เมื่อวันที่ 28 พ.ค. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดประชุมเสนอผลการศึกษาและข้อเสนอแนะการพัฒนาระบบและกลไกการผลักดันนํางานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในภาคการเกษตรไทย ภายใต้โครงการ “การพัฒนากลไกการผลักดันงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในภาคเกษตรไทย” เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนากลไกความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานและการนํางานวิจัยไปใช้ประโยชน์ เพื่อส่งต่องานวิจัยสู่การแก้ปัญหาภาคการเกษตร โดยมีผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้องค์ความรู้ด้านการเกษตรในประเทศไทย เข้าร่วมประชุมหารือในครั้งนี้ โอกาสนี้ รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า ปัจจุบัน สกสว. มีบทบาทสำคัญในการจัดสรรงบประมาณและขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เพื่อการพัฒนาประเทศ จากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่า ประเทศไทยมีผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านเกษตรเป็นจำนวนมากที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาภาคการเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ที่ผ่านมาส่วนใหญ่มีการผลักดันการใช้ประโยชน์ผ่านนักวิจัย หน่วยงานให้ทุน สถาบันวิจัย สถาบันการศึกษา และความร่วมมือของหน่วยงานในพื้นที่วิจัย ซึ่ง สกสว. มองว่าหากมีการขับเคลื่อนผลงานวิจัยผ่านหน่วยงานที่เป็นผู้กำกับนโยบาย และมีบทบาทในการส่งเสริมและพัฒนาด้านการเกษตรโดยตรง จะทำให้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมสร้างผลลัพธ์และผลกระทบในวงกว้างมากขึ้น ดังนั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนผลงานวิจัยและนวัตกรรมผ่านหน่วยงานผู้กำกับนโยบาย จำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลที่ครอบคลุมทุกมิติ ตลอดจนสร้างช่องทางในการส่งต่อข้อมูลงานวิจัยสู่ผู้ใช้ประโยชน์ที่มีประสิทธิภาพ โดยโครงการ “การพัฒนากลไกการผลักดันงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในภาคเกษตรไทย” เป็นการนำร่องการศึกษากลไกเชิงระบบใน 4 พืชเศรษฐกิจประกอบด้วย มันสำปะหลัง ลำไย ทุเรียนและมังคุด ซึ่งถือเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ โดยกลไกการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์นั้นจะทำให้เกิดการขับเคลื่อนองค์ความรู้สู่การปฏิบัติ สอดคล้องกับนโยบาย BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อเพิ่มมูลค่าและขีดความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน สำหรับการประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อนำเสนอผลการศึกษาและข้อค้นพบเบื้องต้นของโครงการ รวมถึงเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดการพัฒนากลไกการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ด้านเกษตร ซึ่งข้อมูลที่ สกสว. ได้รับจากการประชุมในครั้งนี้เป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนระบบ ววน. ให้สามารถตอบโจทย์ภาคการเกษตรของไทยได้ทั้งระบบ และยังสามารถนำไปสู่การบูรณาการการทำงานจากทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน