ยุค 5G ในปัจจุบันที่ผู้คนต้องใช้ชีวิตแข่งกับเวลา ทำให้ "พ็อดคาสท์" (PODCAST) กลายเป็นทางเลือกใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของผู้คน ซึ่งสามารถเลือกติดตามได้ตามความสนใจของแต่ละบุคคลในทุกที่ทุกเวลา
มหิดลแชนแนล (Mahidol Channel) ได้เปิดตัวรายการที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนรุ่นใหม่ในยุค 5G ซึ่งสามารถติดตามได้ทาง “พ็อดคาสท์” ซึ่งเป็นช่องทางใหม่ได้แก่ "Well-Being สุขภาพดีสร้างได้" และ "Re-Mind อารมณ์ ความคิด พฤติกรรม" และอีกรายการที่กำลังจะเผยแพร่ต่อไป คือ "Food Chioce กินดี สุขภาพดี เลือกได้" โดยที่ผ่านมา ทั้ง "Well-Being สุขภาพดีสร้างได้" และ "Re-Mind อารมณ์ ความคิด พฤติกรรม" ได้รับความสนใจจากผู้ฟังอย่างกว้างขวาง รวมถึงผู้ที่มีความต้องการพิเศษ ซึ่งนอกจากสามารถฟังย้อนหลังได้ทาง Apple Podcast, Soundcloud, Blockdit, Spotify และ Anchor แล้ว ยังสามารถติดตามได้ทั้งภาพ และเสียงพร้อมคำบรรรยายที่จัดทำเป็นคลิปวิดีโอเผยแพร่ทาง YouTube อีกด้วย
อาจารย์ ดร.ระพี บุญเปลื้อง หัวหน้าภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยากรผู้ดำเนินรายการ"Well-Being สุขภาพดีสร้างได้" Mahidol Channel PODCAST ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกสร้างสรรค์รายการของมหิดลแชนแนล (Mahidol Channel) มาตั้งแต่ช่วงแรกเริ่ม จนเข้าสู่ปีที่ 10 ในปี 2564 นี้ ได้กล่าวถึงความภาคภูมิใจในฐานะที่เป็น "ปัญญาของแผ่นดิน" ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้ทำหน้าที่ "ถามแทนใจผู้ฟัง" ในการพูดคุยกับวิทยากรผู้เชี่ยวชาญที่มาเป็นแขกรับเชิญในรายการ "Well-Being สุขภาพดีสร้างได้" Mahidol Channel PODCAST ถึงเรื่องราวที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาวะองค์รวมซึ่งจะนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดี และชีวิตที่ดี ผ่านการร่วมเรียนรู้ เพื่อนำไปปรับใช้ให้เข้ากับแต่ละบุคคล
"Well-Being สุขภาพดีสร้างได้" Mahidol Channel PODCAST เปิดตัวด้วย EP.1 “การอยู่ร่วมกันของความเห็นต่างทางการเมือง” ซึ่งสามารถจุดประกายให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว แม้จะคุยกันเรื่องการเมืองที่อาจเห็นต่าง เช่นเดียวกับ EP.2 “ทำอย่างไรเมื่อชีวิตคู่ถึงทางตัน” เพื่อการสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัวนอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่เป็นประโยชน์สำหรับคนในวัยทำงาน "ทลายกำแพงต่างวัยในออฟฟิศ" รวมทั้งเสริมสุขภาพทางการเงินเพื่อเตรียมพร้อมสู่การเป็นผู้สูงวัย ด้วยประเด็น "การวางแผนการเงินเกษียณตอนอายุ 55 ปี" ฯลฯ
ทั้งนี้ไม่ว่าพฤติกรรม และความต้องการของผู้ฟัง หรือผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่อย่างไรมหิดลแชนแนล (Mahidol Channel) ยังคงไม่หยุดยั้งในความพยายามที่จะสื่อสารองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยมหิดลสู่ผู้ติดตามรายการ ให้ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ อย่างถูกต้อง และก่อให้เกิดปัญญา
อาจารย์ นายแพทย์สมบูรณ์ หทัยอยู่สุข อาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในฐานะวิทยากรผู้ดำเนินรายการ "Re-Mind อารมณ์ ความคิด พฤติกรรม" Mahidol Channel PODCAST ว่า รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้นำเอาทักษะทางวิชาชีพของการเป็นอาจารย์แพทย์ทางด้านจิตเวชศาสตร์มาใช้ในการดำเนินรายการดังกล่าว ซึ่งโดยปกติเวลาตรวจรักษาผู้ป่วย จะใช้วิธีการพูดคุยเป็นหลักอยู่แล้ว แต่ที่ใช้มากที่สุด คือ “การฟัง” จากเรื่องราวของแต่ละผู้ป่วยที่เข้ามาปรึกษาปัญหาต่างๆ โดยนำมาจัดลำดับทางความคิด แล้วปรับภาษาทางวิทยาศาสตร์ ให้เป็นภาษาที่ฟังแล้วเข้าใจง่าย ซึ่งจากการที่ได้พูดคุยกับบุคคลต่างๆ เป็นประจำอยู่แล้วนี้ ทำให้ทราบดีว่าคนในสังคมส่วนใหญ่ต้องการอะไร หรือมีความทุกข์จากเรื่องอะไร เลยตั้งใจจะทำให้รายการมีเนื้อหาที่ตอบโจทย์มากที่สุด
