เหนื่อย...หมดไฟ...ไม่ได้พัก
คำเหล่านี้มักพ่วงมาพร้อมๆ กันในสภาวะความเครียดที่น่าหงุดหงิดใจและทำให้เราไม่รู้สึกถึงความกระตือรือร้นที่จะทำอะไรอีก
อาการหมดไฟ (burnout) เหล่านี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคนที่อยู่ในระบบการศึกษา ยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ทำให้การเรียนการสอนแบบปกติต้องหยุดชะงัก และโยนทั้งนักเรียนและครูเข้าสู่การปรับตัวขนานใหญ่ ทำให้ความเครียดที่เพิ่มขึ้นมาจากสภาวะดังกล่าวยิ่งส่งผลร้ายต่อการจัดการเรียนการสอน
จากการให้สัมภาษณ์ของ แอนเดรีย ซาเฟียราควู (Andria Zafirakou) อาจารย์สอนศิลปะและสิ่งทอชาวอังกฤษ ผู้ที่ได้รับรางวัลครูโลก (Global Teacher Prize) ประจำปี ค.ศ.2018 ได้กล่าวเอาไว้ว่า นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ครูชาวอังกฤษร้อยละ 15.3 ที่เพิ่งเริ่มทำงานในช่วงปี ค.ศ. 2017 ก็ได้ถอนตัวออกจากการสอนไปแล้ว
ขณะที่งานศึกษาเรื่องความเกี่ยวข้องระหว่างสภาวะความเครียดและอาการหมดไฟกับนักเรียนในประเทศสเปน ของศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยกรานาดา (University of Granada) สาขาวิชาจิตวิทยาการพัฒนาและการศึกษา ประเทศสเปน เฟอร์นานเดซ-คาสติลโล อันโตนีโอ (Fernández-Castillo Antonio) ภายใต้หัวข้อ ‘State-Anxiety and Academic Burnout Regarding University Access Selective Examinations in Spain During and After the COVID-19 Lockdown’ ได้ข้อค้นพบที่น่าสนใจว่า สภาวะการหมดไฟและความเครียดมักจะเกิดขึ้นกับนักเรียนที่กำลังเข้าสอบเพื่อศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นจำนวนมาก เมื่อเทียบกับสัดส่วนของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด (886 คน จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,021 คน)
เขาระบุว่า กลุ่มนักเรียนที่กำลังเตรียมตัวเข้าสอบจะมีความเครียดและภาวะหมดไฟมากกว่ากลุ่มที่ผ่านการสอบเข้ามหาวิทยาลัยไปแล้ว จากตัวเลขเหล่านี้ทั้งในฝั่งของครูและฝั่งของผู้เรียนจะสามารถเห็นได้ว่า ภาวะการหมดไฟเป็นตัวแปรอย่างหนึ่งที่มีผลต่อทั้งผู้เรียนและผู้สอน รวมถึงจะเป็นปัญหาต่อการจัดการเรียนการสอนในปัจจุบัน ซึ่งเป็นสภาวะของการปรับตัวในรูปแบบของสังคมวิถีใหม่ (New Normal) เป็นอย่างมาก
ศาสตราจารย์เชอร์รี เบิร์ก คาร์เตอร์ (Sherrie Bourg Carter) นักจิตวิทยาและนักเขียนหนังสือเกี่ยวกับความเครียดของผู้หญิงและเด็ก ได้ระบุเอาไว้ว่า ภาวะหมดไฟคือสภาวะการเหนื่อยล้าทั้งทางสภาพร่างกายและสภาพอารมณ์ สภาวะไม่ยินดียินร้ายกับเรื่องต่างๆ และความรู้สึกไม่ประสบความสำเร็จในสิ่งต่างๆ ซึ่งผู้ที่อยู่ในสภาวะนี้จะไม่สามารถจัดการชีวิตประจำวันได้เหมือนที่เคยทำมา และจะมีผลต่อหน้าที่การงานที่ทำ อย่างไรก็ตาม ภาวะหมดไฟนั้นจะไม่ได้เกิดขึ้นอย่างทันที แต่ค่อยๆ เกิดขึ้นอย่างช้าๆ และมีสัญญาณเตือนออกมาเรื่อยๆ ที่จำเป็นจะต้องสังเกต
จากข้อมูลที่พบทั้งในงานวิจัยของ แอนเดรีย เฟอร์นานเดซ-คาสติลโล และงานศึกษาของ เชอร์รี เบิร์ก คาร์เตอร์ ชี้ให้เราเห็นจุดร่วมตรงกันว่า สภาวะการหมดไฟและความเครียดนั้นส่วนหนึ่งมีที่มาจากการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ การทำกิจวัตรประจำวันเดิมๆ ซ้ำๆ เป็นระยะเวลานาน รวมถึงการเรียนการสอนเอง หากไม่ได้มีการจัดสัดส่วนของเวลาผ่อนคลายและพักฟื้นสภาพร่างกายและอารมณ์ที่เหมาะสม ก็อาจนำไปสู่สภาวะปัญหาดังกล่าวได้
ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา โลกประสบกับการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของไวรัส COVID-19 ที่ส่งผลต่อการนำผู้เรียนและผู้สอนออกจากห้องเรียนมาสู่หน้าจอคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน โดยเฉพาะการถูกเร่งระยะเวลาเพื่อชดเชยชั่วโมงเรียนที่ขาดหายไป ประกอบกับการสอบวัดระดับที่กวดขันขึ้นมานั้น จะยิ่งทำให้ทั้งผู้เรียนและผู้สอนประสบปัญหาสภาวะหมดไฟและพัฒนาระดับความเครียดให้สูงขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นปัญหาต่อการจัดการเรียนการสอน ซึ่งอาจจะไม่ได้ทำให้นักเรียนค่อยๆ หลุดออกจากระบบการศึกษาเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น แต่ฝั่งผู้สอนเองก็อาจจะมีสภาวะหมดไฟจนเริ่มหลุดออกจากระบบการสอนได้ด้วยเช่นกัน
การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอก็เป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การไม่รู้สึกถึงการประสบความสำเร็จในสิ่งที่ทำ หากเป็นผู้สอนก็อาจรู้สึกว่าจะต้องพยายามขึ้นเรื่อยๆ เพื่อจะบรรลุเป้าหมายในการสอน ขณะที่หากเป็นนักเรียนก็อาจจะกดดันตนเองในการอ่านหนังสือเตรียมความพร้อมสำหรับการสอบ สภาพปัญหาดังกล่าวนั้นสามารถป้องกันได้หากมีการจัดการเพิ่มเวลาพักผ่อนอย่างเพียงพอ รวมไปถึงการลดเวลารับข้อมูลข่าวสารจากหน้าจอสมาร์ทโฟนลงบ้าง เนื่องจากการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 นั้น งานศึกษาของ ลิซ ฟอสเลียน (Liz Fosslien) และ มอลลี เวสต์ ดัฟฟี (Mollie West Duffy) จากโรงเรียนธุรกิจมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard Business School) ได้ค้นพบว่า การรับข้อมูลที่มากเกินไปจากหน้าจอเป็นเวลานาน จะทำให้สมองเกิดความเครียดและทำการ ‘ปิดการรับสาร’ (turned off) จนไม่สามารถรับข้อมูลใดๆ ต่อได้อีก ผู้เรียนและผู้สอนที่ปัจจุบันต้องจดจ่ออยู่กับหน้าจอเป็นเวลานานจึงเริ่มเกิดสภาวะหมดไฟ และใช้เวลานานมากกว่าปกติในการบรรลุเป้าหมายของตนเองในการเรียนการสอน
ภายใต้สถานการณ์การปรับตัวที่ยากลำบากของโลกวิถีใหม่นี้ ผู้เรียนและผู้สอนจึงไม่เพียงแค่ต้องปรับตัวด้านวิธีการศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องใส่ใจถึงวิธีการรับมือกับสภาวะหมดไฟที่กำลังเกิดขึ้นตามมาอีกด้วย แม้ว่าจะต้องเพิ่มชั่วโมงการเรียนการสอนมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องเรียกร้องให้มีการพักผ่อนที่มากขึ้นเช่นกัน
การถอยห่างออกจากหน้าจอสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์ และการจัดให้มีการเรียนการสอนที่ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในโลกออนไลน์ ยังคงมีความสำคัญกับทั้งครูและนักเรียน ดังนั้นทุกฝ่ายในแวดวงการศึกษาจำเป็นต้องร่วมกันออกแบบการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เวลา ความจำเป็น และอัตราการพักผ่อนที่เพียงพอแตกต่างกันไป เพื่อแก้ไขสภาวะหมดไฟการศึกษาที่กำลังปะทุอย่างดุเดือดอยู่ในจิตใจของผู้เรียนผู้สอนทั่วประเทศ