ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นันทรัตน์ นามบุรี คณบดีคณะวิทยาการจัดการมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา หรือ มรย.และนักวิจัยข้ามศาสตร์ ( transdisciplinarity) ได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อ (ก) สร้างต้นแบบการบริหารจัดการศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ตามศาสตร์พระราชาเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ (ข) พัฒนาระบบงานสารสนเทศทางการเงินเพื่อรองรับธุรกิจและบริการภาพรวมของชุมชนปิยมิตร รวมถึง (ค) แปรรูปและพัฒนาเห็ดหลินจือดำให้เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพเฉพาะทาง ทั้งนี้ เพราะ วช. เล็งเห็นว่า ชุมชนปิยะมิตรทั้ง 5 แห่ง เป็นชุมชนที่มีอัตลักษณ์พิเศษซึ่งกระจายอยู่ในจังหวัดยะลา จำนวน 4 แห่ง และ สงขลาจำนวน 1 แห่ง โดยเริ่มต้นที่ 'ชุมชนปิยะมิตร 1' ซึ่งตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา แล้วค่อยขยายผลไปยังชุมชนปิยะมิตรอื่นๆ อีก 4 แห่ง รวมถึง ชุมชนที่ชาวบ้าน หรือ ชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มีความประสงค์ หรือ ต้องการที่จะให้ภาครัฐและกลไกที่เกี่ยวข้องเข้าไปต่อยอดและหนุนเสริมกิจกรรมของชุมชนให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน
"ชุมชนปิยะมิตร 1 เป็นหมู่บ้านยุทธศาสตร์ตามแนวชายแดนไทย- มาเลย์ ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและตั้งขึ้นเมื่อ 31 มีนาคม 2531 โดยความร่วมมือของกองทัพภาคที่ 4 และกรมป่าไม้ มีเนื้อที่รวม 3,250 ไร่และอยู่บริเวณเดียวกันกับพื้นที่ที่เคยเป็นฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์มลายา เขต 2 เมื่อปี พ.ศ. 2519"
ชุมชนปิยะมิตร 1 มีการจัดสรรพื้นที่ออกเป็นส่วนๆ ประกอบด้วย (ก) พื้นที่ทํากิน (ข) พื้นที่อยู่อาศัย และ (ค) พื้นที่สาธารณะประโยชน์ อีกทั้ง มีกิจกรรมเพื่อการสร้างงานส สร้างอาชีพ หรือ สร้างรายได้ของตนเอง รวม 4 กิจกรรม คือ (ก) ให้เช่าทรัพย์สินส่วนกลางที่มีทั้งอาคารพาณิชย์ ร้านค้าและพื้นที่เช่า (ข) แปรรูปและจำหน่ายสมุนไพรขั้นพื้นฐาน (ค) บริการการท่องเที่ยวและชมพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นฐานปฏิบัติการและหลบภัยของอดีตพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา ( พคม.) รวมไปถึง การเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ อนุสรณ์สถานวีรชนและ (ง) ให้เช่าพื้นที่ส่วนกลางเพื่อการกสิกรรม ซึ่งแต่ละกิจกรรมมีรายได้เป็นของตัวเองและกลุ่มที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนปิยะมิตร 1 มากที่สุด คือ กิจกรรมการท่องเที่ยวซึ่งมีรายได้โดยเฉลี่ยที่ผ่านมาปีละ 10 ล้านบาท"
ชุมชนปิยะมิตร 1 มิใช่กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต หรือ วิสาหกิจชุมชน หรือ สหกรณ์ แต่มีรูปแบบบริหารจัดการเป็นของตนเอง กอปรกับ ผู้อาวุโส (ซึ่งเป็นอดีตสมาชิก พคม. ที่ยังมีชีวิตอยู่) และ กรรมการชุมชน รวมถึง สมาชิกเห็นตรงกันที่จะยกระดับ หรือ พัฒนาการบริหารจัดการให้มีระบบและเป็นมาตรฐานสากล คณะวิจัยจึงได้ขอรับเงินสนับสนุนจาก วช.ในรูปของทุนวิจัย เพื่อการนี้ พร้อมกันนี้ มรย. ยังได้จัดงบประมาณสมทบจำนวนหนึ่งสำหรับปรับปรุงอาคารที่กองทัพภาคที่ 4 สร้างไว้ เป็น 'ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ตามศาสตร์พระราชาเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์' หรือ ศศส. หนุนเสริมงานและกิจกรรมที่ วช.ให้การสนับสนุน และจะใช้ ศศส. เป็นกลไก หรือ แกนในการประสานและสร้างประโยชน์ร่วมระหว่างภาครัฐโดยเฉพาะท้องที่และท้องถิ่น กับ ประชาชน หรือ สมาชิกของชุมชนปิยะมิตรโดยรวม"
