"กสศ. -อปท. –บช.ตชด."เดินหน้าใช้ฐานข้อมูลช่วยเหลือเด็กนักเรียนทุนเสมอภาค (ช่วงชั้นรอยต่อ) ป้องกันหลุดจากระบบการศึกษาช่วงแพร่ระบาดโควิด -19 อธิบดี สถ.ย้ำขอความร่วมมือท้องถิ่น หนุนช่วยครูที่เป็นคีย์แมนสำคัญหาข้อมูลเพื่อช่วยเหลือเด็กได้อย่างแม่นยำ ด้าน รอง ผบช.บช.ตชด. เร่งพัฒนาฐานข้อมูลนักเรียนรายบุคคลเพื่อใช้ติดตามช่วยเหลือ   กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บช.ตชด.) จัดประชุมชี้แจงการดำเนินโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข (นักเรียนทุนเสมอภาค) ประจำภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษา ผ่านระบบออนไลน์   จากการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง สถ. บช.ตชด. และกสศ. เพื่อดำเนินงานโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข ซึ่งในปีการศึกษา 2563 จัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไขในอัตรา 3,000 บาท/คน ให้แก่นักเรียนทุนเสมอภาคในสังกัด อปท. ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล – มัธยมศึกษาตอนต้น 15,324 คน ครอบคลุมสถานศึกษา 598 แห่ง และในสังกัด บช.ตชด. ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล – มัธยมศึกษาตอนปลาย 17,981 คน ครอบคลุมโรงเรียน และศูนย์การเรียน219 แห่งทั่วประเทศ   ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19  ทำให้ผู้ปกครองมีรายได้ลดลง มีรายจ่ายเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะนักเรียนกลุ่มช่วงชั้นรอยต่อที่ต้องย้ายไปโรงเรียนที่ใหม่ยิ่งต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น จึงนำมาสู่การช่วยเหลือสนับสนุนนักเรียนทุนเสมอภาคช่วงชั้นรอยต่อ (อ.1 ป.6 ม.3 และ ม.6)  จำนวน 800 บาท ซึ่งจากฐานข้อมูลการติดตามพบว่า สถานศึกษาสังกัด อปท.  มีนักเรียนช่วงชั้นรอยต่อที่จะศึกษาต่อในภาคเรียนที่ 1/2564 จำนวน 3,453 คน ในจำนวนนี้พบว่านักเรียนยังคงศึกษาที่โรงเรียนเดิมจำนวน 2,110 คน และจำนวน 1,300 คน ที่ย้ายไปยังโรงเรียนใหม่ และพบนักเรียนที่ไม่ศึกษาต่อจำนวน 106 คน  ขณะที่สถานศึกษาสังกัด บช.ตชด. มีนักเรียนช่วงชั้นรอยต่อที่จะศึกษาต่อจำนวน 4,025 คน โดยเรียนในโรงเรียนเดิม 2,383 คน และย้ายไปเรียนโรงเรียนใหม่ 1,637 คน ขณะที่นักเรียน 111 คน ไม่ได้เรียนต่อ ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากต้องไปทำงาน/ ผู้ปกครองไม่ให้ศึกษาต่อ/ ช่วยผู้ปกครองทำงานหารายได้ / ไม่มีค่าธรรมเนียมค่าเล่าเรียน มีความบกพร่องทางด้านร่างกาย ไม่มีค่าเดินทาง ส่วนนี้จะเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และหวังว่าหากสถานศึกษานำข้อมูลนี้ไปใช้จะช่วยทำให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที “จากข้อมูลที่ กสศ.มี แสดงจำนวนเด็กกลุ่มรอยต่อที่มีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา เช่น ศึกษาต่อที่โรงเรียนใหม่โดยมีข้อมูลจากโรงเรียนต้นทาง-ปลายทางที่จะไปสมัครเรียน รวมถึงเด็กที่คิดว่าจะไม่เรียนต่อ   โดยท้องถิ่นจะเข้าไปดูแลเพิ่มเติมได้หรือไม่ และปัญหาผู้ปกครองมีภาวะผลกระทบถูกเลิกจ้างหรือมีสถานะเป็นผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งในช่วงเวลาเปิดเทอมประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมา น่าจะอยู่ในวิสัยที่ยังแก้ปัญหาได้หากจังหวัดใดสามารถแก้ไขปัญหาได้ จะเป็นจังหวัดที่ไม่มีเด็กหลุดจากระบบการศึกษา พร้อมขอความร่วมมือท้องถิ่นช่วยติดตามสนับสนุนให้ทุนการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อจะได้สื่อสารไปยังผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือคนในท้องถิ่นว่าได้ให้ความสำคัญกับนโยบายการลดเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ หน่วยงานกำกับติดตาม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กองกับกำการทั่วประเทศ สามารถดาวน์โหลดข้อมูลดังกล่าวได้ที่เว็บไซต์การคัดกรองนักเรียนทุนเสมอภาค สังกัด อปท. dla.thaieduforall.org  และสังกัด บช.ตชด. bpp.thaieduforall.org” ดร.ไกรยส กล่าว     นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า การดำเนินงานปีการศึกษา 2564 ได้กำหนดแนวทางจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข ในสถานศึกษาสังกัด อปท.ให้มีประสิทธิภาพ เน้นสร้างความเข้าใจกระบวนการแนวทางการคัดกรองความขาดแคลนทุนทรัพย์การใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลนักเรียน ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อชี้เป้า เน้นพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด/องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและครูผู้ปกครอง ผ่านระบบการอบรมออนไลน์ จึงอยากขอความร่วมมือทุกท่าน ช่วยค้นหาและคัดกรองนักเรียนยากจน กำกับติดตามให้สถานศึกษาดำเนินการตามแนวทางของ กสศ. ตามกำหนดระยะเวลาหรือปฏิทินการดำเนินงาน   ด้าน พล.ต.ต.พันธุ์พงษ์ สุขศิริมัช รอง ผบช.ตชด. กล่าวกำชับ ผู้บังคับบัญชากองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน 16 แห่ง และ ครูใหญ่ บุคลากรทางการศึกษา ให้วางแนวทางความช่วยเหลือนักเรียนกลุ่มรอยต่อให้สามารถกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาในช่วงเปิดภาคเรียน 1/2564 ได้ทันเวลา  และในปีการศึกษา 2564 บช.ตชด. และ กสศ.มีแผนการดำเนินงาน คือ1.พัฒนาระบบจัดเก็บข้อมูลนักเรียนรายบุคคลสังกัด บช.ตชด.ในระดับพื้นที่และระดับส่วนกลาง เพื่อใช้สนับสนุนวางแผนงาน 2.ตรวจสอบข้อมูลนักเรียนรายบุคคล และเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลกระทรวงศึกษาธิการ 3.พัฒนาศักยภาพกลไกและหน่วยกำกับติดตาม เพื่อส่งเสริมกระบวนการ ใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลผ่านช่องทางการอบรมออนไลน์ และ4.พัฒนาช่องทางการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจเงื่อนไขการรับเงินอุดหนุน ทั้งนี้ต้องขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ในการช่วยเหลือนักเรียนกลุ่มเร่งด่วน และขอบคุณ กสศ. ที่เข้ามามีบทบาทช่วยสนับสนุนและเติมเต็ม แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา