สสส.หนุนเปิด “ครัวกลางชุมชนปันกันอิ่ม” นำร่องชุมชนกลางกรุง 5 แห่ง แก้ปัญหาปากท้องคนกักตัว-ตกงาน-ขาดรายได้จากพิษโควิด-19 เน้นปรุงอาหารสดใหม่-ราคาถูก ช่วยเพิ่มทางเลือกเข้าถึงอาหาร แจกฟรีเด็ก-ผู้สูงอายุ ชี้เป็นกลไกปลุกจิตอาสา-ชุมชนพึ่งพาตัวเอง เล็งขยายผลทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 24 พ.ค.ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ เกิดการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในชุมชนแออัดเขตกรุงเทพฯ ที่มีคนอาศัยอยู่หนาแน่น ทำให้กรุงเทพฯ มีผู้ติดเชื้อต่อวันมากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ จัดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ปัญหาที่ตามมาคือ กลุ่มผู้ติดเชื้อรอรับการรักษา และกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อต้องแยกตัว ซึ่งมีทั้งผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ ผู้สูงอายุ เด็ก และคนตกงานที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรายวัน ขาดรายได้ เพราะต้องลดการเคลื่อนตัวออกนอกชุมชน เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มในกรุงเทพฯ ต้องเผชิญความยากลำบากในการเข้าถึงอาหาร กินอาหารไม่พออิ่ม หรือต้องอดอาหารเป็นบางมื้อ มีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดีส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพ
ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า การช่วยเหลือให้คนในชุมชนได้เข้าถึงอาหาร เป็นปัจจัยพื้นฐานการมีชีวิตรอดในภาวะวิกฤต สสส. ได้สานพลังมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา มุ่งสร้างสังคมสุขภาวะยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชนเขตกรุงเทพฯ ริเริ่มนวัตกรรมแนวคิด “ครัวกลางชุมชนปันกันอิ่ม” จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ 1.ชุมชนบุญร่มไทร เขตราชเทวี 2.ชุมชนพัฒนา กม.11 เขตจตุจักร 3.ชุมชนริมคลอง กม.11 เขตจตุจักร 4.ชุมชนวัดโพธิ์เรียง เขตบางกอกน้อย และ 5.ชุมชนวัดดวงแข เขตปทุมวัน โดยส่งเสริมให้คนในชุมชนสามารถสร้างอาหารพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน ด้วยวิธีการเชื่อมโยงคนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นจิตอาสาผลิตอาหารส่งต่อผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ถือเป็นรูปแบบของการเรียนรู้และพัฒนาจิตใจจากการเป็นผู้ให้และแบ่งปัน สนับสนุนให้เกิดสุขภาวะทางปัญญาและสร้างความสุขในการดำรงชีวิต ปลูกจิตสำนึกให้พร้อมกลับมาช่วยเหลือชุมชนในทุกวิกฤต โดยตั้งเป้าขยายผลครัวกลางชุมชนปันกันอิ่มไปทั่วประเทศ
น.ส.พรทิพย์ ฝนหว่านไฟ ผู้ประสานงานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา กล่าวว่า นวัตกรรมแนวคิด “ครัวกลางชุมชนปันกันอิ่ม” มีขั้นตอนทำงานดังนี้ 1.ผู้นำชุมชนและคณะกรรมการชุมชมเข้าใจแนวคิดการจัดให้มีครัวกลางฯ 2.จัดหาสถานที่ตั้ง เช่น ร้านอาหาร ลานกิจกรรมชุมชน 3.เตรียมวัตถุดิบในการประกอบอาหาร รับบริจาคคนในชุมชน ประชาชนทั่วไป และหน่วยงานต่างๆ 4.เชิญชวนจิตอาสา แบ่งปันเวลา แรงกาย และทักษะความสามารถ ผลิตอาหารปรุงสุกใหม่ทุกมื้อ และ 5.จำหน่ายอาหารในราคาถูก เพียงอิ่มละ 10 บาท 15 บาท หรือ 20 บาท ซึ่งการตั้งราคาขึ้นอยู่กับบริบทของคนในชุมชน แต่หากเป็นเด็กและผู้สูงอายุในชุมชนสามารถรับประทานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
“ครัวกลางฯ ขายอาหารราคาไม่แพง นำเงินมาทำให้เกิดทุนหมุนเวียนต่อเนื่อง ทำให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ กระบวนการนี้ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านอาหารของแต่ละครอบครัวได้ถึงวันละ 200-300 บาท ทั้งยังเป็นช่องทางรวบรวมรับซื้อสินค้าจากคนในชุมชน อาทิ ผักสด ผลไม้ ไข่ นำมาเป็นวัตถุดิบมาปรุงอาหาร ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบให้สามารถลดรายจ่าย และพอมีรายได้ให้ผ่านพ้นวิกฤตในระยะยาว หากสถานการณ์ดีขึ้นครัวกลางฯ ก็จะปรับเป็นร้านชุมชนปันกันอิ่ม ทั้งร้านอาหารและร้านขายของชำราคาถูก เป็นแหล่งอาหารให้กับกลุ่มคนในและนอกชุมชน เกิดอาชีพ สร้างรายได้ให้ตัวเองและครอบครัวต่อไป ทั้งนี้ สามารถติดตามได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ พุทธิกา ฉลาดทำบุญด้วยจิตอาสา” น.ส.พรทิพย์ กล่าว