บทความพิเศษโดย ดร.กมล รอดคล้าย ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ การศึกษามีความสำคัญยิ่งในการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เพราะการศึกษามีหน้าที่ในการสร้างความรู้ และสร้างคนให้ประสบความสำเร็จในการการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพ การศึกษาช่วยเปลี่ยนสถานะและช่วงชั้นทางสังคมให้กับคน และมีผลต่อการพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้า ด้วยเหตุดังกล่าวทิศทางของการจัดการศึกษาที่ผ่านมาจึงมุ่งเน้นไปที่การสร้างโอกาสให้ทุกคนได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน โดยเป็นการศึกษาที่มีคุณภาพ และระบบการจัดการศึกษาต้องมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ทั้งในส่วนของการจัดสรรทรัพยากร การสนับสนุนการจัดการเรียนการสอน การดูแลสถานศึกษา และระบบบริหารจัดการโดยรวม อย่างไรก็ตามความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา มีลักษณะของปัญหาทั้งในเเง่มุมของ การขาดการศึกษาจึงทำให้มีความเหลื่อมล้ำในสังคม และการที่สังคมเหลื่อมล้ำจึงทำให้โอกาสการเข้าถึงการศึกษาไม่เท่าเทียมกัน โดยในประเทศไทย ปัจจุบันพบว่าความเหลื่อมล้ำอันเกิดจากความแตกต่างด้านเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี หรือองค์ประกอบอื่นๆทางสังคม มีไม่มากนัก ต่างจากในหลายๆประเทศ แต่ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นจากความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ภายใต้ระบบการแข่งขันที่เสรีและไร้พรมแดน ที่สร้างความเหลื่อมล้ำให้เกิดขึ้นในสังคม คนร่ำรวยมีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรได้มากกว่าคนยากจน โดยพบว่าความเหลื่อมล้ำของรายได้ประชากร ในกลุ่มคนรวยและคนยากจน มีช่องว่างมากขึ้น ความเหลื่อมล้ำในโอกาสทางการศึกษา ปัญหาของระบบข้อมูลสารสนเทศการศึกษาของประชากรรายบุคคลที่ยังไม่ครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน ทำให้รัฐไม่สามารถจัดสรรโอกาสและให้บริการทางการศึกษาแก่ประชาชนได้อย่างทั่วถึง ประกอบกับความแตกต่างด้านสถานะของครัวเรือน เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการเข้าถึงบริการการศึกษาที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำและขาดความเสมอภาคทางการศึกษามากขึ้น ดังสะท้อนออกมาให้เห็นจากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในแต่ละช่วงชั้นที่แตกต่างกัน ระหว่างสถานศึกษา ที่มีขนาดต่างกัน หรือที่ตั้งของสถานศึกษาต่างกัน ในเมืองและพื้นที่ห่างไกล รวมทั้งสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้เรียน ส่งผลไปสู่ปัญหาอื่น ๆ เช่น เด็กมีพัฒนาการไม่สมวัย อัตราการออกกลางคันสูง ปัญหายาเสพติด หรือการใช้ความรุนแรง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาทางเศรษฐกิจมีผลกระทบหลักต่อความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศ แผนการศึกษาแห่งชาติพ.