สสก.1จ.ชัยนาท ลุยพัฒนาเกษตรกรตามนโยบาย BCG Model สำเร็จ สร้างผลงานดีผลงานเด่นต้นแบบ สวนอินทผาลัมชอนสารเดชที่ลพบุรี หลังส่งเสริมจนเกิดต้นแบบการพัฒนา ผลิตน้อยแต่สร้างรายได้มาก จากกพืชเชิงเดี่ยวมูลค่าต่ำสู่พืชมูลค่าสูง ที่ไม่ใช้สารเคมี เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นายวีระชัย เข็มวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 (สสก.1) จังหวัดชัยนาท เปิดเผยว่า ได้นำนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขับเคลื่อนงาน BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) ในการพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร เป้าหมายดำเนินการในช่วงปี 2564-2569 ด้วยโมเดลเกษตรสีเขียว BCG จะช่วยให้เกิดการพัฒนาสินค้าและบริการด้านการเกษตรมีมูลค่าสูงขึ้น ยกระดับมาตรฐานและคุณภาพสินค้าตลอดห่วงโซ่คุณค่า โดยเปลี่ยนรูปแบบจากการ “ผลิตมากแต่รายได้น้อย” (More for Less) ไปสู่การผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์แปรรูปพรีเมี่ยม และท่องเที่ยวเชิงเกษตร ซึ่งเป็นรูปแบบ “ผลิตน้อยแต่สร้างรายได้มาก” (Less for More) อีกทั้งยังนำวัสดุเดิมมาหมุนเวียนใช้ในแปลงปลูก สอดคล้องกับการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน นายวีระชัย กล่าวต่อไปว่า สสก. 1 จ.ชัยนาท จึงกำหนดเป้าหมายการส่งเสริมโมเดลเกษตรสีเขียว BCG ขึ้นในพื้นที่รับผิดชอบ 9 จังหวัด เพื่อตอบสนองตามนโยบายของกรมส่งเสริมการเกษตร และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสวนอินทผาลัมชอนสารเดช อำเภอหนองม่วง จังหวัดลพบุรี ของนายครองจักร งามมีศรี เป็นหนึ่งในเกษตรกรที่ประสบผลสำเร็จจนมีผลงานโดดเด่นโดยเฉพาะภายใต้แนวทางเศรษฐกิจสีเขียวด้านการเกษตร สสก. 1 จ.ชัยนาท จึงคัดเลือกให้ได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพทำสวน ระดับเขต ประจำปี 2564 “สวนอินทผาลัมชอนสารเดช เป็นต้นแบบการพัฒนาตามนโยบายดังกล่าว โดยเฉพาะการพัฒนาสินค้าด้านการเกษตรให้มีมูลค่าสูงขึ้น โดยจากเดิมนั้นปลูกเชิงเดี่ยว อย่างพืชไร่มาเป็น อินทผลัมที่เป็นพืชเศรษฐกิจที่ให้ผลแทนสูง อีกทั้งยังมีการดำเนินงานในสวนที่สอดคล้องกับหลักการของ BCG Model โดยในด้าน B หรือ Bioeconomy เน้นการทำเกษตรแบบชีวภาพ ลดการใช้สารเคมี มีการใช้ปุ๋ยหมักเข้ามาทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี ทำให้ดินมีความร่วนซุย โปร่ง ทำให้ต้น อินทผลัม เจริญเติบโตได้ดีด้วยรากหาอาหารได้มากขึ้นและลึกขึ้น ส่งผลให้ได้ผลผลิตต่อต้นที่สูงมากขึ้น คุณภาพผลผลิตดี รวมถึงทำให้สิ่งแวดล้อมดีอีกด้วย ส่วน C หรือ Circular Economy ที่สวนแห่งนี้ได้เน้นถึงการเพิ่มมูลค่าสินค้าของอินทผลัมสดด้วยการนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ช่วยทำให้มูลค่าสินค้าเพิ่มขึ้น 2 – 3 เท่าตัว เช่น น้ำนมอินทผลัม ชาดอกอินทผลัม เป็นต้น และสุดท้าย G หรือ Green Economy ที่สวนแห่งนี้เน้นการปฏิบัติตามหลักการผลิตทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม