วันที่ 9 ธ.ค.64 มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ได้จัดโครงการงานวันภูมิปัญญาไฟฟ้าอีสาน ประจำปี 2564 และ ENKKU–EGAT Open House ในหัวข้อ 2S with 2E (Smart & Sustainable Solution with Green Energy & Emerging Technology) ภายใต้โครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กับมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีคุณพลศรี สุวิศิษฏ์อาษา รองผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และมีนายเกษม ปิดสายะตัง ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าน้ำพอง กล่าวรายงาน โดยมีรศ.ดร.รัชพล สันติวรากร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้การต้อนรับ ซึ่งกิจกรรมฯ นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ นักศึกษา บุคลากรจาก กฟผ.ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านพลังงานระหว่างกัน ณ ห้องสมุดคณะวิศวกรรมศาสตร์ ชั้น 1 มหาวิทยาลัยขอนแก่น และระบบการประชุมออนไลน์
รศ.ดร.รัชพล สันติวรากร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ปัญหาสังคมขณะนี้ ได้แก่ ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ด้านทางการแพทย์เพื่อแก้ไขปัญหาสาธารณสุขและเครื่องมือแพทย์ ด้านเทคโนโลยี AI ปัญญาประดิษฐ์ทั้งหลาย หุ่นยนต์ที่ใช้สำหรับ สมาร์ทฟาร์ม อุตสาหกรรมการเกษตร และด้านพลังงานสีเขียว พลังงานทดแทนการประหยัดพลังงานต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ปัญหาโลกร้อน
“สำหรับนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ผลิตออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาของสังคมและพัฒนาประเทศ พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ได้แก่ รถจักรยานยนต์อีวี มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าพลังงานสีเขียว คงคาร์บอนต่ำ ปัจจุบันมีต้นแบบใช้งานแล้ว 12 คัน โดยมีแนวโน้มที่จะวางแผนให้บริการนักศึกษาอย่างครอบคลุม ในการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแทนรถจักรยานยนต์ส่วนตัว นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีหุ่นยนต์อัตโนมัติ หรือ AI เพื่อช่วยดูแลสมาร์ทฟาร์ม เป็นชุดคิดขนาดเล็กดูแลการปลูกพืชให้เกษตรกรสะดวกสบายต้นทุนต่ำและได้ผลผลิตสูง”
รศ.ดร.รัชพล กล่าวต่ออีกว่า นักวิจัย นักวิชาการ ต้องร่วมมือกับเอกชนเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก เอาความรู้ไปใช้บริหารงานต่างๆ ภาระงานสอนอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ ต้องลงพื้นที่เพื่อร่วมมือกับภาคประชาชนแก้ไขปัญหา ถึงจะสามารถดูแลสิ่งแวดล้อมของเราได้อย่างยั่งยืน กฟผ. ก็เป็นหน่วยงานพันธมิตรมีสัมพันธ์แนบแน่น ที่เรามีบันทึกข้อตกลงร่วมกันยาวนานกว่า 16 ปี แล้ว โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้พัฒนาบุคคล ทีมนักวิจัย และเทคโนโลยี ตอบโจทย์ กฟผ. เช่น นวัตกรรมปัญหาภัยแล้ง ปัญหาการจัดการน้ำ ฝุ่นในโรงงานผลิตไฟฟ้าน้ำพอง เพื่อกระตุ้นให้เกิดพลังงานทดแทน เพื่อช่วยให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นอย่างยั่งยืนตอบโจทย์การจัดงานในวันนี้ การแก้ไขปัญหาอย่างชาญฉลาดและยั่งยืน และใช้พลังงานสีเขียวบวกเทคโนโลยีเกิดใหม่
ด้านนายพลศรี สุวิศิษฏ์อาษา รองผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า กล่าวว่า จากแนวโน้มทิศทางการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมไฟฟ้า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และพฤติกรรมของผู้ใช้ไฟฟ้า ซึ่งส่งผลต่อการผลิตและการบริหารจัดการด้านพลังงานไฟฟ้า รวมถึงสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ และวิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลก บริบทด้านพลังงานที่เปลี่ยนแปลงไป นโยบายการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในส่วนภาคพลังงานไฟฟ้าที่เป็นพื้นฐานสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยน (Transformation) ด้วยการนำเอานวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้งานมากขึ้น จึงเป็นที่มาของการจัดงานครั้งนี้ซึ่งคาดหวังว่าจะเกิดประโยชน์ต่อวงการพลังงานและดูแลสิ่งแวดล้อมของชาติ