สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. จับมืออย. พร้อม 2 มหาวิทยาลัยชื่อดัง เดินหน้าเร่งกฎระเบียบและการประเมินความปลอดภัย ปลดล็อกการใช้พลาสติกรีไซเคิล PET เพื่อมุ่งมั่นให้เศรษฐกิจเดินหน้า และนำพลาสติกหมุนเวียนกลับมาใช้แบบยั่งยืนและปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคจากสารตกค้างในพลาสติกรีไซเคิล ในปี พ.ศ. 2548 กระทรวงสาธารณสุข มีประกาศฉบับที่ 295 เรื่องกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานของภาชนะบรรจุที่ทำจากพลาสติก “ข้อ 8 ห้ามมิให้ใช้ภาชนะบรรจุที่ทำขึ้นจากพลาสติกที่ใช้แล้วบรรจุอาหาร เว้นแต่เพื่อบรรจุผลไม้ชนิดที่ไม่รับประทานเปลือก” ดังนั้นภาชนะบรรจุอาหาร ขวดพลาสติกที่บรรจุอาหารและเครื่องดื่ม จะต้องเป็นพลาสติกที่ทำใหม่ทั้งหมด ทำให้ประเทศไทยมีปริมาณการใช้พลาสติกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี และในปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีปริมาณการผลิตพลาสติกชนิด PET ประมาณแปดแสนตัน ซึ่งในตัวเลขนี้ เป็นบรรจุภัณฑ์ที่สัมผัสอาหารประมาณ 50% หรือคิดเป็นจำนวนกว่า 4 แสนตัน โดยในความเป็นจริงแล้ว ประเทศไทยมีศักยภาพในการนำพลาสติกมารีไซเคิลใช้ประโยชน์ใหม่ได้ แต่ยังไม่มีกฎระเบียบและการประเมินความปลอดภัยสำหรับวัสดุสัมผัสอาหารจากพลาสติกรีไซเคิล ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร เปิดเผยว่า “ภารกิจหลักของ สวก. นอกจากจะเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนทุนวิจัยด้านการเกษตรและอาหาร ซึ่งมุ่งเน้นความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหาร โดยเฉพาะปัจจุบัน ประเทศไทยมีนโยบายและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน BCG Model เน้นพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม 3 มิติ ได้แก่ Bio economy มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม, Circular economy มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า, Green economy มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและสมดุลและสิ่งแวดล้อม ภารกิจนี้จึงเกี่ยวข้องกับ สวก. โดยตรง คือ ความปลอดภัย ความเป็นอยู่ และคุณภาพชีวิตของประชาชน และเป็นสิ่งที่ สวก. ให้ความสำคัญ” การเดินหน้าสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วย BCG Model สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) สวก. ยังได้ร่วมมือกับ สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และ นักวิจัยจาก 2 มหาวิทยาลัย ได้แก่ ภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาเกษตรศาสตร์ และ สถาบันโภชนาการมหาวิทยาลัยมหิดล ในการพัฒนาแนวทางการวิเคราะห์ และการประเมินความปลอดภัยของภาชนะบรรจุอาหารที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล rPET ภายใต้แผนการวิจัย การพัฒนาวิธีทดสอบ และประเมินความปลอดภัยวัสดุสัมผัสอาหาร เพื่อกำหนดมาตรฐานของประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยโครงการวิจัย 2 โครงการ คือ การพัฒนาและประเมินวิธีทดสอบวัสดุสัมผัสอาหาร และพัฒนาแนวทางการเมินความปลอดภัยของวัสดุสัมผัสอาหาร โดยมีเป้าหมายร่วมกัน คือ พัฒนาการวิเคราะห์ทางเคมีเพื่อรับรองการประเมินความปลอดภัย จิรารัตน์ เทศะศิลป์ นักวิชาการอาหารและยาชำนาญการพิเศษ สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า “ถึงแม้ว่า อย. จะเป็นผู้ประกาศกฎระเบียบ โดยคณะการทำงานก็ต้องรู้ เข้าใจ และต้องจัดการเพื่อให้เป็นไปตามกฎระเบียบ ในส่วนของการทำงาน เราตระหนักถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นที่ตั้งเสมอ ในทางปฏิบัติการส่งเสริมการใช้พลาสติกอย่างยั่งยืน เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนนั้น เป็นสิ่งที่ อย. สนับสนุนอยู่แล้ว เพราะการใช้ทรัพยากรน้อยลง เท่ากับเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมได้มากยิ่งขึ้น ดังนั้น การที่ อย. ทำงานร่วมกับ สวก. จึงเป็นเรื่องที่เราคิดว่า เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาได้เร็วยิ่งขึ้น เพราะความปลอดภัยของผู้บริโภคสำคัญและต้องมาก่อน ภารกิจของ อย.คือ การกระจายความรู้ ความเข้าใจในเรื่องนี้สู่ประชาชน และผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นคู่มือหรืออะไรต่างๆ ที่มีความจำเป็น ทาง อย.จะต้องมีการจัดเตรียมเพื่อรองรับการใช้ประโยชน์ของประชาชนให้ถึงที่สุด” นันทิวัต ธรรมหทัย กรรมการบริหาร สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย เผยถึงประโยชน์ที่จะได้รับ ว่า “เบื้องต้นอุตสาหกรรมเครื่องดื่มจะมีการตื่นตัว ที่ประเทศไทยให้ความสำคัญกับวัสดุสัมผัสอาหาร โดยเฉพาะกับภาชนะบรรจุอาหารที่มีส่วนประกอบของพลาสติกรีไซเคิล เกิดเป็นผลดีต่อผู้บริโภค ในเรื่องความปลอดภัย สะท้อนความมั่นใจให้ผู้บริโภค ได้ภาพลักษณ์ใหม่ที่ดี เมื่อเป็นวัสดุสัมผัสอาหาร ที่ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นการหมุนเวียนการผลิตที่เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภค รองรับกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของคนไทย” การปลดล็อกการใช้พลาสติกรีไซเคิล ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยกับผู้บริโภค พร้อมมุ่งมั่นผลักดันให้เศรษฐกิจเดินหน้า หมุนเวียนและพัฒนาให้ยั่งยืน ผู้ใดสนใจข้อมูล การปลดล็อกการใช้พลาสติกรีไซเคิล สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ https://www.facebook.com/ardathai / Facebook เกษตรก้าวไกลกับสวก. www.arda.or.th / Facebook Live (Arda Talk) / http://Blog.arda.or.th