จนได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP จากความร่วมมือของสำนักงานเกษตรอำเภอหนองม่วงและศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรลพบุรี กรมวิชาการเกษตร” นายวีระชัย กล่าว ด้าน นายสุชาติ กลิ่นทองหลาง เกษตรจังหวัดลพบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากเหนือจาการเข้ามาช่วยสนับสนุนเพื่อให้เกิดการพัฒนารูปแบบการประกอบอาชีพด้านการเกษตรตามนโยบาย BCG Model แล้ว ยังได้ให้การสนับสนุนในการยกระดับเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร และการตลาดด้านออนไลน์ โดยในช่วงเดือนกรกฎาคมของทุกปี จะมีการจัดกิจกรรมบุฟเฟต์อินทผลัมขึ้นที่สวนของเกษตรกรเพื่อให้ประชาชนที่สนใจได้มาเที่ยวชม พร้อมเลือกซื้อผลผลิต อีกทั้งยังสนับสนุนให้ทางสวนอินทผาลัมชอนสารเดชทำการตลาดออนไลน์ ทั้งผ่านทางเว็บไซต์ตลาดเกษตรออนไลน์.com ของกรมส่งเสริมการเกษตร และผ่านช่องทางออนไลน์ของทางสวนเอง ได้แก่ Facebook : สวนอินทผาลัมชอนสารเดช หรือ Line : @pbw0849f หรือ โทรศัพท์ 085-9097445, 099-2756444 ขณะที่ นายครองจักร งามมีศรี เกษตรกรวัย 72 ปี เจ้าของสวนอินทผาลัมชอนสารเดช กล่าวว่า ได้เริ่มปลูกอินทผลัมครั้งแรกในปี 2556 โดยได้ซื้ออินทผลัมกินสดมารับประทานและนำเมล็ดไปเพาะ ซึ่งปรากฏว่า สามารถเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ ซึ่งสภาพดินนั้นมีปัญหาหน้าดินตื้น ดินไม่มีความอุดมสมบูรณ์ แต่ต้นอินทผลัมกลับขึ้นได้ จึงเริ่มศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการปลูกมากอย่างต่อเนื่อง และพัฒนารูปแบบการปลูกด้วยการสั่งซื้อต้นพันธุ์อินทผลัมเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากต่างประเทศเข้ามาปลูก โดยสายพันธุ์ที่ปลูก ได้แก่ สายพันธุ์บาฮี สายพันธุ์อัมเอ็ดดาฮาน สายพันธุ์โคไนซี่ สายพันธุ์อัจวะห์ สายพันธุ์คาลาส สายพันธุ์ซูกินี ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกทั้งหมด 20 ไร่ นายครองจักร กล่าวต่อไปว่า ต่อมาในปี 2563 อินทผลัมทั้ง 20 ต้นที่ปลูก มีผลผลิตให้สามารถเก็บจำหน่ายเป็นปีแรก โดยราคาจำหน่ายอยู่ที่กิโลกรัมละประมาณ 500-1,000 บาท นอกจากการจำหน่ายผลผลผลิตทั้งในรูปผลสดและผลแช่แข็งแล้ว ยังได้นำมาแปรรูปเพิ่มเพิ่มมูลค่าและความหลากหลายของสินค้า เช่น นมสดอินทผลัม ชาดอกอินทผลัม น้ำเชื่อมอินทผลัม นอกจากนี้ยังมีการจำหน่ายต้นพันธุ์ หน่ออินทผลัม และ เกสรตัวผู้ จำหน่ายให้กับผู้สนใจด้วย “สวนอินทผาลัมชอนสารเดช จะให้ความสำคัญกับการทำเกษตรตามแนวทางเศรษฐกิจสีเขียวด้านการเกษตร โดยเฉพาะการทำเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รักษาสภาพแวดล้อมและความสมดุลทางธรรมชาติ โดยได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้จาก สำนักงานเกษตรจังหวัดลพบุรี และสสก. 1 จ.ชัยนาท เช่น การนำวัสดุหมุนเวียนมาใช้ในสวนด้วยการใช้ถุงห่อผลแบบนำกลับมาใช้ซ้ำภายในสวน ลดการใช้สารเคมี สร้างผลผลิตตามมาตรฐาน GAP เน้นให้มีคุณภาพ ไม่มีสารพิษตกค้าง เกิดความปลอดภัยต่อผู้บริโภค เป็นต้น” นายครองจักร กล่าวในที่สุด