ขบวนการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ เพื่อเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงและสิทธิด้านต่าง ๆ เป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงวิกฤติความเชื่อมั่นและมุมมองที่พวกเขามีต่อคนรุ่นก่อน ยิ่งนับวันช่องว่างระหว่างเจนเนอเรชั่นก็ยิ่งแยกห่างออกจากกัน นำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งในสังคมมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากที่ผ่านมาเรายังไม่มีพื้นที่เปิดกว้างเพื่อการพูดคุย และเรียนรู้ถึงความแตกต่างของกันและกันอย่างเป็นรูปธรรม สิ่งนี้ทำให้เกิดเวทีสาธารณะว่าด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 10 โดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ที่จัดให้ผู้เรียนหลักสูตร RoLD Program (Rule of Law and Development Program) ซึ่งประกอบด้วยผู้คนหลากหลายแวดวงและช่วงวัย มาร่วมระดมความคิดหาหนทางแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและความเป็นธรรมในสังคมไทย โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ มาช่วยให้แนวทางในการดำเนินโครงการศึกษาประเด็นที่น่าสนใจ เพื่อหาหนทางแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในสังคมที่เป็นอยู่ -วิเคราะห์ปมขัดแย้งในสังคมไทย ประเด็นความแตกต่างระหว่างเจเนอเรชั่น ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดกันอย่างกว้างขวางในสังคมไทย แต่ละคนมีสมมติฐานและคำอธิบายต่อเรื่องนี้แตกต่างกันไป ทางด้าน ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการ ศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลองแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้วิเคราะห์ปรากฏการณ์นี้ในมุมนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม โดยแบ่งผู้คนโดยคร่าว ๆ ออกเป็นคนอายุน้อยกว่า 25 ปี กับคนอายุมากกว่า 55 ปี คนอายุน้อยมองว่า “ความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติ” เมื่อมีความเห็นต่างกัน จะนำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ ความร่วมมือ และเสรีภาพ ในขณะที่คนอายุมากกว่า 55 ปี กลับมองว่า “ความขัดแย้งคือปัญหา” รวมถึงความวุ่นวาย ความไม่สามัคคี ความรุนแรง คนรุ่นใหม่มองความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติ มันจูงใจให้พวกเขาเดินเข้าไปหาเพื่อทำการแก้ไข ในขณะที่กลุ่มคนอายุมาก มีวิธีจัดการความขัดแย้งด้วยการหลีกเลี่ยงปัญหา หรือใช้อำนาจบางอย่างเข้าไปจัดการ หากมองในอีกมิติ โจทย์ของคนรุ่นใหม่มองเรื่องความขัดแย้งเป็นเรื่องระดับโครงสร้าง ส่วนคนอายุมากกว่าจะมองว่าเป็นเรื่องบุคคลกับบุคคล ถ้าเป็นเรื่อง “ความสามัคคี” กลุ่มคนอายุมากมีคำตอบเหมือนกันว่า “สามัคคีคือพลัง” ในขณะที่คนรุ่นใหม่มองว่า “สามัคคีคือทำงานร่วมกันได้” และถ้าเป็นเรื่อง “ความสมานฉันท์” คนอายุมากมองว่าคือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่เมื่อถามคนรุ่นใหม่ส่วนมากกลับไม่มีคำตอบ และมีส่วนน้อยตอบว่าเป็นเรื่อง “ประชามติ” ความคิดเห็นของคนสองกลุ่มไม่มีใครผิดหรือถูก มันเกิดจากมุมมองที่แตกต่างกันในเรื่องโครงสร้างกับปัจเจก ความแตกต่างของมุมมองนี้ เกิดจากการหล่อหลอมมาในช่วงเวลาที่คนสองกลุ่มนี้เติบโตขึ้นมา หากมองย้อนบริบททางการเมืองกลับไป จะเห็นว่ากลุ่มคนอายุน้อยกว่า 25 ปี ที่ทางจิตวิทยา เด็กจะเริ่มรับรู้สถานการณ์ภายนอกตอนอายุ 7 ปี