วันที่ 12 ม.ค.65 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม กรุงเทพฯ นายประหยัด ทองทา ที่ปรึกษาสำนักงาน กศน. ด้านการพัฒนาหลักสูตรการศึกษานอกระบบ พร้อมด้วยนางเอื้อมพร สุเมธาวัฒนะ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา เข้าเยี่ยมชมและให้กำลังใจคณะครูและบุคลากร สังกัดสำนักงาน กศน ในการอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรด้านการจัดการเรียนรู้ออนไลน์ รุ่นที่ 2 ( 7,10-13 ม.ค.65) โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อำนาจ สวัสดิ์นะที คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ วิทยาก ข้าราชการและผู้เข้ารับการอบรมให้การต้อนรับ นายประหยัด กล่าวว่าการจัดการเรียนรู้ในปัจจุบัน ต้องยอมรับว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยเครื่องมือและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเข้ามาเสริมแรง จะอาศัยเนื้อหาหรือการท่องจำอย่างเดียวคงไม่ได้ ครูผู้สอนและนักเทคโนโลยีการศึกษาต้องจับมือ ร่วมกันแสวงหาข้อมูลรอบด้าน เพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์รูปแบบการเรียนรู้ใหม่ๆ ผ่านการนำเสนอในรูปแบบที่เข้าใจง่าย ทันสมัยสอดคล้องและทันต่อการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคใหม่ในหลายๆด้าน อันจะเป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนมีความเข้าใจ สามารถต่อยอดความรู้ได้อย่างมีคุณภาพ ขอชื่นชมผู้อำนวยการและคณะทำงานกลุ่มพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา รวมทั้งคณะวิทยากรจากมหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม เป็นอย่างยิ่งที่ได้ผลักดัน พัฒนาหลักสูตรที่น่าสนใจ ตอบโจทย์การจัดการเรียนรู้ในยุคดิจิทัลได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ต้องปรับเปลี่ยนการจัดการเรียนการสอนให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพภายใต้ข้อจำกัดในหลายๆด้าน ขอเป็นกำลังใจให้คุณครูและผู้ที่เข้าอบรมทุกท่าน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านจะเก็บเกี่ยวและนำความรู้ที่ได้ไปขยายผลและพัฒนางานได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป นางเอื้อมพร กล่าวว่าการพัฒนาหลักสูตรและจัดอบรมนี้ เราเน้นที่การเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงในทุกๆโมดูลในมิติของการพัฒนาสื่อและเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ออนไลน์สำหรับครูผู้สอน เพราะการจัดการศึกษาในวันนี้ ต้องยอมรับว่าโลกเปลี่ยนแปลงไปแล้ว โดยเฉพาะการศึกษาในปัจจุบัน ที่เราต้องคำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในด้านจำนวนประชากร ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี รวมทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนทุกช่วงวัย จึงเป็นความจำเป็นต้องปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีรู้ เปลี่ยนกระบวนการจัดการเรียนรู้และรูปแบบการเรียนการสอน มาเป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้สามารถสร้างความรู้ด้วยตนเอง (Active Learning) โดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางและสนับสนุนให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการสร้างการเรียนรู้ ผ่านการพัฒนากระบวนการเรียนรู้โดยใช้สื่อและเทคโนโลยีมาเป็นตัวช่วยเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ เกิดคุณภาพและสร้างแรงจูงใจให้เกิดทักษะตรงตามวัตถุประสงค์ตลอดจนความต้องการของกลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุด ทั้งนี้ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการจัดกระบวนการเรียนรู้ในรูปแบบ Active Learning คือ ผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ มีสมรรถนะด้านการจัดการเรียนรู้ การออกแบบการเรียนรู้ โดยพัฒนาและใช้สื่อ เทคโนโลยีที่เหมาะสม รวมทั้งการจัดกิจกรรมต่างๆ ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนมีความรู้และมีทักษะ ผ่านการทำกิจกรรมที่หลากหลาย มีส่วนร่วมในทุกกระบวนการเรียนรู้ เกิดความกระตือรือร้นที่จะใฝ่รู้ สามารถใช้องค์ความรู้ผลิตผลงานหรือสร้างสรรค์สื่อ/นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต และสอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ได้