แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะที่ทุกภาคส่วนยังคงเฝ้ารอกระบวนการสรรหาและแต่งตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือ กสทช.ชุดใหม่แทน กสทช.ชุดปัจจุบัน ที่ทำหน้าที่รักษาการมานานกว่า 10 ปี จากการที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)มีคำสั่ง ม.44 ล้มกระบวนการสรรหา กสทช.ชุดใหม่ไปถึง 2 ครั้ง 2 ครา จนทำให้เส้นทางการสรรหากรรมการ กสทช.ต้องล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอดกว่า 5 ปีแล้วนั้น สำหรับ กสทช.ชุดทำหน้าที่รักษาการ โดยเฉพาะในส่วนของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือกองทุน USO ของสำนักงาน กสทช.ที่มีรายได้มาจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ประกอบกิจการที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช.ทั้งกิจการกระจายเสียง กิจการฌโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมอื่นๆในอัตรา 2.5% โดยแต่ละปีนั้น กองทุน USO มีรายได้ประมาณปีละ 35,000-40,000 ล้านบาท ทั้งนี้แม้วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุน USO จะเป็นไปเพื่อนำเม็ดเงินที่เรียกเก็บจากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตจากผู้ประกอบกิจการวิทยุ กิจการโทรทัศน์ และกิจการสื่อสารโทรคมนาคมเพื่อนำไปพัฒนาบริการโทรคมนาคมในท้องถิ่นทุรกันดาร หรือพื้นที่ห่างไกล ที่ผู้ประกอบการโทรคมนาคมทั้งหลายไม่อยากเข้าไปลงทุน กองทุน USO จึงต้องเจ้ามาเติมเติมส่วนนี้เพื่อประโยชน์ของประชาชน โดยเฉพาะผู้คนในระดับรากหญ้า แต่ที่ผ่านมาการใช้งบของกองทุนดังกล่าวโดยเฉพาะในช่วงคณะกรรมการ กสทช.ชุดปัจจุบันที่ทำหน้ารักษาการถูกวิจารย์ว่ามีการใช้งบหลากหลายช่องทาง ขณะที่หน่วยงานที่ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบือ ซุปเปอร์บอร์ด กสทช.หรือกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน กสทช. (กตป.)นั้น ไม่มีการตรวจสอบกันอย่างจริงจัง รวมทั้งหน่วยงานตรวจสอบอย่างสำนักงานตรวจการแผ่นดิน(สตง.) “อย่างที่เคยมีกระแสข่าวกองทุน USO ไฟเขียวงบ 3,000 ล้านไปให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติผุดศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินแห่งชาติ 191 ที่ป่านนี้คนไทยจะรู้หรือไม่ โทร 191 ที่บอกโทรไม่ติด สายไม่ว่าง จนหลากหลายหน่วยงานหรือแม้แต่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศลค.ยังต้องเปิดสายด่วน หรือเบอร์ฉุกเฉินกันเองนั้นสะท้อนผลงานการใช้งบของกองทุนได้ดี ล่าสุดกองทุนยังเจียดงบกองทุนอีกปีละกว่า 3,000 ล้านออกไปให้กระทรวงดีอีเอสผ่านคณะกรรมการดิจิทัลแห่งชาติที่จัดโครงการต่างๆมากมาย แหล่งข่าวยังกล่าวด้วยว่า ในห้วงที่ประเทศกำลังสำลักพิษจากวิกฤตไวรัสโควิด-19 บรรดาธุรกิจน้อย-ใหญ่ โรงงานอุตสาหกรรมและภาคการผลิต บริการต่างล้มระเนระนาด ผู้คนต้องตกงานกันนับสิบล้านคน รายที่มีสายป่านยาวหน่อยก็หืดจับหายใจไม่ทั่วท้องต้องรัดเข็มขัดอยู่นั้น บทบาทของกองทุน USO เองน่าจะถึงเวลาสังคายนาและปรับเปลี่ยนเงินกองทุนที่นำามาจากค่าธรรมเนียมใบอนุญาต 2.5% สมควรยกเลิกหรือปรับลดให้สมน้ำ สมเนื้อกับภารกิจที่เหลืออยู่ โดยโครงการเน็ตชายขอบ หรือโครงการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง (ยูโซ่เน็ต) ในพื้นที่ชายขอบ((Zone C) เฟสแรก 3,920 หมู่บ้าน วงเงิน 13,614.62 ล้านบาท และเน็ตชาบขอบ เฟส 2 จำนวน 15,732 หมู่บ้านวงเงินอีกกว่า 20,000 ล้านบาท ที่กสทช.เปิดให้บริษัทเอกชนเข้ามาดำเนินการเมื่อ 3-4 ปีก่อน และได้โอนภารกิจเหล่านี้ไปให้กระทรวงดีอีเอสรับช่วงดูแลต่อ เพื่อให้สอดคล้องกับโครงการเน็ตประชารัฐ 24,700 หมู่บ้านของรัฐบาลแล้ว ดังนั้นบทบาทของกองทุนในปัจจุบันจึงแทบจะไม่หลงเหลือภารกิจอะไรให้ทำแล้ว ทั้งนี้ไม่น่าเชื่อว่า บอร์ด กสทช.และบอร์ดบริหารกองทุนล่าสุดยังคงมีนโยบายให้คงอัตราจัดเก็บค่าธรรมเนียมยูโซ่ไว้ดังเดิม และสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันทำโครงการต่างๆออกมาอีก งานนี้ต้องรอว่า กสทช.ชุดใหม่จะมีแนวคิดเยียวยาให้แก่ผู้ประกอบการสื่อสารโทรคมนาคมบ้างหรือไม่ อีกไม่นานรู้กัน