ด้วยวันที่ 8 มิ.ย. ของทุกปี ได้ถูกกำหนดให้เป็นวันทะเลโลก เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของทะเลและทรัพยากรทางทะเล พร้อมกระตุ้นเตือนให้สังคมร่วมกันอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรทางทะเลได้อย่างยั่งยืน ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยถึงความทุ่มเทและการให้ความสำคัญในการดูแลทรัพยากรทางทะเลให้คงความสมบูรณ์และเกิดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนของรัฐบาล ภายใต้ปัญหาและข้อจำกัดต่าง ๆ กลับสร้างความท้าทายในการทำงานให้กับทุกภาคส่วน โดยย้ำว่าทุกความสำเร็จและความสมบูรณ์ของระบบนิเวศทางทะเลเกิดจากความร่วมมือของคนไทยทุกคน สำหรับในด้านวิชาการ ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เผยสถิติสัตว์ทะเลหายากอยู่ในเกณฑ์ดีขึ้นมาก พร้อมแนะยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการโดยความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อความยั่งยืน
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(รมว.ทส.)กล่าวว่า แหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่บริหารจัดการได้ยากที่สุด คือ ทะเล เนื่องจาก เป็นฐานทรัพยากรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เป็นแหล่งสร้างสมดุลของระบบนิเวศของโลก เป็นพื้นที่รองรับของเสียและปัญหาจากกิจกรรมของมนุษย์ ดังนั้น รัฐบาลจึงมองว่า การบริหารจัดการทะเลเป็นเรื่องสำคัญและท้าท้ายเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ ตนได้มีโอกาสลงพื้นที่ทางทะเลหลายครั้ง ได้เห็นปัญหาและพยายามแก้ปัญหาจนสำเร็จไปได้ แต่ก็ยังมีอีกหลายปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข มีสิ่งหนึ่งที่ตนรู้สึกภูมิใจ ไม่ใช่ทรัพยากรทางทะเลของไทยมีความสมบูรณ์ขึ้น ระบบนิเวศสมดุลขึ้นเท่านั้น แต่เป็นความร่วมมือ ร่วมใจของพี่น้องประชาชนทุกคนที่เห็นความสำคัญของทะเลไทยมากขึ้น มีส่วนร่วมมากขึ้น และเข้าใจว่าทรัพยากรทางทะเลเป็นของลูกหลานที่เรายืมเขามาใช้ และต้องดูแลเพื่อส่งคืนลูกหลานในอนาคต
วันที่ 8 มิถุนายน ของทุกปี ได้ถูกกำหนดให้เป็น “วันทะเลโลก” เพื่อกระตุ้นเตือนให้ทุกคนเห็นความสำคัญของท้องทะเลและทรัพยากรทางทะเล ตนเชื่อมั่นว่า ด้วยวิกฤติปัญหาต่าง ๆ ที่ทุกคนกำลังเผชิญอยู่ แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนยังคงให้ความสำคัญ คือ การอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อย่างไรก็ตาม ตนได้มอบหมายให้นายยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษา รมว.ทส.และ นายจตุพร บุรุษ์พัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการเร่งขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลร่วมกับหน่วยงานภาครัฐส่วนกลาง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และประชาชน ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึง ต้องให้เกิดการบริหารจัดการและการใช้ประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืน อีกทั้ง ต้องเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และภายใต้การกำกับสั่งการ ของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ
นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวเสริมว่า การจัดงานวันทะเลโลกในปีนี้ มีข้อจำกัดหลายประการ จากสถานการณ์โรคไวรัสโควิด -19 กรมฯ จึงจัดกิจกรรมเพียงบางพื้นที่ เพื่อกระตุ้นเตือนสังคมให้เห็นถึงความสำคัญของท้องทะเลและทรัพยากรทางทะเล พร้อมกันนี้ ได้จัดประกวดคำขวัญวันทะเลโลก ประจำปี 2564 ซึ่งมีผู้สนใจส่งเข้าร่วมจำนวนมาก โดยคำขวัญที่ชนะการประกวดในปีนี้ คือ “รู้รักษามหาสมุทร เพื่อวิถีมนุษย์ที่ยั่งยืน” ซึ่งสอดคล้องกับหัวข้อการจัดกิจกรรมที่ทางสหประชาชาติกำหนดว่า “The Ocean : Live and Livelihoods”นอกจากนี้ กรมฯ ได้จัดทำสื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านทางช่องทางต่าง ๆ เพื่อแสดงถึงความสำเร็จในการดูแลทรัพยากรทางทะเลของไทย ที่เกิดจากความร่วมมือของพี่น้องประชาชนคนไทย และอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลทุกคน
ด้านนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านทะเลและสัตว์ทะเลชื่อดัง ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ตนในฐานะนักวิชาการที่ติดตามสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมาโดยตลอด ตนมองว่าภาพรวมของการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลของไทยค่อนข้างมีเสถียรภาพ โดยเฉพาะการอนุรักษ์และดูแลสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทางทะเล ซึ่งในปัจจุบันพบสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมกว่า 28 ชนิด เป็นโลมาและวาฬ 27 ชนิด และพะยูน 1 ชนิด แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่อาศัยอยู่ประจำถิ่นใกล้ฝั่งพบเห็นได้บ่อยครั้ง จำนวน 7 ชนิด ได้แก่ พะยูน วาฬบรูด้า วาฬโอมูระ โลมาอิรวดี โลมาหัวบาตรหลังเรียบ โลมา หลังโหนก และโลมาปากขวด กลุ่มที่อาศัยอยู่ในทะเลเปิด เป็นกลุ่มที่มีการอพยพย้ายถิ่นระยะไกลมีแหล่งอาศัยค่อนข้างกว้างอาศัยบริเวณไกลฝั่งพบ 21 ชนิด เช่น วาฬสีน้ำเงิน วาฬหัวทุย วาฬนำร่องครีบสั้น โลมาฟราเซอร์ โลมากระโดด และโลมาปากยาว เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่าการดูแลทรัพยากรสัตว์ทะเลหายากเป็นเรื่องที่ท้าทาย ซึ่งหลายหน่วยงานต้องร่วมมือกัน ซึ่งตนเห็นว่าการทำงานของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ได้พยายามขับเคลื่อนการดำเนินงานจนเห็นผลดีเป็นที่น่าพอใจ แต่ก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องเร่งขับเคลื่อนซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะจากประชาชนและชุมชนในพื้นที่