อาคารชาเลนเจอร์ ที่อิมแพ็ค อาเรียน่า เมืองทองธานี ได้รับการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงจากพื้นที่ว่างเปล่า ให้กลายเป็นโรงพยาบาลสนามขนาด 5,000 เตียง ที่เพียบพร้อมทั้งอุปกรณ์ เครื่องมือ และบุคลากร ตามมาตรฐานการรักษา ภายใต้ชื่อ "โรงพยาบาลบุษราคัม" ถือเป็นโรงพยาบาลสนามขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ "อนุทิน ชาญวีรกูล"รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปลุกปั้นขึ้นมา เพื่อยื่นมือเข้าไปช่วยแบ่งเบาภาระของ กทม.ซึ่งเป็นหน่วย งานที่รับผิดชอบหลัก รับมือกับ "สงครามโรค" โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล เพราะเห็น กทม.ต้องเผชิญกับปัญหายอดผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลงในแต่ละวัน ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อการบริหารจัดการในโรงพยาบาลทั่วกรุงเทพ และปริมณฑล หากปล่อยไว้ปัญหาคงบานปลาย รองฯอนุทิน ระดมสรรพกำลังทั้งบุคลากร และเครื่องมือในหน่วยงานสาธารณสุข เร่งรัด ติดตามความคืบหน้า ทำงานกันอย่างหามรุ่ง หามค่ำ ใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ในการปรับปรุงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ "โรงพยาบาล บุษราคัม" เปิดให้บริการในวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 นี้ สำหรับ โรงพยาบาลบุษราคัม ถูกตั้งชื่อตามสีของอัญมณีที่มีสีเหลือง เพราะโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ วางเป้าเป็นจุด ศูนย์กลาง รักษาผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเหลือง ที่มีอาการเล็กน้อย ถึงปานกลาง ใน กรุงเทพฯและปริมณฑล วัตุถุประสงค์หลัก เพื่อเปิดพื้นที่ให้โรงพยาบาลทั่วกรุงเทพฯได้รักษาผู้ป่วยกลุ่มสีแดง หรือผู้ป่วยโควิดอาการหนักอย่างเต็มประสิทธิภาพ ลดความสูญเสียจากสถานการณ์โรคระบาด จากเดิมที่ต้องรับทั้งผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง เข้ามารักษาตัว เพราะไม่อยากให้เกิดปัญหา เตียงไม่พอ และเกิดปัญหาผู้ป่วยตกค้าง เหมือนช่วงก่อนหน้า ที่กระทรวงสาธารณสุข เข้าไปแก้ปัญหาให้ กทม.ด้วยการเปิดศูนย์แรกรับ และส่งต่อผู้ป่วยโควิด 19 ที่อาคารนิมิบุตร สนามกีฬาแห่งชาติ เพื่อเป็นหน่วยงานประสานรับผู้ป่วยโควิด มารักษาเฉพาะหน้า ก่อนส่งให้โรงพยาบาลรับไปดูแลต่อ จนสถานการณ์คลี่คลายในที่สุด ความทุ่มเทของรองฯอนุทิน ในปลุกปั้น"โรงพยาบาลบุษราคัม" เพื่อดูแลสุขภาพคนไทย ในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือ​ จากบุคลากรทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ที่พร้อมใจกันช่วยเหลืออย่างเต็ม - กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ช่วยจัดเตรียมสถานที่ ซึ่งประเมินแล้วว่าห่างไกลจากพื้นที่ชุมชน และมีระบบอำนวย ความสะดวกที่เหมาะสมด้านการสาธาณสุข - กรมอนามัย เข้ามาช่วยจัดการเรื่องสุขภิบาล การดูแลบำบัดน้ำเสีย และจัดการด้านสุขอนามัยต่างๆ - กรมควบคุมโรค และกรมการแพทย์ ผลึกกำลังจัดการเรื่องแผนการรักษาดูแลรักษาผู้ป่วย - องค์การเภสัชกรรม คอยสนับสนุนเรื่องยา โดยเฉพาะยาฟาวิพิราเวียร์ เพื่อรักษาอาการ - กรมสุขภาพจิต คอยดูแลเรื่องสภาพจิตใจผู้ป่วย - กรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก จะเข้ามาช่วยสนับสนุนงาน เพราะพลังความทุ่มเทของรองฯ อนุทิน ที่มีความตั้งใจจริง​ ช่วยเหลือดูแลรักษาสุขภาพคนไทย เพราะพลังความร่วมมือของบุคลากรในกระทรวงสาธารณสุข​ ที่ปกป้องชีวิตคนไทย เพราะพลังสนับสนุนจากเอกชนหลายภาคส่วนที่ร่วมสนับสนุนอุปกรณ์ อำนวยความสะดวกให้คนไทย พลังความร่วมมือร่วมใจ​จากทุกภาคส่วน ร่วมกันผนึกกำลังสู้ "สงครามโรค"โควิด -19 จนสามารถเนรมิตรสิ่งต่างๆ จากพื้นที่ว่างเปล่า เพียงแค่​ 1​ สัปดาห์ให้กลายเป็นโรงพยาบาลสนามขนาด 5,000 เตียง ที่เพียบพร้อมทั้งอุปกรณ์ เครื่องมือ และบุคลากร ตามมาตรฐานการรักษา ภายใต้ชื่อ "โรงพยาบาลบุษราคัม" อัญมณีสุดล้ำค่า​เพื่อรักษาชีวิตคนไทย