กรมการแพทย์โดยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) เตือนภัยการเสพยาและสารเสพติดทุกชนิดไม่ช่วยให้หายเครียด ระวังพบปัญหาอื่นแทน แนะ3 งด ลดเสี่ยงโควิด งดดื่มสุรา งดสูบบุหรี่ งดเสพยาและสารเสพติดทุกชนิด พร้อมใช้ชีวิตแบบ New Normal นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID – 19 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ เพิ่มขึ้นมากกว่าวันละ 1,000 ราย ในจำนวนนี้มีกลุ่มคนไข้อาการหนักที่มีอาการปอดอักเสบเป็นที่น่าวิตกกังวลอีกนับพันรายจากทั่วประเทศ ปัญหาการแพร่ระบาดของของเชื้อไวรัส COVID-19 เชื่อมโยงไปถึงปัญหาเศรษฐกิจ และสังคม ส่งผลกระทบไปถึงกลุ่มคนวัยทำงานที่อาจต้องตกงานและสูญเสียรายได้ ทำให้บางส่วนหันไปพึ่งพาสารเสพติด หวังเพื่อช่วยคลายความเครียด ซึ่งการใช้ยาและสารเสพติดทุกชนิด รวมไปถึงการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่มีประโยชน์ใดๆต่อร่างกายเลย แต่กลับส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพของผู้เสพ ทำลายสมองและระบบต่างๆ ในร่างกาย ทำให้ผู้เสพเกิดอาการประสาทหลอน หูแว่ว หวาดระแวง เห็นภาพหลอน มีพฤติกรรมก้าวร้าว หงุดหงิด อารมณ์รุนแรง คลุ้มคลั่ง ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ขาดสติ ขาดการระมัดระวังตนเอง ขาดความยับยั้งชั่งใจ ทำอะไรตามใจตามอารมณ์ ทั้งนี้ในผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับการใช้ยาเสพติดหรือดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำจะทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายลดลงทำให้เม็ดเลือดขาวทำงานฆ่าเชื้อโรคในร่างกายได้ไม่เต็มที่ มีโอกาสติดเชื้อ COVID -19 ได้ง่าย และหากมีการรวมกลุ่มเพื่อใช้ยาเสพติดซึ่งจำเป็นต้องอยู่ในสถานที่ปิดเป็นเวลานาน มีการใช้อุปกรณ์การเสพร่วมกัน ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อ COVID -19 ได้อย่างรวดเร็ว นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาสำคัญที่มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และในโอกาสวันต่อต้านยาเสพติดโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี ประกอบกับในปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ประชาชนทุกคนควรหันมาให้ความสนใจ รักษาสุขภาพของตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ ใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวัง นึกถึงคนในครอบครัวและคนรอบข้างให้มาก สบยช. จึงแนะวิธี 3 งด ลดเสี่ยงโควิด โดย 1.งดดื่มสุรา การดื่มสุราทำให้ ผู้ดื่มขาดสติ ขาดการระมัดระวังตนเอง 2.งดสูบบุหรี่ ผู้ที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงติดเชื้อไวรัส COVID-19 มากกว่าผู้ไม่สูบ 3-5 เท่า และหากมีการติดเชื้อจะรุนแรงกว่าผู้ไม่สูบถึง 14 เท่า 3.งดเสพยาและสารเสพติดทุกชนิด พร้อมกับการใช้ชีวิตแบบ New normal โดยการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอกฮอล์บ่อยๆ หลีกเลี่ยงการรวมกลุ่มหรืออยู่ในพื้นที่แออัดและควรระลึกไว้เสมอว่าการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสารเสพติดทุกชนิดไม่สามารถทำให้ความเครียดหายไปได้ แต่ในทางตรงข้าม กับทำให้ผู้เสพและคนในครอบครัวต้องประสบกับปัญหาอื่น ๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องสุขภาพ หรือปัญหาเรื่องการเงินรวมถึงปัญหาครอบครัว ทั้งนี้หากประสบปัญหาเรื่องยาและสารเสพติดสามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนยาเสพติด 1165 หรือ ที่ Line official “ห่วงใย” ระบบแชทบอทที่จะตอบคำถามและประเมินตัวเองเกี่ยวกับการติดยาและสารเสพติด โดยสามารถค้นหาและเพิ่มเพื่อด้วย ID Line @1165huangyai หรือเข้ารับการบำบัดรักษาที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติ บรมราชชนนี กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานีและโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น อุดรธานี สงขลา และปัตตานี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmnidat.go.th