มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เชิญชวนนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยไทย ร่วมรับฟังงานวิจัยและระดมสมองกับกลุ่มนักวิจัยทั่วโลก ในการประชุมวิชาการนานาชาติวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางฐานเทคโนโลยี ครั้งที่ 47 “Sciences for SDGs: Challenges and Solutions” 5-7 ตุลาคม นี้
วันที่ 3 ต.ค.64 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนามัย ดำเนตร คณบดีคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน กล่าวว่า คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพร่วม จัดประชุมวิชาการนานาชาติ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมฐานเทคโนโลยี ครั้งที่ 47 (THE 47th INTERNATIONAL CONGRESS ON SCIENCE, TECHNOLOGY AND TECHNOLOGY-BASED INNOVATION หรือ STT47) ในหัวข้อ “Sciences for SDGs: Challenges and Solutions” ร่วมกับ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ บริษัทดาว เคมิคอล ประเทศไทย และบริษัท เอสซีจี เคมิคอล ระหว่างวันที่ 5-7 ตุลาคม 2564 ในรูปแบบออนไลน์ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธานเปิดการประชุมในวันที่ 5 ตุลาคม 2564 และจะทรงประทับรับฟังปาฐกถาพิเศษจาก Professor DR. BEN L. FERINGA ในหัวข้อ "The Art of Building Small” ศาสตราจารย์ ดร.วินิช พรมอารักษ์ นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ.2564 ในหัวข้อ “Efficient Solution-Processable Emissive Materials for Simple Structured Organic Light-Emitting Diodes (OLED)” และ Professor Dr.Christopher Brett, ประธานสมาพันธ์เคมี บริสุทธิ์และเคมีประยุกต์ระหว่างประเทศ (IUPAC) ในหัวข้อ “IUPAC and Its Role as a Global Resource for Chemistry”
คณบดีคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน กล่าวอีกว่า ด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19 การจัดประชุมครั้งนี้ จึงเปลี่ยนมาเป็น Virtual Congres เต็มรูปแบบเป็นครั้งแรก
ด้านศาสตราจารย์ ดร.สมเกียรติ งามประเสริฐสิทธิ์ อุปนายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ และ ประธานจัดการประชุม STT47 กล่าวว่าการประชุมดังกล่าว เป็นการประชุมวิชาการประจำปีของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ ซึ่งจัดติดต่อกันเป็นเวลานานรวมทั้งสิ้น 46 ครั้งแล้ว เป็นการประชุมนานาชาติเพื่อขยายโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยไทยได้รับฟังผลงานวิจัยและแลกเปลี่ยนความรู้กว้างขวางมากขึ้น กับผู้เข้าร่วมประชุมจากต่างประเทศ นอกจากจัดให้มีการนำเสนอผลงานทั้งภาคบรรยายและภาคโปสเตอร์ทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษผ่านระบบออนไลน์ด้วยระบบ zoom และ Facebook live แล้ว ยังกำหนดให้เป็นเวทีของกลุ่มนักวิจัยทั่วโลกได้มาพบปะและปรึกษาหารืองานวิจัยที่มีความสนใจเฉพาะเรื่องร่วมกันด้วย เป็นต้นว่า ผลกระทบทางนิเวศของไมโครพลาสติก, การอนุรักษ์โลกด้วยความหลากหลายของป่า, การแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19 ด้วยเคมี, การเกษตรในรูปแบบของ BCG Economy, กระบวนการผลิตไฮโดรเจนแบบยั่งยืน, การใช้ประโยชน์แบบยั่งยืนในความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล, การทบทวนการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19, การศึกษาทางวิทยาศาสตร์เพื่อความยั่งยืน และอื่นๆ ทั้งนี้ ประธานของหัวข้อเฉพาะแต่ละเรื่อง ได้เรียนเชิญผู้เชี่ยวชาญระดับโลกมาบรรยายผลงานที่แต่ละท่านได้ศึกษาวิจัย จึงถือว่าเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง
สำหรับปาฐกถาพิเศษในปีนี้ ได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ ดร. BEN L. FERINGA นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล สาขาเคมี ปี 2016 หรือ พ.ศ.2559 ผู้มีผลงานด้านการออกแบบและสังเคราะห์จักรกลโมเลกุล (molecular machines) และเป็นอาจารย์ประจำที่ University of Groningen, ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีความเชี่ยวชาญด้านนาโนเทคโนโลยีระดับโมเลกุลและตัวเร่งปฏิกิริยาเอกพันธุ์ โดยจะกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "The Art of Building Small”
การจัดการประชุมนานาชาติ STT47 ไม่เพียงเป็นประโยชน์ต่อวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยเท่านั้น เพราะเมื่อนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยไทยได้รับรู้ความก้าวหน้างานวิจัยที่สำคัญ และสร้างเครือข่ายกับกลุ่มนักวิจัยระดับโลก จะทำให้นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยไทยสามารถทำงานเท่าเทียมกับนานาชาติ ได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยต่อไป
ขณะที่ศาสตราจารย์ ดร.ศุภวรรณ ตันตยานนท์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นสมาคมวิชาการที่ดำเนินกิจกรรมด้านการส่งเสริมวิทยาศาสตร์มาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 73 ปีแล้ว กิจกรรมที่จัดเป็นประจำทุกปี ได้แก่ กิจกรรมที่กระตุ้นความสนใจของ นักเรียน นักศึกษา หรือเยาวชนของชาติ ให้เห็นถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คือ งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในช่วงสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ และการนำเยาวชนเข้าร่วมแข่งขันวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ รวมถึงการให้รางวัลครูวิทยาศาสตร์ดีเด่นทุกระดับ อีกกิจกรรมหนึ่งที่สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี คือ การประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย โดยมีคณะวิทยาศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย หมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพร่วม
แต่เนื่องจากปัจจุบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของโลกก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วมาก เราจำเป็นต้องเปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์ และคนรุ่นใหม่ของประเทศไทย ได้พบปะและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ทั่วโลก ที่จะทำให้การสร้างองค์ความรู้และการพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศไทยได้เร็วขึ้น จึงได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการประชุมให้เป็น การประชุมวิชาการนานาชาติครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว ปีนี้คือการประชุม The 47th International Congress on Science, Technology and Technology-based Innovation (STT47) ซึ่งได้รับเกียรติจาก คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เป็นเจ้าภาพร่วม