โดยรายการ "Re-Mind อารมณ์ ความคิด พฤติกรรม" Mahidol Channel PODCAST ประเดิมด้วยประเด็น “อันตรายจากการเลี้ยงลูกด้วยมือถือ” ใน EP.1 ที่จะทำให้เด็กยุคใหม่เติบโตโดยไม่ถูกเทคโนโลยีทำร้าย นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายตอนที่น่าติดตาม อาทิ “การจัดการความเครียดด้วยตนเอง” ก่อนลุกลามเป็นโรคทางกาย และทางใจ “เรียนรู้และเข้าใจโรคซึมเศร้า” ก่อนจะเข้ามาเป็นเงามืดในชีวิต และ “เลี้ยงลูกอย่างไร เมื่อลูกเป็น LGBTQ+” หรือ “ความหลากหลายทางเพศ” เป็นต้น
“ความเครียด หรือความไม่พร้อมทางจิตใจ เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมนุษย์ในสังคมเมืองยุค 5G ในทุกช่วงวัย จริงๆ แล้วความเครียด เป็นปฏิกิริยาทางจิตใจที่เกิดขึ้นโดยปกติ แต่เรามักลืมว่าเรากำลังรู้สึกอะไร ไม่รู้ในสิ่งที่กำลังเกิดว่าจะกำลังจะก้าวไปสู่ปัญหาใด หรือบางทีก็ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วตัวเรามีศักยภาพอะไรอยู่ภายใน รายการ "Re-Mind อารมณ์ ความคิด พฤติกรรม" Mahidol Channel PODCAST ที่ตั้งใจทำขึ้นนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ทุกคนสามารถฝ่าฟันวิกฤติ ความเครียด ความทุกข์ และความรู้สึกไม่มั่นคงทางใจไปได้ โดยเราจะไปเติมเต็ม และสร้างการเติบโตให้เกิดขึ้นภายในจิตใจของทุกคน ให้เกิดศักยภาพที่จะทำให้สามารถกลับมาทบทวน และรู้จักตัวเองได้ในที่สุด” อาจารย์ นายแพทย์สมบูรณ์ หทัยอยู่สุข กล่าว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงดรุณีย์วัลย์ วโรดมวิจิตรอาจารย์แพทย์ประจำสาขาวิชาโภชนวิทยาและชีวเคมีทางการแพทย์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้คร่ำหวอดในแวดวงวิชาการด้านอาหารและโภชนาการ ในฐานะวิทยากรผู้ดำเนินรายการ "Food Chioce กินดี สุขภาพดี เลือกได้" ซึ่งกำลังจะเผยแพร่ต่อไปทาง Mahidol Channel PODCAST ได้กล่าวถึงหลักในการดำเนินรายการว่า ตั้งใจจะให้ Mahidol Channel PODCAST เป็นช่องทางหนึ่งในการให้ความรู้กับประชาชนด้วยข้อมูลที่เป็นกลาง และเป็นวิทยาศาสตร์ที่อ้างอิงได้ เพื่อการตัดสินใจนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเอง ด้วยความที่รายการไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับภาคธุรกิจ จึงคาดว่าจะสามารถนำเสนอเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนได้อย่างเต็มที่
สำหรับรายการ "Food Chioce กินดี สุขภาพดี เลือกได้" Mahidol Channel PODCAST จะไม่ชี้นำว่าดีหรือไม่ แต่จะให้ข้อมูลเพื่อให้ประชาชนสามารถ “เลือกอย่างฉลาด” ด้วยการพิจารณาอย่างรอบด้าน ให้เหมาะสมกับสุขภาวะของแต่ละบุคคล ยกตัวอย่างเช่น เรื่องของอาหาร ไม่ใช่ว่าเลือกแต่อาหารที่อิ่มท้อง แต่ต้องเป็นอาหารที่มีคุณค่าด้วย ซึ่งอาหารที่ดี ไม่จำเป็นต้องมีราคาแพงเสมอไป นอกจากนี้ วิตามินหรืออาหารเสริมอาจไม่สำคัญเท่ากับการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และหลากหลาย รวมทั้งไม่สามารถใช้แทนยารักษาโรคได้ เป็นต้น
“การที่เราคุยกับคนไข้ เราอาจบอกได้แค่คนเดียว แต่จะเกิดประโยชน์อย่างแพร่หลายเพียงใด หากได้บอกผ่านรายการ"Food Chioce กินดี สุขภาพดี เลือกได้" Mahidol Channel PODCAST ซึ่งต่อไปเชื่อว่าจะมีการปรับรูปแบบของรายการให้เข้าถึงความต้องการของประชาชนได้มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเราพร้อมเสมอที่จะฟัง "เสียงจากประชาชน" เพื่อมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับประชาชน"