดแต่ไม่มีการคัดกรอง หน้าที่ของสื่อจึงไม่ควรรีบด่วนตัดสินใจจากข้อมูลที่ได้มาในทันที ส่วนประเด็นวารสารศาสตร์เพื่อสันติภาพ แม้จะมีการพูดถึงกันมา 20-30 ปีแล้ว แต่ในบริบทของประเทศไทยยังไม่เคยปรากฏ เพราะเป็นเรื่องพูดง่ายแต่ทำยาก ซึ่งตัวอย่างจากสถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจากฝ่ายรัฐ จากภาคประชาสังคม (NGO) จากพื้นที่ จากส่วนกลาง และอื่นๆ เป็นสิ่งที่ผู้นำเสนอข่าวต้องรับผิดชอบหากนำเสนอโดยไม่ผ่านการตรวจสอบ หรือผู้สื่อข่าวบางคนเข้าใจว่าตรวจสอบแล้วจากหลายแหล่ง แต่เอาเข้าจริงหลายแหล่งที่ว่าก็มาจากต้นตอที่ผิดซึ่งเป็นแหล่งข่าวเดียวกัน ในพื้นที่ชายแดนใต้จะพบเรื่องแบบนี้เสมอ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือต้องให้ความรู้กับคนเป็นผู้สื่อข่าว ซึ่งหมายถึงการปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย รวมถึงต้องให้เวลาผู้สื่อข่าวทำความเข้าใจกับภูมิหลังของแต่ละเรื่องราวที่ตนเองต้องไปทำข่าว เช่น ปัญหาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Climate Change) โครงการรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว ฯลฯ ไม่ใช่สั่งงานให้นักข่าวหนึ่งคนต้องทำข่าวได้ทุกเรื่อง ประเภทวันหนึ่งวิ่งวนไปทั้งกระทรวงการคลัง รัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล ฯลฯ กองบรรณาธิการก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิดด้วย “Peace Journalism เกิดขึ้นไมได้เพราะบรรณาธิการข่าวคิดอย่างเดียวว่าพรุ่งนี้จะต้องเอาข่าว Dramatic (ดรามา-เร้าอารมณ์) ขึ้นก่อน ตามจริงแล้วที่ยูเนสโกเขามีการวางแผน บังเอิญผมเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย เขาบอกว่าจำเป็นที่จะต้องให้ความรู้นักข่าว 4 ปี ไม่ใช่เกี่ยวกับข่าว Investigative Report (การรายงานเชิงสืบสวนสอบสวน) ให้ข่าวความรู้ General Knowledge (ความรู้ทั่วไป) Liberal Arts (ศิลปศาสตร์) ความสำคัญของวัฒนธรรม ความสำค้ญของประวัติศาสตร์ เพื่อที่นักข่าวจะได้มีความรอบรู้ที่ครบถ้วน เวลาเขาไปถึงที่สถานการณ์จะได้เข้าใจบริบทต่างๆ รู้มิติทางด้านสังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ แล้วก็ชาวบ้าน แล้วก็ค่อยมาประมวล ไม่ใช่ส่งมาจากหน่วยกลางปุ๊บ เข้าไปถึงเขียนใหญ่เลย” กรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าว ที่มา:โคแฟค (ประเทศไทย)