งบประมาณของ วช.และ มรย. จะถูกใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการและกิจกรรมที่ทำขึ้นจะกระตุ้นให้เกิดการ 'สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้และลดรายจ่าย' ของสมาชิกชุมชนปิยะมิตร 1 และ จะใช้รูปแบบและวิธีการบริหารจัดการที่พัฒนาขึ้นเป็นต้นแบบในการต่อยอดและยกระดับการบริหารจัดการชุมชนปิยะมิตรที่เหลืออีก 4 แห่ง รวมถึง ชุมชนอื่นๆที่สนใจ"
คณะวิทยาการจัดการ มรย. ทำงานข้ามศาสตร์และ เกาะเกี่ยวกับภาคี ตลอดจน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและมั่นใจว่ากิจกรรม รวมถึง ภารกิจการวิจัยทุกชิ้นงานมีลักษณะแตกต่างและไม่มีอยู่เดิมในพื้นที่ เช่น การร่วมมือ กับ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่และชุมชนร่วมกันคิดและตกลงร่วมกันแปรรูปก่อนที่จะสกัด 'เห็ดหลินจือดำ' ซึ่งเป็นเห็ดเฉพาะถิ่นตามธรรมชาติที่ขึ้นเฉพาะบริเวณรากไผ่ที่ระดับความสูง 1,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลและเติบโตอยู่ในบริเวณที่มีอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 15 -20 องศาเซลเซียส อีกทั้ง เก็บได้เพียงปีละครั้งระหว่างเดือนกรกฎาคม - สิงหาคมของทุกปีเป็น 'อาหารเสริม' เฉพาะทางโดยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย อีกทั้ง ผลิตภัณฑ์ที่จะพัฒนาขึ้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีจำหน่ายในท้องตลาดมาก่อนและขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบทางเคมีและกายภาพ รวมถึง การทดสอบทางจุลชีววิทยา การทดสอบความพึงพอใจในการใช้ควบคู่ไปกับการทดสอบประสิทธิภาพและการทดสอบความเป็นพิษ ตลอดจน การเตรียมขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและการทำบรรจุภัณฑ์เพื่อการผลิตและจัดจำหน่ายให้กับผู้บริโภค
" ผลผลิต (outputs) ผลลัพธ์ (outcomes) และผลกระทบ (impacts) ของทุกโครงการจะถูกนำมาคำนวณกลับเป็นตอบแทนที่เป็นตัวเงิน (ROI)และผลตอบแทนทางสังคม (SROI) จากการลงทุน อีกทั้ง มั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า ทั้งสามโครงการซึ่งมีการนำศาสตร์พระราชา ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 หรือ นวัตกรรมเพื่อบูรณาการสังคมไทยและพระบรมราโชบายในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 มาประยุกต์ใช้ 'ตอบโจทย์' ยังประโยชน์ เป็นต้นแบบและต่อยอดได้ภายใต้บริบทและเงื่อนไขที่มีอยู่ของพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจน เงื่อนไขของความปรกติใหม่ ( new normal) ที่ชุมชนกำลังเผชิญและก้าวข้ามไปสู่ความปรกติบทต่อไป (next normal) " ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นันทรัตน์ นามบุรี กล่าวทิ้งท้าย
เรื่อง : สุพจน์ อาวาส /ปัตตานี