วันที่ 25 พ.ค.ที่สถาบันการศึกษาทางไกล ชั้น 9 อาคาร 5 ภายในศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา(เอกมัย) ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายกมล รอดคล้าย ที่ปรึกษา รมช.ศธ. ประชุมหารือร่วมกับสถาบันการศึกษาทางไกล เรื่องการเตรียมความพร้อมในการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 โดยมีนางตติยา ใจบุญ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเผยแพร่ทางการศึกษาสำนักงาน กศน. นายณัฐพงษ์ รงคะวิรุจน์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันการศึกษาทางไกล นางกาญจนา สุขประเสริฐ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา นายปรเมศวร์ ศิริรัตน์ ผอ.กศน.กทม. และข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ให้การต้อนรับ
ดร.กนกวรรณ กล่าวว่า สถาบันการศึกษาทางไกล เป็นหน่วยงานในสังกัด สำนักงาน กศน. บริการการศึกษาทางไกลสำหรับคนไทย ครอบคลุมทั่วโลก กว่า 135 ประเทศ ภายใต้สโลแกน “อยู่ที่ไหนก็เรียนได้” ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองโดยชุดการเรียนรู้ด้วยตนเอง หรือผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบออนไลน์ เช่น Facebook , Line , Google Classroom , Website , YouTube เป็นต้น ซึ่งมีทั้งหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประถมศึกษา มัธยมศึกษา ทั้งภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมถึงมีหลักสูตรระยะสั้นที่ส่งเสริมการประกอบอาชีพอีกด้วย จึงถือได้ว่าเป็นหน่วยงานที่จัดการศึกษาตลอดชีวิตให้แก่ประชาชนในทุกกลุ่มเป้าหมายภายใต้สถานการณ์ของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ได้อย่างแท้จริง
สำหรับการเตรียมตัวก่อนเปิดภาคเรียนนั้น สถาบันการศึกษาทางไกลได้มอบหมายให้ครูประจำวิชาจัดทำบทเรียนที่จะเปิดสอนในภาคเรียนที่ 1/2564 โดยให้ครูWork from home เพื่อเป็นการลดการกระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่วนช่องทางในการประชาสัมพันธ์ และการรับสมัคร มี 3 ช่องทางด้วยกันคือ ทาง Website โดยมีคิวอาร์โค้ดให้ผู้สนใจสามารถแสกนเพื่อสมัคร ซึ่งมีทั้งภาคภาษาไทย และภาคภาษาอังกฤษ Fan page มีคิวอาร์โค้ดให้ผู้สนใจสามารถแสกนเพื่อสมัคร ได้เช่นเดียวกันและ Line ซึ่งมี AI ตอบคำถามอัตโนมัติ และมีช่องทางให้ผู้ที่สนใจสมัครเรียน ฝากข้อความเพื่อให้ ADMIN ตอบคำถามได้ ส่วนกลุ่มผู้เรียนของสถาบันการศึกษาทางไกล มีทั้งประชาชนทั่วไป, ทหารกองประจำการ, กลุ่มเปราะบาง , ผู้ป่วยติดเตียง จากสถาบันเด็กมหาราชินี กลุ่มหลักสูตรภาคภาษาอังกฤษ และกลุ่มคนไทยในต่างประเทศ รวมถึงนักกีฬาอาชีพ ซึ่งในภาคเรียนที่ 1/2564 มีนักศึกษาลงทะเบียนเรียนกับสถาบันการศึกษาทางไกลแล้ว 2,480 คน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเป้าหมายต่อไปที่เป็นพนักงาน ของ ขสมก อีกกว่า 7 พันคน ทีสถาบันการศึกษาทางไกลกำลังประสานงานกับ ขสมก. เพื่อให้คนเหล่านี้ได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา เพื่อพัฒนาตนเอง
ดร.กนกวรรณ กล่าวกำชับในเรื่องของการจัดการศึกษาออนไลน์ของสถาบันการศึกษาทางไกล ซึ่งมีหลักสูตรการจัดการศึกษาหลายรูปแบบ ในทุกช่วงชั้น มีผู้เรียนหลากหลายอาชีพ จึงต้องวิเคราะห์ข้อมูลผู้เรียนให้ดี เพื่อที่จะนำมาวางแผนการจัดการเรียนการสอนและจัดทำหลักสูตรให้สอดคล้องเหมาะสมกับผู้เรียน การจัดการศึกษาทางไกลผ่านระบบออนไลน์ ทั้งเรื่องหลักสูตรการเรียน และการกรอกใบสมัคร ต้องออกแบบให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงได้ง่าย กระชับ ชัดเจน อ่านเข้าใจง่าย ไม่ต้องกรอกข้อมูลมากเกินไป เพราะแต่ละคนมีข้อจำกัดและตัวแปร ในการเข้าถึงเทคโนโลยีที่แตกต่างกัน และให้รับฟังคำติชมต่างๆเพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไข และพัฒนางานต่อไป ซึ่งในการจัดการศึกษาผ่านระบบออนไลน์และการดำเนินงานต่างๆภายใต้สถานการณ์โรคระบาดในปัจจุบันขอให้ยึดหลัก “เรียนรู้ ปรับใช้ ต่อยอด และพัฒนา” เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการพัฒนาการศึกษาตลอดชีวิตเพื่อประชาชน
ดร.กนกวรรณ กล่าวอีกว่าสำหรับเรื่องการประชาสัมพันธ์ ได้ชี้แนะให้เพิ่มช่องทาง โดยการไลฟ์สดผ่านทาง Facebook และออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษา ETV โดยเชิญนักศึกษาซึ่งเป็นผลผลิตของสถาบันทางไกล 2 ท่าน ที่สามารถสอบเข้าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลได้ ให้มาร่วมพูดคุยด้วย เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับบุคลากรที่ทำงานเพื่อการศึกษา และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เรียนในทุกระดับชั้น ที่ต้องเผชิญกับวิถีชีวิตปกติแบบใหม่ ซึ่งหลายคนต้องปรับตัวกับการเรียนออนไลน์ และบางคนท้อแท้กับการเรียนออนไลน์