"จิตแพทย์"ห่วงคนไทยฆ่าตัวตายพุ่งเทียบเท่าช่วงต้มยำกุ้ง ซ้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากพิษเศรษฐกิจและ โควิด -19 แถมซดน้ำเมา กระตุ้น การตัดสินใจปุ๊บปั๊บ ชี้นักดื่มเสี่ยงฆ่าตัวตายมากกว่าคนไม่ดื่ม5.3เท่า แนะใช้พลัง อึด ฮึด สู้ สังคม ร่วมสร้างความหวัง โอกาส ความปลอดภัย ด้าน “เครือข่ายองค์กรงดเหล้า”วอนถือโอกาส ลด ละ เลิก น้ำเมา เสริมภูมิป้องกันโรค ป้องกันใจ
เมื่อวันที่ 9 ก.ย.64 ศ.พญ สุวรรณา อรุณพงค์ไพศาล อาจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า ในวันที่10กันยายน ของทุกปี จะเป็นวันที่ทั่วโลกรณรงค์ให้ทุกคนตระหนักเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายโลก แต่จากสถานการณ์โควิด-19 ระบาดทั่วโลกมีการทบทวนสถานการณ์การฆ่าตัวตาย จากเดิมที่คาดว่าสถานการณ์จะเพิ่มขึ้นกลับพบว่าลดลง สวนทางกับข้อมูลการฆ่าตัวตายในไทย ซึ่งเป็นข้อมูลจากใบมรณะบัตรพบว่าปี 2560 อัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 6.03ต่อแสนประชากร ปี 2561 อัตรา 6.6 ต่อแสนประชากร และมาที่ 7ต่อแสนประชากร และล่าสุดปี 2564 อัตราการฆ่าตัวตายของไทยอยู่ที่ 8.8 ต่อแสนประชากร ถือว่าน่ากังวลมาก เพราะสูงเทียบเท่าตอนวิกฤติต้มยำกุ้งเลย คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพราะปัญหาเศรษฐกิจ มาตรการโควิด คนตกงาน ประกอบธุรกิจไม่ได้ บางกิจการต้องปิดตัวลง คนเป็นหนี้เพิ่มขึ้น ไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการของรัฐเพียงพอ เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมากขึ้น
จากการวิเคราะห์พบว่าส่วนใหญ่เกิดจาก1.ปัญหาเศรษฐกิจที่มาโด่ง มีหนี้สิน ไม่มีรายได้ 2.ปัญหาสารเสพติดและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 3.ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ ของคนในครอบครัว คนรอบข้าง ทั้งการดุ ด่า นินทา เป็นต้น โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีผลต่อการฆ่าตัวตายทั้งปัจจัยโดยตรง จะไปกดสมองส่วนการยับยั้งชั่งใจ อารมณ์เก็บกด ความโกรธ ความก้าวร้าว ถูกปลดปล่อยออกมา ทำให้เวลาคิดเรื่องฆ่าตัวตาย ก็ลงมือทันที และส่วนใหญ่ใช้วิธีการที่รุนแรง นอกจากนี้ยังเป็นปัจจัยทางอ้อมคือ การดื่มประจำจะทำให้เสียเงิน เสียงาน เสียไปทุกอย่างเหมือนคนสิ้นเนื้อประดาตัว ทำให้เกิดความเครียด ซึมเศร้า ก็ยิ่งดื่มเหล้ามากขึ้นและคิดฆ่าตัวตายตามมาได้ ทั้งนี้อัตราเสี่ยงสัมพันธ์กับการฆ่าตัวตายที่เชื่อมโยงกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ที่5.3 เท่าเมื่อเทียบกับคนไม่ดื่ม
ศ.พญ สุวรรณา กล่าว่า เพื่อเป็นการป้องกัน ลดอัตราการฆ่าตัวตายนั้น มีการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ เน้น การใช้ฐานข้อมูลที่เป็นจริง เน้นเชิงรุก และให้ความสำคัญกับจังหวัดมีมาตรการ และกำหนดแผนอย่างชัดเจน บริหารจัดการอย่างบูรณาการทุกภาคส่วน ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มูลนิธิ ภาคประชาชนทั้งหลายในการร่วมมือดูแลกลุ่มเปราะบางทางสุขภาพ และเศรษฐกิจ ประชาชนสามารถเรียนรู้ เข้าใจ เข้าถึงการดูแลป้องกันการปัญหาการฆ่าตัวตาย ในระดับบุคคลที่ประสบภาวะวิกฤติ ขอให้มีพลัง อึด ฮึด สู้ ขณะที่สังคม ชุมชน ต้องมีการสร้างความหวัง สร้างความปลอดภัย สร้างความสงบ สร้างโอกาส ทุกคนร่วมด้วยด้วยกัน ใช้ศักยภาพของชุมชนขับเคลื่อน ต้องทำร่วมกับการป้องกันการแพร่ระบาดของยาเสพติดและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย
ด้าน ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผอ.สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) กล่าวว่า ตามรายงานของกระทรวงสาธารณสุข พบเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นปัจจัยกระตุ้นสำคัญ ของการฆ่าตัวตาย เป็นอันดับ 3 และในภาคเหนือเคยมีรายงานว่า มีสถิติการฆ่าตัวตายสูงหลังไปร่วมงานศพ ที่มีการเลี้ยงเหล้าในงาน ซึ่งต่อมาคนในชุมชนจึงมติให้จัดงานศพปลอดเหล้า สถิติการฆ่าตัวตายก็ลดลงจริง ยิ่งในสถานการณ์การระบาดของโควิด จะมีหลายปัจจัยเพิ่ม ที่ทำให้คนมีความเครียดมากยิ่งขึ้น เช่น การสูญเสียคนในครอบครัว รายได้ลดลงหรือตกงาน กลัวติดเชื้อ เป็นต้น ถ้าหันไปพึ่งน้ำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย จะยิ่งเป็นเหตุสนับสนุนการฆ่าตัวตายมายิ่งขึ้น
“ถ้าคิดใหม่ ใช้สถานการณ์วิกฤตนี้ ให้เป็นโอกาส ในการ ลด ละ เลิก การดื่มน้ำเมาทุกชนิด เพื่อเพิ่มภูมิต้านทานสู้โควิด ป้องกันสุขภาพจิต สุขภาพใจ อีกทั้งเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อครอบครัวและสังคม ไม่เป็นแหล่งกระจายเชื้อจากการขาดสติ และช่วยลดรายจ่าย เปลี่ยนค่าน้ำเมาไปใช้ในสิ่งที่จำเป็นกับครอบครัว ก็จะช่วยลดปัญหาต่างๆ ไปได้มาก”ภก.สงกรานต์ กล่าว