สอน. ร่วมกับ สถาบันพลาสติก จัดกิจกรรม “อ้อยสู่เซิร์ฟสเก็ต เพื่อน้อง” สร้างมูลค่าเพิ่มจากชานอ้อย และส่งเสริมการเล่นเซิร์ฟสเก็ต
เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 64 สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ร่วมกับ สถาบันพลาสติก ส่งมอบเซิร์ฟสเก็ตที่ทำจากเศษเหลือทิ้งจากชานอ้อย โดยมีตัวแทนจาก มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตกรุงเทพ สวนวชิรเบญทัศ (สวนรถไฟ) สวนสมเด็จสราญราษฎร์มณีรมย์ (Pink Park) และบ้านเด็กกำพร้า (บ้านลูกรัก) จ.ขอนแก่น เพื่อเป็นการขยายโอกาสให้แก่ผู้ที่สนใจในการเล่นเซิร์ฟสเก็ต รวมทั้งยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เศษเหลือทิ้งจากชานอ้อย ในกิจกรรม “อ้อยสู่เซิร์ฟสเก็ต เพื่อน้อง” ที่ลานกิจกรรม สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) กรุงเทพมหานคร
ในปัจจุบันกีฬาเซิร์ฟสเก็ต เป็นที่นิยมอย่างมากในประเทศไทยไม่ว่าทั้ง เด็ก วัยรุ่น หรือแม้กระทั่งผู้ใหญ่ ที่หันมาเล่นกีฬาชนิดนี้ ด้วยกระแสที่เพิ่มขึ้นทำให้ช่วงหนึ่งเซิร์ฟสเก็ตเกิดขาดตลาดขึ้นมาและส่งผลให้ราคาสูงขึ้นหลายเท่าตัว ทำให้บางคนขาดโอกาสในการได้เล่นกีฬาชนิดนี้ สอน.และสถาบันพลาสติกจึงถือโอกาสนี้พัฒนาเซิร์ฟสเก็ตภายใต้โครงการการพัฒนาและส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ที่ทำจากวัสดุเหลือทิ้งอย่างชานอ้อย ซึ่งมีปริมาณมากจากการผลิตน้ำตาล อีกทั้งยังถือเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายและตอบสนองต่อนโยบาย BCG ของทางรัฐบาลอีกด้วย โดยตัวเซิร์ฟสเก็ตจะทำจากอิพอกซีและชานอ้อยด้วยวิธีการหล่อ (Casting) ซึ่งมีลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ของชานอ้อยและช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับเซิร์ฟสเก็ต หากเทียบราคากับเซิร์ฟสเก็ตที่มีขายทั่วไปในท้องตลาดแล้วถือว่ามีราคาที่ต่ำกว่าทำให้ผู้ที่มีงบน้อยสามารถจับต้องได้ นอกจากนั้นภายในโครงการฯ ได้มีการนำผลผลิตจากอ้อยและน้ำตาลมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในรูปแบบต่าง ๆ อาทิเช่น ถุงพลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้ ถุงซองน้ำตาล ยูเอสบีแฟลชไดรฟ์ เหล้ารัม ลิปบาล์มที่มีส่วนผสมจากไขอ้อย สบู่เหลวผสมสควาเลนและเยื่อสกัดจากชานอ้อย เป็นต้น
สำหรับกิจกรรมครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดตัวเซิร์ฟสเก็ตที่พัฒนาขึ้นจากเศษชานอ้อย ซึ่งจะช่วยสร้างการรับรู้ให้แก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป ได้รับรู้ถึงคุณค่าของอ้อยและน้ำตาลทรายที่ไม่ได้ให้แค่ความหวาน แต่ยังสามารถทำประโยชน์อย่างอื่นได้หลากหลายอีกด้วย