ศจย.เดินหน้า Commit to Quit วันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคม รณรงค์ช่วยคนไทยอยากเลิก บุหรี่ เข้าถึงบริการช่วยเลิกบุหรี่ในทุกช่องทางให้มากที่สุด หลัง WHO พบ มีประชากรโลกแค่ร้อยละ 30 เข้าถึงบริการช่วยเลิกบุหรี่ได้ จากผู้ที่อยากเลิกกว่า 780 ล้านคน เตรียมแจกวารสาร “มุ่งมั่นตั้งใจ เลิกบุหรี่ได้จริง” ให้ภาคีประยุกต์ใช้กำหนดนโยบายหรือวิธีปฏิบัติ พร้อมผลักดันยาช่วยเลิกบุหรี่ เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ หนุนใช้สมุนไพรเป็นศาสตร์ทางเลือกรักษาอาการติดนิโคติน
รศ.ดร.พญ.ธัญญรัตน์ อโนทัยสินทวี ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ในฐานะ รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวถึงความร่วมมือในการขับเคลื่อนแคมเปญรณรงค์ให้ประชาชนงดสูบบุหรี่ ในวันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคม ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ในปีนี้ WHO มีคำขวัญว่า “Commit to Quit” หรือ “ความมุ่งมั่น ที่จะเลิกบุหรี่” ว่า ในปีนี้ ศจย.คงยังสนับสนุนให้ประชาชนเลิกสูบบุหรี่และควบคุมยาสูบผ่านงานวิชาการ ซึ่งได้จัดทำวารสารก้าวทันวิจัยกับ ศจย. ในประเด็น “มุ่งมั่นตั้งใจเลิกบุหรี่ได้จริง” เนื้อหาภายในวารสาร เกี่ยวข้องกับเรื่องวันงดสูบบุหรี่โลก งานวิจัยเกี่ยวกับบุหรี่ในหลายมิติ และวิธีการไปสู่ Commit to Quit อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงวิธีการรักษาจากภาวะเสพติดนิโคติน ซึ่งต่อไปในประเทศไทยจะใช้คำนี้แทนการ เสพติดบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า หรือผลิตภัณฑ์ยาสูบอื่นๆ และอีกมากมายที่เป็นประโยชน์ต่อภาคีเครือข่ายด้านการ รณรงค์เลิกบุหรี่ ในการนำไปใช้ผลักดันแง่นโยบาย หรือนำไปใช้ในทางปฏิบัติให้ประชาชนเลิกสูบบุหรี่ และ ผลักดันให้ประชาชนเข้าถึงช่องทางช่วยเลิกบุหรี่ที่มีอยู่ในมากที่สุด
รศ.ดร.พญ.ธัญญรัตน์ กล่าวต่ออีกว่า ส่วนที่มาของ Commit to Quit ของ WHO นั้นน่าสนใจ เนื่องจากถึงแม้ว่าจะมีคนสูบบุหรี่ประมาณ 780 ล้านคนทั่วโลกอยากจะเลิกบุหรี่ แต่มีเพียงแค่ร้อยละ 30 เท่านั้น ที่สามารถเข้าถึงบริการช่วยเลิกบุหรี่ ซึ่งบริการเหล่านี้จะช่วยให้ผู้สูบบหรี่เอาชนะการเสพติดสารนิโคติน ได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ดังนั้น WHO จึงเห็นความสำคัญของการส่งเสริมให้ผู้สูบบุหรี่ที่อยากเลิกสูบ สามารถเข้าถึงบริการช่วยเลิกบุหรี่ อย่างสายด่วนเลิกบุหรี่ บริการให้คำแนะนำแบบสั้นเพื่อการเลิกบุหรี่ (SMS) คลินิกช่วยเลิกบุหรี่ หรือสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทดแทนนิโคติน (Nicotine Replacement Therapy) ได้มากขึ้น เพื่อให้เจตนารมณ์บรรลุผล WHO จึงจัดตั้งโครงการผ่านแพลทฟอร์มดิจิทัลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น แคมเปญ “Quit Challange” ผ่านช่องทาง WhatsApp ที่จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเลิกสูบบุหรี่ และยังสร้างสังคมดิจิทัล ที่สนับสนุนการเลิกสูบบุหรี่ ผ่านทาง Social Media โดยชักชวนองค์กรเอกชนเข้าร่วม เช่น Allen Carr’s Easyway, Amazon Web Services, Cipla, Facebook, WhatsApp, Google, Johnson & Johnson, Praekelt, และ Soul Machines นอกจากนี้ยังได้ออกเครื่องมือเพื่อช่วยในการเลิกบุหรี่ชื่อ WHO’s 24/7 ที่จะแปลเป็นภาษาต่างๆ เช่น จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย และเสปน เพื่อช่วยให้คนทั่วโลกเข้าถึงคำแนะนำในการ เลิกบุหรี่ ได้มากขึ้น
“บุหรี่เป็นสาเหตุการตายของประชากรทั่วโลกประมาณ 8 ล้านคนต่อปี และเป็นที่รับรู้กันมานาน แล้วว่าบุหรี่เป็นสาเหตุทสำคัญของการเกิดโรคมะเร็งปอด และมะเร็งอีกหลายๆ ชนิดในร่างกาย นอกจากนี้ บุหรี่ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคหลอดหัวใจและสมอง และที่สำคัญในปีที่ผ่านมา เริ่มมีการระบาดของ COVID-19 และมีผลการศึกษายืนยันแล้วว่าผู้ที่สูบบุหรี่ที่ติดเชื้อ COVID-19 มีโอกาสเกิดอาการรุนแรง และมีอัตราตายมากกว่าผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้สูบบุหรี่ ดังนั้นการเลิกบุหรี่ รวมถึงการช่วยเหลือให้ผู้สูบเลิกสูบบุหรี่ จึงมีความสำคัญต่อการลดอัตราการตาย และความเจ็บป่วยของประชากรทั่วโลก นอกจากการสนับสนุน ให้ประชาชนเข้าถึงบริการช่วยเลิกบุหรี่ให้มากที่สุดตามเจตนารมณ์ของ WHO แล้ว ศจย.ยังเป็นอีกหน่วยงาน หลักช่วยผลักดันยาเลิกบุหรี่ให้เข้าไปอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อให้คนที่สูบบุหรี่เข้าถึงยาช่วยเลิกบุหรี่ ได้มากขึ้น รวมถึงสนับสนุนให้สมุนไพรไทยเป็นอีกหนึ่งแพทย์ทางเลือกช่วยเลิกบุหรี่” รอง ผอ.ศจย. ระบุ