วันพฤหัสบดีที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์กระแส ชนะวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกริกได้มอบหมายให้ รองศาสตราจารย์สุพัฒน์ ธีรเวชเจริญชัย รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ และคณะ ประกอบด้วย ดร.พัชราวดี ตรีชัย คณบดีคณะบริหารธุรกิจ อาจารย์กัปตัน อำพล ขำวิลัย ผู้ช่วยประธานกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยเกริก ฝ่ายวิเทศน์สัมพันธ์ อาจารย์ยิ่งศักดิ์ สิทธิยากร ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ อาจารย์ ดร.สมีธ อีซอ ผู้อำนวยการหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาบริหารธุรกิจอิสลาม อาจารย์สราวุธ และซัน หัวหน้าสาขาวิชาบริหารธุรกิจอิสลาม อาจารย์ชนิดาภา หนูนวลวุฒิวงศ์ หัวหน้าสาขาวิชาการจัดการธุรกิจการบิน อาจารย์อำพล ตระการฤกษ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาบริหารธุรกิจอิสลาม อาจารย์ฮัสซาน หมีดเส็น ผู้ประสานงานนักศึกษาอาหรับมุวัลลัด อาจารย์อรวรรณ บุญมาเลิศ เลขานุการฯ คุณศรสวรรค์ มะหะหมัด เลขานุการฯ และตัวแทนนักศึกษามหาวิทยาลัยเกริก เพื่อเข้าเยี่ยมคารวะอาจารย์อาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี โดยมอบให้อาจารย์ประสาน ศรีเจริญ รองประธานผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี และรองประธานกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เป็นผู้แทนจุฬาราชมนตรี ในการต้อนรับและรับมอบทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีแก่เยาวชนไทย จำนวน 250 ทุน (รุ่นที่ 2) ปีการศึกษา 2565 ทั้งนี้มีอาจารย์สุธรรม บุญมาเลิศ เลขานุการจุฬาราชมนตรี และอาจารย์สมชาย เจ๊ะวังมา รักษาการผู้อำนวยการสำนักจุฬาราชมนตรี ร่วมให้การต้อนรับในครั้งนี้ด้วย อาจารย์ประสาน ศรีเจริญ ผู้แทนจุฬาราชมนตรี กล่าวต้อนรับผู้บริหาร คณาจารย์ และนักศึกษาทุนจุฬาราชมนตรีทุกท่าน และขอขอบคุณมหาวิทยาลัยเกริก ที่ให้ความสำคัญด้านการศึกษาของเยาวชนไทย ซึ่งปีนี้ถือเป็นปีที่ 2 เป็นการขยายโอกาสเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว จำนวน 50 ทุน ในปีนี้ปรับเพิ่มถึง 250 ทุน ในปัจจุบันสาขาวิชาบริหารธุรกิจอิสลาม มีกระแสตอบรับในสังคมที่ดีมาก ทั้ง 3 วิชาเอก ได้แก่ การเงินอิสลาม การจัดการบริการฮัจย์และอุมเราะห์ และอุตสาหกรรมฮาลาล ซึ่งเป็นธุรกิจเกี่ยวกับอิสลามที่อยู่คู่กับสังคมและเจริญเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง สร้างเศรษฐกิจไทยให้มั่นคงอย่างยั่งยืน รองศาสตราจารย์สุพัฒน์ ธีรเวชเจริญชัย รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ กล่าวถึงความร่วมมือที่ดีงามระหว่างมหาวิทยาลัยเกริกและสำนักจุฬาราชมนตรี ครบรอบ 1 ปี ที่เจริญงอกงาม พัฒนาด้านวิชาการขยายโอกาส โดยเปิดหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาบริหารธุรกิจอิสลาม ซึ่งได้รับการอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยแล้ว โดยในขณะนี้กำลังดำเนินการจัดทำหลักสูตรปริญญาเอกในสาขาดังกล่าวด้วย นอกจากนี้ทางมหาวิทยาลัยได้เตรียมความพร้อมจากการฟื้นสัมพันธ์ระหว่างไทย และซาอุดิอาระเบีย เพื่อจัดตั้ง Bangkok Arabic Language Center ศูนย์ภาษาอาหรับกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก ซึ่งจะเป็นศูนย์ภาษาอาหรับแห่งแรกและแห่งเดียวในสถาบันอุดมศึกษาภาคกลางของประเทศไทย โดยจะมีทั้งศุนย์ทดสอบทักษะภาษา และศูนย์อบรมภาษาอาหรับในวิชาชีพต่างๆ อาทิเช่น ภาษาอาหรับเพื่อธุรกิจ ภาษาอาหรับเพื่อการทูต ภาษาอาหรับเพื่อการแพทย์ และอื่นๆ เป็นต้น ดร.พัชราวดี ตรีชัย คณบดีคณะบริหารธุรกิจ เปิดเผยว่า เราพร้อมให้การสนับสนุนสาขาวิชาบริหารธุรกิจอิสลาม เพื่อสนองต่อความต้องการของนักศึกษา และพร้อมผลักดันให้ขยายศักยภาพสู่การเป็นวิทยาลัย ที่เต็มไปด้วยนักวิชาการอิสลาม และเผยแพร่ความรู้ที่สอดคล้องด้านบริหารธุรกิจ นวัตกรรม กับด้านศาสนาอิสลามอย่างลงตัว อาจารย์สราวุธ และซัน หัวหน้าสาขาวิชาบริหารธุรกิจอิสลาม กล่าวว่า ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเกริก ได้อนุมัติให้คณะเดินทางเยือนประเทศซาอุดิอาระเบียในวันที่ 21 -28 กุมภาพันธ์ 2565 เพื่อสร้างความสัมพันธ์และทำความร่วมมือทางวิชาการ กับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการทำความร่วมมือ MOU กับบริษัทเอกชน เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ไปฝึกงานและทำงานที่ประเทศซาอุดิอาระเบียต่อไป นอกจากนี้ ตัวแทนนักศึกษาทุนจุฬาราชมนตรี รุ่นที่ 1 นางสาวกิตติมา อรุณพูลทรัพย์ และนายอภิสิทธิ์พยายาม กล่าวขอบคุณสำนักจุฬาราชมนตรีและมหาวิทยาลัยเกริก ที่มอบโอกาสทางการศึกษาให้กับเยาวชน และดีใจมากที่ได้รับโอกาสนี้ ในการเรียนสาขาวิชาบริหารธุรกิจอิสลาม สามารถนำความรู้ไปต่อยอด และเข้าสู่การทำงานได้จริง อาจารย์สุธรรม บุญมาเลิศ เลขานุการจุฬาราชมนตรี กล่าวชื่นชมมหาวิทยาลักเกริกเป็นแบบอย่างที่ดี แสดงให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในเวลานี้ ท่ามกลางกระแสที่มีกลุ่มคนออกมาให้ข่าวเฟกนิวส์ สร้างความเข้าใจที่ผิดกับบทบัญญัติที่ถูกต้อง ช่วงท้ายเป็นพิธีปฐมนิเทศผู้มีสิทธิ์สอบทุนจุฬาราชมนตรี รุ่นที่ 2 ซึ่งมีผู้สนใจสมัครเข้ามากว่า 300 คน โดยได้อธิบายขั้นตอนการสอบออนไลน์ผ่านระบบ LMS ของมหาวิทยาลัย และการสอบสัมภาษณ์ในลำดับต่อไป