ศ. 2560 - 2579 ได้ตระหนักถึงปัญหาสำคัญของความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งกระทบโดยตรงต่อโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษา จึงได้กำหนดหลักการไว้ว่า การเพิ่มโอกาสและความเสมอภาคในการเข้าถึงการศึกษาของผู้เรียนทุกกลุ่มเป้าหมาย เป็นเรื่องที่สำคัญ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำจะต้องทำให้สถานศึกษาทุกแห่งทั้งในเมือง ชนบท และพื้นที่ห่างไกลมีคุณภาพและมาตรฐานที่เท่าเทียมกัน จัดให้มีระบบสนับสนุน และส่งเสริมให้ทุกภาคส่วน เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ต้องดูแลกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่ม ทั้งเด็กปกติ พิการ ยากไร้ และด้อยโอกาส ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิตัล ในการบริหารและการจัดการเรียนการสอน โดยไม่จำกัดรูปแบบ เวลา และสถานที่ โดยมียุทธศาสตร์สำคัญได้แก่1) ผู้เรียนทุกคนได้รับโอกาสและความเสมอภาค ในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ 2)เพิ่มโอกาสทางการศึกษาผ่านเทคโนโลยีดิจิตัลเพื่อการศึกษา สำหรับคนทุกช่วงวัย 3)มีระบบข้อมูลรายบุคคลและสารสนเทศที่ครอบคลุม ถูกต้อง เป็นปัจจุบันเพื่อการวางแผนการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งแนวคิดทั้งสามเรื่องนี้ได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องภายใต้บทบาทภารกิจของกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่ร่วมจัดการศึกษาทุกหน่วยงาน อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน หลังจากมีปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID ส่งผลให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อนในมิติของความเท่าเทียม และความเสมอภาคทางการศึกษาเกิดขึ้น นั่นคือมีนักเรียนตกหล่น ออกกลางคัน หรือหลุดออกจากระบบมากขึ้น มีปัญหาการเรียนที่ไม่เต็มที่ เพราะไม่สามารถเรียนที่โรงเรียนด้วยระบบ onsite ได้ตามปกติ และต่อเนื่อง ทำให้ในอนาคตจะเกิดปัญหาความถดถอยของความรู้ และการลดลงของขีดความสามารถในการแข่งขันของคนไทย กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดเป็นนโยบายสำคัญที่จะแก้ปัญหา เพื่อดูแลเด็กตกหล่น เด็กออกกลางคัน หรือมีปัญหาอันได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจ โดยได้มีการกำหนดแนวทางแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ด้วยการปักหมุดค้นหาเด็กพิการ เด็กตกหล่น เด็กออกกลางคัน จากนั้นได้กำหนดกิจกรรม พาน้องกลับห้องเรียน โดยมีการเชื่อมโยงบูรณาการ การทำงาน และส่งต่อผู้เรียน ระหว่างหน่วยงานของกระทรวง ได้เเก่ สพฐ. อาชีวะ สช.และกศน. โดยมีศึกษาธิการจังหวัดเป็นหน่วยประสาน เพื่อให้เด็กได้กลับมาสู่ระบบการศึกษาอย่างครอบคลุมและทั่วถึง ทั้งนี้มีแนวทางในการดำเนินการเป็น 6 ขั้นตอน คือ Step 1 จัดทำข้อมูลเพื่อค้นหาเด็กตกหล่น หลุดออกจากระบบ และออกกลางคันโดย สพฐ. / อาชีวะ/ สช./ กศน. ตรวจสอบข้อมูลนักเรียน นักศึกษา ในสังกัด เปรียบเทียบภาคเรียนที่ 1 และ 2 ของปีการศึกษา 2564 เพื่อดึงเด็กกลับเข้าสู่ห้องเรียน รวมทั้งใช้ข้อมูลจากหน่วยงานกลางเช่น กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ) กระทรวงการพัฒนาสังคมเเละความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกลุ่มที่สำรวจได้แก่ เด็กพิการ เด็กตกหล่น ออกกลางคัน เด็กกำพร้า รวมถึงเด็กที่ยากจนมาก ครอบครัวมีปัญหาด้านเศรษฐกิจหรือตกงาน พบว่า1.สป. 38,518 คน ประกอบด้วย 1.1 กศน.1,483 คน,1.2 สช. 37,035 คน (รร.สามัญ 26,876 คน/รร.นานาชาติ 10,159 คน) ,2.สพฐ. จำนวน 30,938 คน 2.1 ข้อมูลเด็กในระบบ DMC (เทอม 1 เปรียบเทียบ เทอม 2) 13,858 คน,2.2 ข้อมูลเด็กกลุ่มรอยต่อ (กสศ.) 14,953 คน,2.3 ข้อมูลเด็กพิการ 2,127 คน,3.