ตอนนั้นพวกเขาอยู่ในช่วงปลายยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และในปัจจุบันพวกเขาอยู่ในรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ช่วงชีวิตของพวกเขาผ่านการเปลี่ยนแปลงมาหลายรัฐบาล ด้วยการปกครองหลายรูปแบบ พวกเขาจึงมองความเปลี่ยนแปลงว่าเป็นเรื่องปกติ และมีความเชื่อว่าเมื่อต้องการอะไร การรวมตัวมากพอจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ เปรียบเทียบกับคนอายุ 55 ปี ซึ่งเริ่มต้นรับรู้สถานการณ์ภายนอกในวัยเด็ก คือช่วงรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร จนถึง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นับเป็นยุคที่มีความรุนแรงทางการเมืองสูงมาก มีการต่อสู้ทางอุดมการณ์ทางการเมือง ทำให้พวกเขาเรียนรู้ว่าการมีผู้นำที่สามารถดูแลประเทศให้สงบได้คือทางออก ทั้งหมดคือที่มาว่าทำไมเด็กรุ่นใหม่ถึงสนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง และยอมรับได้กับความขัดแย้ง ในขณะที่คนอายุมากเชื่อในตัวบุคคลและเห็นความขัดแย้งเป็นปัญหา อย่างไรก็ตาม แม้มีความแตกต่างกันในนิยาม แต่เราก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ มองว่าส่วนหนึ่งปัญหาคือการขาดพื้นที่ สำหรับสร้างความเชื่อใจของคนสองกลุ่มได้อย่างเป็นรูปธรรม การแก้ปัญหา Trust Crisis ของคนต่างรุ่น จึงต้องเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิผล (Participation) และมีระบบที่โปร่งใส (Transparency) ถ้าเป็นภาษาไทย 2 คำ คือการร่วมทุกข์ร่วมสุข และใจเขาใจเรา -หาจุดร่วมผสาน สร้างการเปลี่ยนแปลง ความแตกต่างทางความคิดของคนต่างวัย ในมุมของ ดร.พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล ผู้จัดการโครงการ มูลนิธิฟรีดริช เนามัน เพื่อเสรีภาพ ประเทศไทย อธิบายถึงขั้นตอนการศึกษาของผู้เข้าร่วมหลักสูตร RoLD2020: The Resilient Leader ในหัวข้อเรื่อง “Let’s Get Together #คิดต่างไม่เห็นเป็นไร” เริ่มจากการแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็นสามช่วงวัย ได้แก่ รุ่นเล็กอายุ 18-34 ปี รุ่นกลางอายุ 35-54 ปี รุ่นใหญ่อายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป แล้วใช้วิธีการรวบรวมข้อมูลหลายแบบ เช่น การสัมภาษณ์ การทำการสำรวจ โดยตั้งคำถามสองประเด็นหลัก คือ ลักษณะร่วมที่สำคัญในแต่ละรุ่น และความเห็นต่อประเด็นทางสังคม -ลักษณะร่วมที่สำคัญในแต่ละรุ่น กลุ่มอายุ 18-34 ปี มีลักษณะร่วม คือเติบโตท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สังคมแห่งการแบ่งขั้ว สภาวะทางเศรษฐกิจมีความท้าทาย รวมถึงกระแสดิจิทัลดิสรัปชั่น และเข้าถึงสื่อที่มีเนื้อหาหลากหลาย ที่สำคัญคนกลุ่มนี้เชื่อในระบบที่ดี สังคมที่ดี แต่ไม่เชื่อในตัวบุคคล กลุ่มอายุ 35-54 ปี ที่เป็นรุ่นรอยต่อ เริ่มมีความตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น มองเห็นจุดเริ่มต้นของเทคโนโลยี สภาวะทางเศรษฐกิจเติบโต อยู่ในช่วงเริ่มต้นของความขัดแย้ง และอาจเป็นสะพานเชื่อมระหว่างรุ่นได้ กลุ่มอายุ 55 ปีขึ้นไป เกิดในช่วงที่ภาพรวมประเทศมีเสถียรภาพ เศรษฐกิจและสังคมเติบโต แต่เทคโนโลยีมีอยู่อย่างจำกัด จึงทำให้คิดว่าคนเราต้องปรับตัวให้เข้ากับระบบ และมองว่าผู้นำที่ดีทำให้เกิดสังคมที่ดี -ความเห็นต่อประเด็นสังคม กลุ่มอายุ 18-34 ปี มองว่าพลเมืองต้องตื่นตัวทางการเมือง มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้ได้มาซึ่งสิทธิและเสรีภาพ มองว่าประชาชนคือฐานของประชาธิปไตย มีอำนาจในการปกครอง ต้องแก้ปัญหาที่ระบบ มองเห็นความเหลื่อมล้ำ ชี้ว่าการเมืองไม่เป็นธรรม ไม่ไว้ใจกระบวนการยุติธรรม และคิดว่าวัยรุ่นต้องมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา กลุ่มอายุ 35-54 ปี กลับมีนิยามคำว่าพลเมืองต่างกัน เช่น ทำหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุด มีส่วนร่วมขับเคลื่อนประเด็นสังคม โดยคนรุ่นนี้เชื่อในกติกา มองว่าสังคมจำเป็นต้องมีกติกาในการอยู่ร่วมกัน มองความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาที่แก้ได้ ถ้าแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้จะแก้ปัญหาการเมืองได้ และเห็นด้วยกับวัยรุ่นว่าการเมืองและกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยในตอนนี้ยังไม่เป็นธรรม กลุ่มอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป เชื่อว่าการดูแลประชาชนเป็นหน้าที่ของรัฐ มองไม่เห็นว่าความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาสังคม มีความเชื่อในเรื่องประสบการณ์ที่มากกว่าและอยากให้คนอื่นทำตาม -เข้าใจกันด้วยการสื่อสาร ความแตกต่างที่นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างเจเนอเรชั่น มีทางออกคือการสื่อสารเพื่อทำความเข้าใจระหว่างกัน ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีก้าวล้ำ ดร.สันติธาร เสถียรไทย นักเศรษฐศาสตร์ และผู้บริหารบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก กล่าวว่าการลดความขัดแย้ง ไม่ใช่การลดความแตกต่าง เพราะความแตกต่างมีความจำเป็นในโลกยุคใหม่ แต่จะทำอย่างไรที่จะไม่ให้ความแตกต่างกลายเป็นความขัดแย้ง -จากการศึกษาเพื่อตอบโจทย์เรื่องการสื่อสาร การสร้างพื้นที่ในการสร้างความเชื่อใจ จึงสรุปออกมาเป็นแนวทาง 4E ที่อาจทำให้คนต่างรุ่นเข้าใจกันมากขึ้นดังนี้ Empathy คือการทำความเข้าใจคนที่เติบโตมาในเวอร์ชันที่แตกต่างกันตามยุคสมัย ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยี และสังคม เพราะมีความเชื่อว่าแม้บุคคลจะเจอเหตุการณ์เดียวกัน แต่ถ้าเจอต่างช่วงวัย ก็จะให้เหตุผลที่แตกต่างกันจนส่งผลต่อนิสัยและวิธีคิดต่าง ๆ Ecosystem เมื่อ 2 กลุ่ม มีรากของปัญหาต่างกัน เพราะคนอายุมากมองว่าปัญหาอยู่ที่ตัวบุคคลและแก้ที่ตัวเราเองได้ ขณะที่คนรุ่นใหม่มองว่าปัญหาอยู่ที่ระบบโครงสร้าง ถ้าดินไม่ดี ต่อให้ตั้งใจปลูกต้นไม้ที่ดีที่สุด ต้นไม้ยังไงมันก็ไม่โต Equality เนื่องจากความเท่าเทียมของแต่ละเจนเนอเรชั่นมีเงื่อนไขต่างกัน คนรุ่นใหม่อยากเป็น Equal Partners ในการคุยกับผู้ใหญ่ ส่วนผู้ใหญ่กลับมองความเท่าเทียมอีกแง่มุม คือการโตมาในยุคที่มีลำดับชั้นมาตลอด คนกลุ่มนี้ต้องต่อคิวเป็นเวลานานกว่าจะมีคนฟังเสียงเขาในปัจจุบัน จึงเกิดคำถามว่า แล้วทำไมเด็กรุ่นใหม่ถึงอยากลัดคิว? Express รูปแบบการแสดงออกสำคัญกว่าที่คิด เพราะบางครั้งการสื่อสารก็สำคัญ โดยกลุ่มคนอายุมากอาจไม่ชินกับการสื่อสาร เช่น เห็นด้วยกับสิ่งที่พูด แต่รับไม่ได้กับวิธีการสื่อสารของคนรุ่นใหม่ แต่ถ้าเขาพูดเสียงดังไม่พออาจจะไม่มีใครได้ยิน และไม่มีใครสนใจเขา ดร.สันติธาร หนึ่งในผู้เข้าร่วมหลักสูตร RoLD2020: The Resilient Leaderย้ำว่าสุดท้ายเราต้องเข้าใจว่า เราเหมือนเกิดมาในโลกคนละใบ แต่ในความต่างก็ไม่จำเป็นต้องขัดแย้ง เพียงแต่เราต้องสร้างความไว้ใจซึ่งกันและกัน เชื่อว่าในอนาคตต้องมีการสร้าง Inter-Generational Literacy หรือทักษะที่ทำให้เราสามารถสื่อสารกับคนต่างรุ่นได้ เพื่อให้คนรุ่นใหญ่กับคนรุ่นใหม่ สามารถสื่อสารและทำงานร่วมกันได้