ความประมาทเป็นหนทางสู่ความตาย เป็นคำที่มักได้ยินกันบ่อยๆ มนุษย์ที่ตั้งอยู่บนความไม่ประมาทย่อมนำแต่ความสุขมาให้ พระราชปฏิภาณโสภณ โสภณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชโอรสารามราชวรวิหาร กรุงเทพฯ ได้เมตตามาแสดงธรรมบรรยาย ในหัวข้อ “ความไม่ประมาท” บนเวที “เรายกวัดมาไว้ที่เซเว่นฯ” จัดโดย บมจ. ซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ ตามนโยบายส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมตามหลักพระพุทธศาสนา ด้วยปณิธานองค์กร “ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสต่อกัน”
พระราชปฏิภาณโสภณ เริ่มกล่าวถึงความไม่ประมาทว่า เป็นธรรมใหญ่ หรือเป็นธรรมสำคัญที่รวมพระไตรปิฏกไว้ทั้งหมด พระพุทธองค์ตรัสว่า ธรรมะทั้งหลายรวบรวมไว้ในสติ คือ ความไม่ประมาท เปรียบเหมือนรอยเท้าสัตว์ทั้งหลายรวมลงในรอยเท้าช้าง เพราะช้างเป็นสัตว์ใหญ่ ธรรมะ คือ สติ หรือความไม่ประมาทเป็นหลักสำคัญของชีวิต เราชาวพุทธโชคดีที่ได้พบพระพุทธศาสนา หรือความจริงของชีวิตที่เรียกว่าสัจจธรรม ทำให้เข้าใจชีวิตกันบ้างตามสมควร นอกจากการได้ยินได้ฟัง แล้วนำมาปฏิบัติก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะการรู้และการปฏิบัติต่างกัน ปฏิบัติธรรมตามสมควรแก่ธรรมที่ได้ตรองเห็นแล้ว เมื่อเราได้ตรองเห็นได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติตามธรรมนั้น ก็ถือได้ว่าธรรมะนั้นเป็นประโยชน์
หลวงพ่อยกตัวอย่างคำว่า “ตนเป็นที่พึ่งของตน” คือการพึ่งธรรมะ พึ่งความดี พึ่งสติปัญญา หากเราไม่มีสติปัญญา เราจะไม่มีที่พึ่ง ต้องมีสติและความไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต วันข้างหน้าคนที่ทำมาหากินได้แล้วไม่รู้จักเก็บ ไม่รู้จักใช้ คือ ผู้ที่ประมาท การเกิดโรคภัยไข้เจ็บก็ทำให้มีสติ ประมาทไม่ได้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า เกิดมาเป็นคนนั้นยาก เพราะคนที่เกิดมาเป็นคนเพราะบุญ จึงได้มาเกิดเป็นคน บุญของแต่ละคนแตกต่างกันจึงเกิดออกมาต่างกัน ได้อัตภาพดี ครอบครัวดี ประเทศดี บางคนเกิดมา ดีบ้างไม่ดีบ้าง บางคนไม่ดีเลย พระพุทธเจ้ารู้ความจริงของชีวิต ความเป็นมาของชีวิต และอธิบายในหลักของสังสารวัฏหรือการเวียนว่ายตายเกิด หมายความว่า คนเราไม่ได้เกิดในชาติเดียวและตายในชาติเดียว แต่หมายถึงการท่องเที่ยวมาจากภพอื่น มาจากอัตภาพอื่น บางคนคิดว่าตายแล้วสูญ บางคนคิดว่าตายแล้วไม่สูญ แล้วแต่จะจินตนาการเชื่อกันไป แต่พระพุทธเจ้ารู้ความจริงว่าสังสารวัฏนั้นยาวมาก แต่ละชาตินับไม่ถ้วน ชาตินี้พระองค์จึงบำเพ็ญบารมีสุดท้าย รู้ความจริงถึงความไม่เที่ยง มีการเกิดดับ ทุกอย่างเปลี่ยนไปตลอดเวลา ชีวิตคนเรามีแต่มุ่งไปข้างหน้า ไม่มีถอยหลัง เวลานั้นย้อนกลับไม่ได้มีแต่มุ่งไปข้างหน้า นี่คือความไม่เที่ยง ความไม่แน่นอนของชีวิต เราได้เห็นกันอย่างหยาบ ๆ แต่พระพุทธเจ้าเห็นด้วยทรรศนะ
