ตามที่ได้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระลอกใหม่ ทำให้มีผู้ติดเชื้อ ผู้เจ็บป่วย และผู้เสียชีวิตจำนวนมาก นั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีความห่วงใยอย่างยิ่งต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคและผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อสิทธิของประชาชนที่จะได้รับบริการสาธารณสุขอย่างมีประสิทธิภาพ ทั่วถึง และไม่เสียค่าใช้จ่าย ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 47 และมาตรา 55 อันเป็นสิทธิที่สอดคล้องตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม(International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights: ICESCR) กสม. ได้ติดตามและเฝ้าระวังผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19ระลอกใหม่อย่างต่อเนื่อง และเห็นว่ารัฐบาลได้มีความพยายามในการแก้ไขทั้งการดูแลรักษาและการป้องกันโรคมาโดยตลอด ประกอบกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Office of the United Nations High Commissioner for Human Rights: OHCHR) และองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ได้ประกาศหลักการเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในการเข้าถึง จัดสรรและจัดลำดับความสำคัญของการฉีดวัคซีนทั้งในประเทศและระหว่างประเทศไว้ ดังนั้น กสม. จึงขอเสนอแนะรัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชน ควรพิจารณาดำเนินการในช่วงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนี้ 1.รัฐบาล หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องควรดำเนินการและประสานความร่วมมือกับภาคเอกชน และสื่อมวลชน ในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับวัคซีนโควิด 19 เช่น ความจำเป็นและประโยชน์ในการฉีดวัคซีน ชนิดของวัคซีน ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งมีมาตรการป้องกันข้อมูลที่สร้างความสับสน และตื่นตระหนก ตลอดจนเร่งจัดหาและกระจายวัคซีนไปสู่ประชาชนทุกกลุ่มทุกพื้นที่โดยเร็ว อย่างเท่าเทียม และไม่ละเลยกลุ่มคนเปราะบางที่อาจเข้าถึงวัคซีนได้ไม่สะดวก อาทิ ผู้ต้องขัง ผู้ไม่มีสัญชาติไทยซึ่งพำนักในไทย และผู้ยากไร้ เป็นต้น 2.ประชาชนควรให้ความร่วมมือเข้ารับการฉีดวัคซีน เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) อันเป็นการช่วยเหลือสังคมส่วนรวมให้ปลอดภัยและเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้สังคมสามารถฝ่าวิกฤติการระบาดของโรค และขอให้เชื่อมั่นในระบบการดูแลสุขภาพที่มีประสิทธิภาพของประเทศไทย 3.รัฐบาลควรมีมาตรการเยียวยาด้านเศรษฐกิจ เพื่อให้ประชาชนที่เข้าไม่ถึงมาตรการที่ผ่านมาสามารถดำรงชีพตามมาตรฐานขั้นต่ำ เช่น กลุ่มบุคคลที่ถูกเลิกจ้าง กลุ่มคนว่างงาน กลุ่มที่ไม่สามารถประกอบอาชีพเดิมได้ รวมถึงกลุ่มผู้ยากไร้ที่มีข้อจำกัดในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเข้าถึงมาตรการเยียวยาของรัฐ ทั้งนี้ กสม.ขอชื่นชมทุกภาคส่วนโดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ได้เสียสละอุทิศตนร่วมกันป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคอย่างเต็มกำลัง และขอให้มีกำลังใจที่เข้มแข็ง สามารถก้าวผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกันได้โดยไม่ทอดทิ้งใครไว้เบื้องหลัง