นายพรพล เอกอรรถพร รักษาการผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย หรือ sacit เปิดเผยว่า ตามที่มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนชื่อจาก ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ นั้น sacit จะมีภารกิจในการดำเนินงานที่เข้มข้นขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนางานศิลปหัตถกรรมและผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์ไทยในทุกมิติอย่างยั่งยืน ได้แก่ 1) การส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการประกอบอาชีพเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยอย่างยั่งยืน 2) พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย รวมทั้งนำเทคโนโลยีนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย 3) ส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยเปิดและขยายตลาดผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริมภาพลักษณ์และการขายของผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยให้แพร่หลาย
4) ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการศิลปหัตถกรรมไทยให้มีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการด้านการผลิต การเงิน การบัญชี และการตลาด 5) สืบสาน ส่งเสริมคุณค่า ยกย่องเชิดชู รักษา พัฒนา และเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญางานศิลปหัตถกรรมไทย 6) สร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้และวิธีบริหารจัดการวัฒนธรรมในส่วนที่เกี่ยวกับศิลปหัตถกรรมไทย 7) จัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับครูศิลปหัตถกรรมไทย ผู้ประกอบการ บุคลากร และข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้องกับศิลปหัตถกรรมไทย 8) รับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย และ 9) ส่งเสริมและสนับสนุนการจดทะเบียนสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า หรือทรัพย์สินทางปัญญาอื่นของงานศิลปหัตถกรรมไทย
sacit ภายใต้ชื่อใหม่นี้ ถือว่าเป็นภารกิจที่ท้าทายเนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เราจึงมีแผนรองรับ เพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง และสร้างปรากฏการณ์งานศิลปหัตถกรรมไทยในโลกยุคใหม่ อาทิ การจัดงานหัตถกรรมระดับประเทศ การสร้างความนิยมในงานศิลปหัตถกรรมไทยในกลุ่มคนรุ่นใหม่ผ่านการจัดการประกวดระดับประเทศ
รวมทั้งการพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์ ผลักดันสินค้า GI เรื่องลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรต่างๆ รวมทั้งการหาตลาดใหม่ๆ เช่น ตลาดต่างประเทศที่มีกำลังซื้อสูง ตลาดในกลุ่มนักสะสม เปลี่ยนงานศิลปหัตถกรรมทั่วไปให้เป็นชิ้นงานระดับมาสเตอร์พีซ รวมถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับตลาดและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปตามชีวิตวิถีใหม่ด้วย