ท่านเล่าว่า จิตใจของเราเปลี่ยนเร็วกว่าร่างกาย จิตเกิดที่ตาเห็น หูได้ยิน เวลาได้กลิ่น จิตเกิดที่จมูก เวลาทานอาหารรู้รส จิตเกิดที่ลิ้น เวลารู้สัมผัส จิตเกิดที่ร่างกาย เวลานึกคิดอะไร จิตเกิดที่ใจ จิตมีการเกิดดับที่รวดเร็ว สิ่งนี้ คือ อนิจจังไม่เที่ยง จิตอาศัยการเกิดที่ตา เกิดที่ประสาทตา แก้วตา มีสิ่งที่ถูกเห็น มีรูปารมณ์มากระทบประสาทตา โดยมีแสงสว่างเป็นสื่อ รูปต่าง ๆ มากระทบกันจิตจึงเกิด เกิดที่แก้วตาเห็นรูปที่มากระทบ การกระทบเรียกว่าผัสสะ เมื่อเกิดแล้วเราก็รู้สึกว่าเราเห็น ตัวเห็นนั้นคือจิต เมื่อกระทบแล้วดับไป แต่มีการกระทบอยู่ตลอดเวลา จึงมีการเห็นตลอด มีความต่อเนื่องกันไป ไม่ว่าทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จิตที่เกิดอยู่ก็มีการดับเป็นปกติ เป็นอนิจจังไม่เที่ยง จะไปห้ามการเกิดการดับไม่ได้ เมื่อมีเหตุปัจจัยก็มีการเกิดการดับ พอเกิดมาเป็นคนก็มีร่างกาย มีจิตที่เกิดดับตลอด จนวันหนึ่งดับแล้วไม่เกิดอีกก็เรียกว่าตาย
พระพุทธองค์ตรัสรู้ความจริงเห็นการเกิดดับไปตามเหตุปัจจัย เห็นด้วยปัญญาญาณและเกิดความเบื่อหน่าย สิ่งต่าง ๆ ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา มีการเปลี่ยนแปลงดับไปตลอดเวลา จึงเบื่อหน่าย ที่เข้าใจว่าเป็นของเรานั้นไม่ใช่เลย เพราะเปลี่ยนแปลงเกิดดับไปตลอดเวลา จิตจึงน้อมไปพระนิพพาน มีปัญญาเป็นมรรคญาณ เห็นพระนิพพานเป็นอารมณ์ จึงตัดเยื่อใยในชีวิตได้หมด เห็นตามจริงว่าแท้จริงเเล้วสิ่งเรานั้นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา ที่เราเรียกว่า อุปาทาน ท่านเห็นสังสารวัฏเป็นทุกข์ สิ่งที่เป็นเหตุสำคัญ คือ ความยินดี ความพอใจ คือ สมุทัย ท่านชี้ให้เห็นว่าชีวิตเป็นทุกข์เพราะมีความแก่ เจ็บ ตาย มีความเสียใจ สมุทัย คือ ตัณหา โลภะ ยินดี ไม่เที่ยงก็เห็นว่าเที่ยง ไม่ใช่ของเราก็เห็นเป็นของเรา ชีวิตที่เป็นไปอย่างนี้คือกิเลส
เมื่อเราต้องเวียนว่ายตายเกิด เพราะเหตุปัจจัยยังมี บุญ บาป ความดีชั่ว กรรมยังทำอยู่ กรรมเกิดที่ กาย วาจา ใจ ทำไม่ดี พูดไม่ดี คิดไม่ดี เรียกว่า บาป ทำให้คนเป็นทุกข์ ใครที่ทำดีพูดดี คิดดี คือ กรรมดี ทุกคนทั้งโลกคนสัตว์สิ่งมีชีวิตทั้งหลายทุกคนทำกรรมอยู่ตลอด กรรมดีทำให้มีสุข กรรมดีที่ทำไว้ หากสิ้นไปแล้วก็จะไปสร้างอัตภาพ สร้างชีวิตดีให้ในภพหน้า ตรงกันข้ามกรรมที่ไม่ดี ก็จะไปสร้างอัตภาพสร้างชีวิตที่ไม่ดีให้ พระพุทธองค์จึงสอนว่าอย่าประมาทอย่าไปทำกรรมไม่ดี ถ้าประมาทไปทำกรรม นั่นแหละจะรับผลของการกระทำนั้น นี่เรียกว่ากฎแห่งกรรม ถ้าเราเข้าใจกฎแห่งกรรม มีความไม่ประมาท ไม่ไปตามอำนาจของกิเลส ก็จะมีแต่กรรมดี ทำกาย วาจา ของเราให้อยู่ในขอบเขตของศีล รักษากายวาจาให้เรียบร้อย ไม่ให้เป็นโทษ เกิดมาเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ไม่ฆ่า ไม่ทำร้าย ไม่ขโมย ไม่ผิดคู่ครอง พูดจามีแต่คำสัตย์ ไม่พูดเหลวไหล ต้องอาศัยศีลเป็นเครื่องรักษา จิตใจอาศัยภาวนาเป็นเครื่องอบรม ถ้าจิตดี ความประพฤติดีไปด้วย ถ้าจิตไม่ดีเราก็จะทำกรรมไม่ดี จิตใจต้องรักษา รู้จักเห็นโทษของความโกรธ จิตใจจะเดือดร้อน และยังไปกระทบคนอื่นด้วย
หลวงพ่อแนะนำว่า หากว่าเห็นโทษของความโกรธ ต้องระงับไม่ให้เกิด มีสติ หากระงับไม่ทัน เกิดไปแล้วพยายามให้ดับเร็ว ๆ ต้องมีสังวรณ์ ไม่ประมาท ไม่ปล่อยให้เกิดความโกรธบ่อย แม้แต่สงคราม การรบรากันก็เกิดจากความโกรธ ถ้ามีความรักปรารถนาดี มีเมตตาต่อกันสิ่งเหล่านั้นก็จะไม่เกิด เราต้องไม่ประมาท ระวังใจไม่ให้ขัดเคือง ต้องคอยระมัดระวังใจของเราไม่ปล่อยไปตามความโกรธ เสพความโกรธจนกลายเป็นอาฆาตพยาบาท ทั้งนี้เพราะเรารู้ไม่ทันกิเลส หลงไปในกิเลส เกิดการทำร้ายทำลายกัน เป็นสิ่งที่น่ากลัว สิ่งตรงข้ามความโกรธคือความเมตตา
ท่านทิ้งท้ายว่า ให้หมั่นเจริญเมตตา เมตตาคือรัก ปรารถนาดี การฝึกแผ่เมตตา ต้องให้ตนเอง รักตนเองก่อน รักตนเอง ต้องไม่ทำร้ายคนเอง ปรารถนาให้ตนเองมีสุข เมื่อรักตัวเองอยากให้ตัวมีสุขต้องไม่ทำร้ายตัวเอง ด้วยระงับโกรธ ฝึกบ่อยๆ สำรวม ระวังไว้ไม่ประมาท จิตใจจะเย็นลง ชีวิตได้มาโดยยาก ได้เป็นคนก็ยาก พ่อแม่ทะนุถนอมมา เราจึงอย่าทำร้ายตนเอง สัตว์อื่นก็มีชีวิต รักตนเอง เราไม่ควรไปโกรธเกลียดใครทำร้ายใคร เมื่อฝึกเมตตาธรรมบ่อยๆ จิตใจเปลี่ยนได้ จิตใจจะเย็นรู้จักอดทนอดกลั้น ให้อภัย มีเมตตา กรุณา สงสาร บาปให้ผลเป็นทุกข์ บุญให้ผลเป็นสุขแล้ว จะต้องตั้งตัวอยู่ในความไม่ประมาท ไม่ให้บาปอกุศลครอบงำ
สำหรับผู้สนใจร่วมฟังธรรมบรรยายดีๆ ในโครงการ “เรายกวัดมาไว้ที่เซเว่นฯ” สามารถลงทะเบียน ผ่าน QR Code เพื่อเข้าร่วมฟังธรรมบรรยายที่ ชั้น 14 A อาคารยูไนเต็ดเซ็นเตอร์ ถนนสีลม ได้จำนวนจำกัด 50 ท่าน โดยแสดงหลักฐานการรับวัคซีนแล้วอย่างน้อย จำนวน 1 เข็ม หรือติดตามรับชมผ่านระบบ live สด ทุกวันศุกร์ เวลา 12:00 - 13:30 น. ทางช่องทาง facebook fanpage CP ALL และสามารถรับฟังย้อนหลังได้ที่ช่องทางเดียวกัน พร้อมรับฟังคติธรรมดีๆ ในช่องทาง TikTok ได้ที่ ธรรมะ TikTok