สสส. สานพลังภาคีเครือข่าย-นักสังคมสงเคราะห์ สร้างความเข้าใจชุมชนคลองเตยช่วงการระบาดโควิด-19 เร่งพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนอย่างยั่งยืน ชูชุมชนริมทางรถไฟมีแผนรับมือ ปรับตัวตั้งรับสถานการณ์ได้เข้มแข็ง
เมื่อวันที่ 11 พ.ค.พญ.ขจีรัตน์ ปรักเอโก ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย อาทิ สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) และภาคประชาสังคมต่างๆ ในการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพของคนในชุมชนเมืองมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 1 โดยได้ร่วมกับคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สร้างเครือข่าย “นักสังคมสงเคราะห์จิตอาสา” ให้คำปรึกษาในภาวะความเครียดจากการได้รับผลกระทบ และการเข้าถึงสวัสดิการสังคม สร้างองค์ความรู้เพื่อให้ชุมชนสามารถดูแลจัดการเครือข่ายในชุมชนได้อย่างเข้มแข็ง และพึ่งพาตัวเองได้ โดยชุมชนริมทางรถไฟคลองเตยเป็น 1 ใน 5 ชุมชนที่ สสส. ได้พัฒนาเป็นชุมชนนำร่อง ถึงแม้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกล่าสุดรวดเร็วเกินกว่าที่ชุมชนจะสามารถตั้งรับได้ แต่แผนที่วางรากฐานแนวคิดการบริหารจัดการไว้ เช่น แผนป้องกันและเฝ้าระวัง แผนลดผลกระทบ แผนสื่อสารชุมชน เป็นต้น ทำให้ชุมชนสามารถรับมือแก้ไขปัญหาเบื้องต้นได้
“การระบาดในรอบนี้ สสส.ได้เชื่อมประสานกับคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขตพื้นที่ 13 ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย กทม. รวมทั้งโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานครในการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิในเขตเมืองเพื่อให้มีการทำงานสร้างเสริมสุขภาพมากขึ้น รวมถึงการรองรับกับสถานการณ์กาแรรพ่ระบาดของโควิด-19 ให้ทั่วถึงและครอบคลุมมากขึ้น” พญ.ขจีรัตน์ กล่าว
ด้านผศ.รณรงค์ จันใด อาจารย์ประจำภาควิชานโยบายสังคม การพัฒนาสังคม และการพัฒนาชุมชน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมา สสส. และภาคีเครือข่าย ได้พัฒนาชุมชนนำร่องเพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ใน 5 ชุมชนนำร่อง ได้แก่ 1.ชุมชนริมคลองบางบัว เขตบางเขน กทม. 2.ชุมชนริมทางรถไฟคลองเตย เขตคลองเตย กทม. 3.ชุมชนศิริสุข อ.เมือง จ.สมุทรปราการ 4.ชุมชนวัดโตนด อ.บางกรวย จ.นนทบุรี และ 5. ชุมชนคูบางหลวง อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี โดยหวังให้ชุมชนร่วมกับระบบบริการสุขภาพทำให้เกิดกลไกการเฝ้าระวังทางสังคมและดูแลช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งได้แก่ 1.แผนเผชิญเหตุที่มาจากการวิเคราะห์สถานการณ์ ศักยภาพชุมชนการกำหนดแผนเผชิญเหตุ และแผนส่งเสริมอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ 2.กลไกเครือข่ายเฝ้าระวังชุมชน ที่สานพลังความร่วมมือทั้งหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิ วัด และชุมชนเพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และ 3.กลไกการสื่อสารเพื่อสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ และแก้ไขป้องกันปัญหาข่าวปลอม ผ่านแกนนำสื่อสารชุมชน ศูนย์ข้อมูลข่าวสารชุมชน รวมทั้งเครื่องมือสื่อสารที่เข้าถึงง่ายสำหรับคนในชุมชน
“สำหรับ ชุมชนริมทางรถไฟคลองเตย มีการนำร่อง โครงการตลาดชุมชน และสินค้าชุมชน เพื่อลดผลกระทบจากเศรษฐกิจในระลอกแรก ถือเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ในระดับหนึ่ง รวมทั้งมีการจัดทำแผนเผชิญเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ แผนดูแลผู้สูงอายุในชุมชน การเฝ้าระวังในชุมชน ซึ่งการเตรียมแผนต่างๆ เหล่านี้ จะช่วยให้ชุมชนปรับตัวตั้งรับสถานการณ์ได้ดียิ่งขึ้น” ผศ.รณรงค์กล่าว