สมเด็จเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ พระราชทานลายผ้าบาติก 3 ลาย ให้กลุ่มช่างทอผ้า เป็นต้นแบบต่อยอดพัฒนา เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ผ้าไทย ทันสมัยสู่สากล สร้างงาน สร้างรายได้กลับสู่ชุมชน พลิกวิกฤติสู้โควิด-19
เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564 ที่โรงแรม แคนทารี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ นายนายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ รองประธานกรรมการและที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ร่วม Kick off การประกวดผ้าลายพระราชทาน “ลายขอเจ้าฟ้า สิริวัณณวรีฯ” โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราช พระราชทานแบบลายมัดหมีแก่ช่างทอผ้า ชื่อลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ ให้แก่ชาวไทยทุกคน และพระราชทานพระอนุญาตให้กลุ่มทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค สามารถนําไปใช้ทอผ้าผลิตผ้าได้
ด้วยสํานึกในพระกรุณาธิคุณ กรมการพัฒนาชุมชนจึงได้ส่งมอบต่อให้กับกลุ่มทอผ้าในจังหวัด ได้นําไปเป็นต้นแบบและพัฒนาต่อยอดไปสู่เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ตามวิถีที่เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่น ตามพระดําริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” คือ ความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปะ หัตถกรรมไทย เพื่อให้รายได้กลับเข้าสู่ชุมชน เป็นวงจรเศรษฐกิจเชิงมหภาค และส่งเสริม กระตุ้น ผ้าไทยให้ทันสมัยสู่สากลเป็นที่นิยมในทุกเพศ ทุกวัยและ ทุกโอกาส ตลอดทั้งเพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติแก่ผู้สืบทอดภูมิปัญญาผ้าไทย กรมการพัฒนาชุมชนจึงได้จัด การประกวดผ้าลายพระราชทาน “ลายขอเจ้าฟ้า สิริวัณณวรีฯ” ภายใต้โครงการส่งเสริมภูมิปัญญาและพัฒนาศักยภาพผ้าไทย
ทั้งนี้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราช ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทาน ผ้าบาติกลายพระราชทาน 3 ลายให้แก่กรมการพัฒนาชุมชน ได้แก่ 1. ผ้าบาติกลายพระราชทาน“ปาเต๊ะร่วมใจเทิดไท้เจ้าหญิงโดยผ้าบาติกลายพระราชทาน “ปาเต๊ะร่วมใจเทิดไท้เจ้าหญิง” มีที่มาจากการได้เสร็จเยี่ยมชุมชนศิลปหัตถกรรมพื้นถิ่นภาคใต้ ทรงพบเห็นธรรมชาติอันบริสุทธิ์ วิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่งดงามจึงทรงส่งต่อความคิดและความรู้สึกประทับใจนี้ผ่านทางลวดลายผ้าบาติก สำหรับกลุ่มสี ทรงออกแบบด้วยแรงบันดาลพระทัยจากการได้ทรงพบเห็นธรรมชาติและวิถีชีวิตของภาคใต้ อาทิ สีน้ำเงินของท้องทะเลและสีฟ้าของท้องฟ้าที่สดใส สีเหลืองและสีชมพูสดใสจากสีของเรือกอและที่เป็นเอกลักษณ์พื้นถิ่น
2.ผ้าบาติกลายพระราชทาน “ป่าแดนใต้” มีที่มาจากการเสด็จไปทอดพระเนตร งานศิลปหัตถกรรมจากภูมิปัญญาพื้นถิ่นในภาคใต้หลายครั้ง ทรงพบเห็น วิถีชีวิตและธรรมชาติของภาคใต้ที่มีเอกลักษณ์ จึงได้ทรงออกแบบ ผ้าบาติกลายพระราชทาน “ป่าแดนใต้” ด้วยทรงพระดำริให้เป็นการจุดประกาย ความคิด ในเรื่องของการอนุรักษ์ป่าฝนเขตร้อนที่มีระบบนิเวศอันอุดม โดยทุกลวดลายล้วนสื่อความหมาย สำหรับกลุ่มสีทรงออกแบบด้วยแรงบันดาลพระทัยจากการเสด็จเยี่ยมชุมชน ได้ทอดพระเนตรเห็นทิวทัศน์ยามค่ำของภาคใต้ที่งดงาม อาทิ สีน้ำเงินเข้มของทิวทัศน์ในยามราตรีกาล ท่ามกลางแสงจันทร์สีนวลกระจ่าง และสีฟ้าหม่นของใบดาหลายามค่ำ ที่พราวพร่ำ ไปด้วยหยาดฝนแวววาว
และ 3.ผ้าบาติกลายพระราชทาน “ท้องทะเลไทย” มาจากแรงบันดาลพระทัยในการอนุรักษ์สัตว์ทะเลและสิ่งแวดล้อมของท้องทะเลไทย ด้วยทรงพระดำริให้เป็นการจุดประกายความคิดเพื่อให้ ผู้คนเกิดจิตสำนึกในการหวงแหนและรักษาทรัพยากรทางทะเลไทยอันมีค่า สำหรับกลุ่มสีทรงออกแบบด้วยแรงบันดาลพระทัยจากการทรงดำน้ำ ได้พบเห็น ธรรมชาติใต้ท้องทะเลไทยที่สวยงาม อาทิ น้ำทะเลสีครามและเขียวอมฟ้า สีของหาดทราย ขาวสะอาด สีสันที่สดใสของสัตว์ทะเลหลายชนิด เช่น ดาวทะเลและกะละปังหา ล้วนสื่อถึงระบบนิเวศของ ทะเลไทยที่สมบูรณ์ ควรค่าแก่การอนุรักษ์และหวงแหน
ทั้งนี้พระดำริทั้งหมดถูกถ่ายทอดลงบนผ้าลายบาติกพระราชทานฯ เพื่อพระราชทานแก่ช่างฝีมือบาติกเป็นของขวัญแทนมิตรภาพและความจริงใจที่ประชาชนชาวภาคใต้มีต่อพระองค์ ซึ่งพระองค์ทรงออกแบบผ้าบาติก พระราชทาน เพื่อพระราชทาน ให้ช่างฝีมือบาติก ได้สร้างการรับรู้และตระหนักถึงทรัพยากรอันมีค่า ที่สำคัญยังเป็นการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ด้วยเรื่องราวและความหมายชวนประทับใจเป็นการยกระดับผ้าไทยให้มีความร่วมสมัย สามารถก้าวสู่สากลเพื่อวิถีชุมชนที่ยั่งยืน สร้างงาน สร้างรายได้กลับสู่ชุมชนที่ยั่งยืนให้มีความเข้มแข็งในเศรษฐกิจฐานราก.