จากการประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สนอว.) ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติเห็นชอบต่อ (ร่าง) กรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ อววน. พ.ศ. 2566–2570 ซึ่งเป็นการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์หลักครั้งสำคัญของประเทศด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยประกอบด้วย 6 จุดมุ่งเน้นของนโยบาย คือ
(1) ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง โดยใช้การพัฒนาตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) เน้นความสามารถในการผลิตวัคซีน
(2) ประเทศไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวโดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มุ่งเน้นคุณค่าและความยั่งยืน สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้
(3) ประเทศไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป และอาหารที่มีคุณค่าและมูลค่าสูง โดยมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงอยู่ในอันดับ 1 ใน 10 ของโลก
(4) ผู้สูงอายุมีศักยภาพและโอกาสอย่างเต็มที่ในการพึ่งตนเอง มีคุณค่าและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สังคม เพื่อรองรับสังคมสูงวัย
(5) ประเทศไทยสามารถพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ก้าวหน้า ล้ำยุคสู่อนาคต สำหรับการยกระดับอุตสาหกรรม ธุรกิจ และการบริการที่มีอยู่แล้ว และพัฒนาอุตสาหกรรม ธุรกิจใหม่
(6) ประเทศไทยสามารถสร้างกำลังคนสมรรถนะสูงและเป็นศูนย์กลางกำลังคนระดับสูงของอาเซียน โดยการพลิกโฉมระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต และสอดรับกับปรัชญาการอุดมศึกษาไทย
ทั้งนี้ หลังจากที่ประชุมเห็นชอบ (ร่าง) กรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ อววน. พร้อมกันนี้ ทางด้านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ก็มีการจัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) พ.ศ.2566–2570 สอดรับกับ กรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ อววน. เพื่อขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ
รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. เปิดเผยว่า สกสว. มีภารกิจสำคัญในการจัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (แผนด้าน ววน.) ของประเทศ มีทิศทางสอดคล้องตามกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ อววน. ยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บท ซึ่งปัจจุบัน สกสว. กำลังจัดทำแผนด้าน ววน. พ.ศ.2566-2570 ร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุน (PMUs) ผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องกับแผนงานกลยุทธ์ในประเด็นต่างๆ รวมถึงประชาคมวิจัย และภาคประชาสังคม โดยแผนด้าน ววน. ฉบับนี้ เป็นแผนปฏิบัติการที่มีการวิเคราะห์ข้อมูลจากหลากหลายมิติ อย่างเช่น แผนระดับชาติ (National Need) สถานการณ์ ววน. ทั้งในและต่างประเทศ ความต้องการรายสาขา (Sectoral Need) รวมถึงความต้องการของสังคมและพื้นที่ (Area Need) ตลอดจนการวิจัยเชิงระบบในสาขาที่สำคัญ จากนั้นผ่านการวิเคราะห์โดยใช้กลไกเครื่องมือต่างๆ ทำให้แผนด้าน ววน. ฉบับนี้ เกิดจากการบูรณาการของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
หลังจากที่แผนด้าน ววน. ฉบับใหม่ ได้รับการอนุมัติจากสภานโยบาย อววน. และคณะรัฐมนตรีแล้ว สกสว. มีหน้าที่ขับเคลื่อนแผนฯ ผ่านกลไกสำคัญคือ การจัดสรรงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) ให้กับหน่วยงานการวิจัยทั้งในและนอกกระทรวง อว. โดยจะมุ่งเน้นสนับสนุนการทำงานของเอกชนและประชาสังคมด้านการวิจัยให้มากขึ้น ขยายกรอบการทำงานตามพันธกิจไปสู่การสนับสนุนการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศ ตลอดจนสร้างความร่วมมือกับกองทุนต่างๆ รวมถึงเพิ่มทรัพยากรเพื่อการผลักดันการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ซึ่งจะเกิดผลลัพธ์ ผลกระทบที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างก้าวกระโดดในระยะเวลา 5 ปี และทำให้ประเทศไทยพร้อมรับมือกับภัยพิบัติในรูปแบบต่างๆ สกสว. ต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างสรรค์ผลงานและสร้างความเชื่อมั่นต่อสังคม ว่าวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมจะเป็นทางออกสำคัญในการพาประเทศไทยก้าวผ่านวิกฤต