มูลนิธิแก้ไขปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ (มปอ.) ร่วมกับ Bangkok Motorbike Festival ปลุก "พลังของคำว่าไม่" ของการดื่มแล้วขับ  ชูแคมเปญระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การรณรงค์และส่งเสริมพฤติกรรมที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการดื่ม การขับรถ ตั้งเป้าลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ชี้เป็นสาเหตุสำคัญเกิดความสูญเสียทางถนนในหมู่ผู้ขับขี่-ผู้ดื่มหน้าใหม่ วันที่ 31  มี.ค.65  คุณปริญ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานมูลนิธิแก้ไขปัญหา การดื่มแอลกอฮอล์ (มปอ.) เปิดเผยว่า  หนึ่งในประเด็นสำคัญที่คนรุ่นใหม่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน คือ ความเสี่ยงของอุบัติเหตุบนท้องถนนและการบาดเจ็บที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อุบัติเหตุบนท้องถนนในแต่ละวันได้คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 2,000 คน ถึง 1 ใน 3 มีความเกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และผู้ที่มีความเสี่ยงสูงสุด คือ คนรุ่นใหม่ที่อายุน้อย และอยู่ในช่วงกำลังเริ่มต้นชีวิต ในประเทศไทย เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถิติสำคัญ คือ ร้อยละ 34 ของการบาดเจ็บ จากอุบัติเหตุทางถนนของเพศชายมีส่วนเกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และร้อยละ 15 ของการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนของเพศหญิงมีส่วนเกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  คุณปริญ กล่าวว่า ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ 3 มีเป้าหมายเพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนท้องถนนลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2573  และเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้มูลนิธิแก้ไขปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ (มปอ.)  และ Bangkok Motorbike Festival ร่วมมือกันเพื่อเปิดตัว The Power of No ซึ่งเป็นแคมเปญดิจิทัลในการรณรงค์ เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการดื่มไม่ขับ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้นักดื่มหน้าใหม่อายุระหว่าง 21-30 ปีในประเทศไทย ได้ร่วมแสดงพลังของการสร้างความปลอดภัยบนท้องถนน การดื่มแล้วขับไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของความเป็นหรือความตายสำหรับใครคนใดคนหนึ่ง แต่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศกำลังพัฒนาทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งการใช้ยานยนต์อย่างรวดเร็วแซงหน้าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานถนนที่ปลอดภัย ทำให้ภูมิภาคนี้ต้องเผชิญกับอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนที่สูงเป็นอันดับสองของโลก (ที่ผู้เสียชีวิตจำนวน 20.7 คน ต่อจำนวนประชากร 100,000 คน) ซึ่งสามารถสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจได้ถึงร้อยละ 3-6 ของ GDP ต่อปีของประเทศ   สำหรับแคมเปญ The Power of No เป็นส่วนหนึ่ง ของการรณรงค์ระดับภูมิภาคที่จะมีการดำเนินการพร้อมกันในอีก 5 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และเวียดนาม โดยมีเป้าหมายเพื่อเข้าถึงนักดื่มหน้าใหม่จำนวน 10 ล้านคนใน 6 ประเทศ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายร้ายแรงของการดื่มแล้วขับ ซึ่งจะช่วยให้คนกลุ่มนี้มีการตัดสินใจ ภายใต้การมีข้อมูลที่ดีขึ้น และสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขาไปสู่วัฒนธรรมการดื่มที่มีความรับผิดชอบ มากขึ้นในพื้นที่และชุมชนของตัวเอง ประธานมูลนิธิแก้ไขปัญหา การดื่มแอลกอฮอล์ (มปอ.) กล่าวอีกว่า ในเดือนมี.ค.นี้แคมเปญ The Power of No ภายใต้การนำของสมาคมยานยนต์แห่งเวียดนาม (AA Vietnam) ซึ่งเป็นสมาชิกสหพันธ์รถยนต์ระหว่างประเทศ (FIA) จะถูกรณรงค์ส่งต่อเผยแพร่บนโซเชียลมีเดีย เพื่อสร้างมาตรฐานของคำว่า 'ไม่' สำหรับรุ่นใหม่ และช่วยให้พวกเขาค้นพบพลังที่พวกเขา มีที่มีอิทธิพลต่อบรรทัดฐานในการดื่มและการขับรถ ช่วงแรกของแคมเปญจะเป็นวิดีโอทีเซอร์ โฆษณา และเนื้อหาอื่นๆ เป็นเวลา 6 สัปดาห์บนหน้า Facebook ของแคมเปญในแต่ละประเทศ โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างการการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ในพลังของคำว่า “ไม่” ของการดื่มแล้วขับโดยได้รับการร่วมมือสนับสนุนจากมูลนิธิแก้ไขปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ (มปอ.) ที่เล็งเห็น ถึงความสำคัญของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากการเมาแล้วขับ อันเป็นเป้าหมายที่สอดคล้องกับแคมเปญ “ปลุกพลังของคำว่าไม่” เพื่อหวังรณรงค์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากพลังของคนรุ่นใหม่ด้วยเช่นกัน   “หน้าที่ของเรา คือ การสร้างความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และผลกระทบ ของการดื่มอย่างขาดความรับผิดชอบ เพื่อมุ่งเน้นที่จะลดปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ การดื่มเมาแล้วขับเป็นประเด็นสำคัญที่ มปอ. ให้ความสำคัญและมุ่งมั่นที่จะร่วมแก้ปัญหานี้ ในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง" ประธานมูลนิธิแก้ไขปัญหา การดื่มแอลกอฮอล์ (มปอ.) กล่าว