วันที่ 19 พ.ค.นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยถึงกรณีมีการนำเสนอข่าวบุคคลที่ถูกเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา รมช.ศธ. มีความไม่เหมาะสม เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีทุจริต ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบแต่งตั้ง นายกมล รอดคล้าย ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา รมช.ศธ. ตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2564 ไปแล้วนั้น ว่าการสอบสวนเรื่องนี้ยุติแล้ว นายกมลจึงถือเป็นผู้บริสุทธิ์ และมีคุณวุฒิเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา รมช.ศธ.ทั้งในเชิงของความเชี่ยวชาญด้านนโยบายการจัดการศึกษา และนักวิชาการที่คร่ำหวอดในวงการศึกษามายาวนาน นางกนกวรรณ กล่าวว่าการแต่งตั้งนายกมล เป็นที่ปรึกษา รมช.ศธ.เพราะเล็งเห็นถึงความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ที่คร่ำหวอดในวงการศึกษาและการพัฒนาคนครอบคลุมในหลายมิติ ทั้งการจัดการเรียนรู้สำหรับคนทุกช่วงวัย ผู้ด้อยโอกาสและผู้พิการ ด้านสังคม ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจนยังมีความเข้าใจในกฎระเบียบ แผนการศึกษา นโยบายรัฐบาลต่าง ๆ ประกอบกับเป็นผู้ที่มีเครือข่ายการทำงานหลากหลายในทุกภาคส่วน จึงถือได้ว่าเป็นผู้ที่มีคุณวุฒิเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา รมช.ศธ. ส่วนกรณีที่มีสื่อนำเสนอข่าวว่า รมช.ศธ.เสนอชื่อบุคคลที่ไม่เหมาะสมให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาฯ นั้น ทราบว่าการสอบสวนความผิดทางวินัยร้ายแรงของนายกมล ในเรื่องจัดซื้อจัดจ้างติดตั้งซีซีทีวีในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ขณะนี้ได้ยุติเสร็จสิ้นแล้ว โดยทางสำนักนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งยุติเรื่องและแจ้งผลการสอบสวนทางวินัยอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 ว่า นายกมลไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ และให้มีการยุติการดำเนินการทางวินัย จึงถือได้ว่าท่านเป็นผู้บริสุทธิ์ และเชื่อมั่นว่าด้วยความรู้ความสามารถ และประสบการณ์การทำงาน จะช่วยสนับสนุนการทำงานตามบทบาทของ รมช.ศธ.ในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาตลอดชีวิต ตามนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีเป้าหมายครอบคลุมคนทุกช่วงวัย ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและก่อเกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมภายใน 5 เดือนต่อจากนี้ ขณะนี้นายกมล ที่ปรึกษาได้รายงานถึงความก้าวหน้าการเตรียมแผนงานการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ว่า ได้หารือกับ กศน.เพื่อเตรียมการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายส่วน เพื่อสื่อสารทำความเข้าใจการนำกลยุทธ์กระทรวงศึกษาธิการ ในการรับมือการเปิดภาคเรียนที่ 1/2564 ไปสู่การปฏิบัติในสถานศึกษาของ กศน.ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยเน้นความปลอดภัยเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น ช่องทางการสื่อสารและรูปแบบการเรียนของผู้เรียน ให้มีความเหมาะสมกับบริบทและสถานการณ์ การทำงานของครู บุคลากร และเจ้าหน้าที่ ที่จะต้องเป็นไปตามประกาศของ ศธ. และมาตรการของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ตลอดจนการเตรียมโครงการพัฒนาอาชีพแก่ประชาชนและการดูแลผู้สูงอายุ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ภายหลังสถานการณ์ดีขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นความก้าวหน้าในส่วนของการเตรียมแผนการศึกษาตลอดชีวิต ที่จะต้องนำไปขับเคลื่อนทันทีเมื่อเปิดเรียน