สำนักงาน ป.ป.ช. เปิดตัวสื่อเรียนรู้การเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ หวังสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่หน่วยงานของรัฐ ในการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ ซึ่งส่งผลต่อดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index : CPI) ของประเทศ เสริมประสิทธิภาพการบริหารจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบ มีธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ในระดับสากล
เนื่องจากปัจจุบันโลกได้เข้าสู่ยุคดิจิทัลที่มีเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและเข้ามามีบทบาทในการอำนวยความสะดวกให้หน่วยงานของรัฐ เอกชน และประชาชนสามารถติดต่อสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน โดยปราศจากข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่ สามารถเชื่อมโยงระหว่างกันได้เพียงเสี้ยววินาที โดยมีเว็บไซต์ (Website) ที่เป็นแหล่งเก็บรวบรวมข้อมูลสารสนเทศต่าง ๆ ขณะเดียวกันสถานการณ์แพร่ระบาด COVID-19 ที่ประชาชนไม่สามารถติดต่อสัญจรไปมาหาสู่กันได้อย่างสะดวกแบบ face to face เหมือนที่เคยนั้น ทำให้ช่องทางออนไลน์บนโลกดิจิทัล มีความสำคัญมากยิ่งขึ้น
ดังนั้น เว็บไซต์หน่วยงานของรัฐ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการเป็นช่องทางให้ผู้ใช้บริการหรือประชาชนสามารถติดต่อหน่วยงานของรัฐต่าง ๆ ได้อย่างสะดวก เข้าถึงข้อมูลการบริการ การดำเนินงานของหน่วยงานได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญให้เกิดความโปร่งใส ความรับผิดชอบต่อการปฏิบัติหน้าที่ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมให้ประชาชนได้ร่วมตรวจสอบและแสดงความคิดเห็นต่อการดำเนินงาน อันจะก่อให้เกิดความเชื่อมั่นและไว้วางใจจากประชาชนต่อการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐยิ่งขึ้น
ขณะที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดให้รัฐมีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองและต้องจัดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้โดยสะดวก ประกอบกับกฎหมายว่าด้วยการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล ยังได้กำหนดให้ “หน่วยงานของรัฐจัดทำข้อมูลที่ต้องเปิดเผยตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการในรูปแบบดิจิทัลต่อสาธารณะโดยต้องให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้อย่างเสรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และสามารถนำไปเผยแพร่ใช้ประโยชน์ หรือพัฒนาบริการและนวัตกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ได้”
สำนักงาน ป.ป.ช. ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ค่อยส่งเสริมให้หน่วยงานของรัฐทุกประเภทบริหารจัดการองค์กรให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าวโดยการ “ผลิตสื่อเรียนรู้การเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ” เพื่อยกระดับการเปิดเผยข้อมูลที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐไปสู่ “ความเป็นสาธารณะ” และ “ความโปร่งใส” เปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในความครอบครองได้อย่างสะดวก ถูกต้อง ครบถ้วน เป็นระบบ และเป็นปัจจุบัน
ในรูปแบบวิดีทัศน์ 7 ตอน/เรื่องต่อเนื่องกัน ประกอบด้วย ตอนที่ว่าด้วยเจตนารมณ์ของการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ จำนวน 1 ตอน/เรื่อง และตอนที่ว่าด้วยคำแนะนำในการเปิดเผยข้อมูลบนเว็บไซต์ จำนวน 6 ตอน/เรื่อง ได้แก่ 1) ข้อมูลพื้นฐานของหน่วยงาน 2) ข้อมูลการบริหารหน่วยงาน 3) ข้อมูลการบริหารเงินงบประมาณของหน่วยงาน 4) ข้อมูลการบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคลของหน่วยงาน 5) ข้อมูลการส่งเสริมความโปร่งใสของหน่วยงาน และ 6) ข้อมูลการป้องกันการทุจริตของหน่วยงาน
ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช.คาดหวังให้หน่วยงานภาครัฐทุกประเภทสามารถเปิดเผยข้อมูลสาธารณะได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน เป็นระบบและเป็นปัจจุบัน ส่วนภาคประชาชนซึ่งถือเป็นผู้รับบริการจากภาครัฐจะได้รับประโยชน์เป็นอย่างยิ่งจากหน่วยงานของรัฐที่ได้เปิดเผยข้อมูลบนเว็บไซต์ สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในข้อมูลที่อยู่ในความครอบครองของรัฐได้อย่างสะดวก ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐเพื่อสร้างความโปร่งใส อันจะส่งผลต่อการยกระดับผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity & Transparency Assessment : ITA) ตามเป้าหมายของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่หน่วยงานของรัฐต้องผ่านเกณฑ์การประเมิน ITA จำนวนร้อยละ 80 ขึ้นไป ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และส่งผลให้ดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index : CPI) ของไทยดีขึ้นในที่สุด
สำหรับ “สื่อการเรียนรู้การเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ” ชุดนี้ หน่วยงานภาครัฐทุกประเภทและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง สามารถเรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้ในการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะของตนเองได้ โดยจะเผยแพร่ผ่าน Web-Application ที่ชื่อว่า “ระบบธรรมาภิบาลออนไลน์”หรือ https://ggde.nacc.go.th ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 เป็นต้นไป