สอศ. จำนวน 33,114 คน,3.1 ภาครัฐ 14,953 คน,3.2 ภาคเอกชน 18,161 คน รวมภาพรวมกระทรวงศึกษาธิการ 102,570 คน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงการสำรวจเบื้องต้น ณ เดือน พย. 64 ซึ่งจำเป็นต้องมีการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล และสอบทานกับหน่วยงานอื่นว่าเด็กที่ออกจากระบบไป ได้ไปเรียนในสังกัดอื่นเเล้วหรือไม่ เพื่อจะได้ดำเนินการเเก้ไขต่อไป Step 2 ปักหมุดด้วย Web Application เพื่อค้นหาถิ่นที่อยู่ของนักเรียน ตามทะเบียนราษฎร์ว่านักเรียนอยู่ที่ใด และอยู่ในเขตบริการของโรงเรียนใด จากนั้นเตรียมบุคลากรเพื่อออกเช็คอิน นำนักเรียนเข้าสู่ห้องห้องเรียนด้วยระบบ Mobile Application “พาน้องกลับห้องเรียน” ซึ่งในการสำรวจดังกล่าวจะมีการเเสดงสัญลักษณ์เป็น 4 สีคือ เเดง ไม่พบตัวนักเรียน ส้ม พบตัวนักเรียนเเต่ยังนำเข้าระบบไม่ได้ เขียว พบนักเรียนและนำกลับเข้าเรียน สพฐ. น้ำเงิน พบนักเรียน แต่ส่งต่อ อาชีวะ หรือกศน. ทั้งนี้หน่วยงานอื่นที่ร่วมดำเนินการก็จะร่วมใช้ระบบเเละแพลตฟอร์มเดียวกัน โดยปรับปรุงเพียงบางส่วนตามความเหมาะสม Step 3 ประชุมมอบนโยบาย โดยจัดประชุมวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ หน่วยงานของทุกสังกัดเพื่อให้ทราบแนวทางการดำเนินการค้นหาติดตามเด็ก และเตรียมความพร้อมในแต่ละพื้นที่ Step 4 กระทรวงศึกษาธิการ จัดกิจกรรมเปิดตัวโครงการ “ กระทรวงศึกษาธิการห่วงใยนำนักเรียนนักศึกษาไทยกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา” โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารองค์กรหลัก แถลงนโยบายให้สาธารณชนได้รับทราบ ถึงแนวทางการช่วยเหลือนักเรียนของ ศธ.ภายใต้แนวคิด” จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง “ ประมาณต้นเดือนมกราคม 2565 Step 5 ทุกจังหวัดลงพื้นที่ Check in นำนักเรียน นักศึกษากลับเข้าสู่ระบบโดยสถานศึกษาทุกพื้นที่ ทุกจังหวัด จะต้องออกไปพบนักเรียนทุกคน จากนั้นสำรวจความต้องการของเด็ก ทั้งด้านการศึกษา ชีวิตความเป็นอยู่ และความต้องการด้านอาชีพ ทั้งของเด็กเเละครอบครัว Step 6 จัดทำแผนส่งต่อ และป้องกันการหลุดออกจากระบบ โดยเน้นส่งต่อให้เด็กเข้าเรียน ในรร. ของ สพฐ. สช. หรือ อาชีวะ หรือผู้ที่มีความจำเป็น ไม่สามารถเรียนในระบบได้ กศน.ก็จะเข้าไปรองรับด้วยระบบการศึกษาทั้งเเบบพบกลุ่มและแบบทางไกล ทั้งกศ. พื้นฐานและการสอนอาชีพระยะสั้น นอกจากนั้นจะเน้นการส่งเสริมให้เด็กมีรายได้ระหว่างเรียน การจัดห้องเรียนอาชีพในโรงเรียนที่สอนกศ. พื้นฐาน การระดมทรัพยากรการศึกษาสนับสนุน เช่น สช. ของบสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาให้นักเรียนในโรงเรียนการกุศลเเละศึกษาสงเคราะห์ 2,303 คน การระดมทุนในอนาคตในลักษณะของ crowndfunding หรือการระดมทุนสาธารณะ รวมทั้งอาชีวศึกษาจัดทุนการศึกษาให้ผู้เรียนแบบพักประจำ การขออนุมัติงบประมาณอุดหนุนการศึกษาเพิ่มเติมในหมวดต่างๆ ที่จำเป็นเช่น ค่าอาหารกลางวัน ค่าเครื่องเเบบ ค่าสื่ออุปกรณ์การศึกษา ซึ่งหมายรวมถึงเครื่องมือ สื่อดิจิตัล ค่า WIFI เป็นต้น การได้รับการศึกษา เป็นหนทางเดียวในการเปลี่ยนแปลงชีวิตของคน ให้มีคุณภาพมีความเป็นอยู่ และมีสถานะที่ดีกว่าเดิม รวมทั้งการศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า การสร้างโอกาสทางการศึกษาจึงเป็นนโยบายสำคัญที่ต้องมุ่งมั่นร่วมกันขับเคลื่อนให้ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะสำหรับคนที่ตกหล่น คนออกกลางคัน คนพิการ เเละยากไร้ นี่คือโอกาสที่สองที่เราควรมอบให้ เพื่อการเริ่มต้นใหม่ของชีวิตอีกครั้ง