กลับมาเป็นประเด็นร้อนฉ่าอีกครั้ง สำหรับ “บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)” ที่ในขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวน “ฟื้นฟู” องค์กรฯ หลังจากเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา “การบินไทย” ได้บินโฉบไปยังทำเนียบรัฐบาล สืบเนี่องจากมีการนัดประชุมเรื่องบริษัทการบินไทย ซึ่งการประชุมดังกล่าวนั้น ขุนพลด้านเศรษฐกิจของประเทศ ได้ตบเท้าเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง ทั้งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี, นายสุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี, นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม
นอกจากนี้ ยังมีตัวแทนสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.), สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.), บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด (บริษัทผู้ทำแผนฟื้นฟูการบินไทย), ที่ปรึกษาทางการเงิน, บริษัทที่ปรึกษากฎหมาย และบริษัท การบินไทยจำกัด (มหาชน) เข้าร่วมประชุมด้วย
ก่อนที่จะไปส่องดูว่า การประชุมเรื่องบริษัทการบินไทย ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 28 เมษายน ที่ผ่านมานั้น มีประเด็นอะไรให้น่าติดตาม ขอย้อนประวัติไปนิดนึงว่า ที่มาที่ไปล่าสุดของการบินไทยมีความคืบหน้า หรือมีกระบวนการอยู่ในขั้นไหนแล้วบ้างนั้น กล่าวคือ ตามที่บริษัทการบินไทย ได้ยื่นแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2564 ได้มีการนัดประชุมเจ้าหนี้พิจารณาแผนฟื้นฟูฯ ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 โดยมีเจ้าหนี้ยื่นขอรับชำระหนี้รวม 13,133 ราย ภาระหนี้ที่มาปรับโครงสร้าง 410,140.78 ล้านบาท
ทั้งนี้ ตามแผนฟื้นฟูมีการแบ่งเจ้าหนี้เป็นทั้งหมด 36 กลุ่ม โดยกลุ่มเจ้าหนี้สถาบันการเงินถือเป็นกลุ่มเจ้าหนี้ที่มีบทบาทสำคัญ และไม่เห็นด้วยกับแผนฟื้นฟูฉบับนี้ ซึ่งภายใต้ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 กรณีเจ้าหนี้ไม่เห็นชอบกับแผนฟื้นฟูสามารถยื่นขอแก้ไขแผนฟื้นฟูได้ ภายในวันที่ 7 พฤษภาคม 2564 (ก่อนการประชุมเจ้าหนี้ 3 วันทำการ) รวมถึงในตอนนี้ ผู้จัดทำแผนฟื้นฟู อยู่ระหว่างการประชุมหารือกับเจ้าหนี้สถาบันการเงินหลายรายว่า จะมีข้อเสนอเพิ่มเติมอย่างไรบ้าง เพื่อจะนำไปปรับแก้ในแผนฟื้นฟูเพิ่มเติม ทำให้กระทรวงการคลัง รอดูว่า แผนฟื้นฟูฉบับใหม่จะมีการปรับแก้อะไรบ้าง
จากนั้น เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา กระทรวงการคลัง โดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เจ้ากระทรวงฯ ยังได้เสนอรายละเอียดถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่องแนวทางการอัพเม็ดเงิน เพื่อช่วยเหลือการบินไทย เนื่องจากแผนฟื้นฟูต้องการให้กระทรวงการคลังเพิ่มทุน หรือค้ำประกันเงินกู้ให้การบินไทย 2.5 หมื่นล้านบาท ติดข้อกฎหมาย เพราะรัฐบาลจะค้ำประกันเงินกู้ให้ได้เฉพาะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ แต่ปัจจุบันการบินไทยได้ถูกปลดจากสถานภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว
แต่หากจะค้ำประกันเงินกู้ อาจจะออกกฎหมายทำแบบเฉพาะกิจให้รัฐบาลค้ำประกันให้ได้ตามความจำเป็นเท่านั้น ซึ่งการค้ำประกันก็จะไม่ค้ำ 100% โดยมีการมอบหมายให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ไปพิจารณาหาช่องทาง โดยรัฐบาลให้นำเงื่อนไขนี้ไปคุยกับเจ้าหนี้ก่อน
กลับมาที่ประเด็นการประชุมที่ทำเนียบรัฐบาลที่ได้กล่าวถึง ซึ่งเรื่องมีอยู่ว่า กระทรวงการคลัง ได้หยิบยกการแก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทย มาเสนอในที่ประชุม โดยมีหนึ่งแนวคิดต้องการให้นำบริษัทการบินไทย กลับมาเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอีกครั้ง
เมื่อได้ยินแค่นี้ มีรายงานว่า ที่ประชุมถึงกับแปลกใจ เพราะว่า ก่อนหน้านี้ ย้อนไปเมื่อ 9 เดือนที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้ดำเนินการขายหุ้น จนทำให้บริษัทการบินไทย ต้องออกจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่เหตุใดวันนี้ จึงอยากจะดึงบริษัทการบินไทยกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะทำให้มีความเสี่ยงต่อภาครัฐในทันที โดยในเรื่องนี้ ได้ยินจากวงในมาว่า กระทรวงคมนาคมค้านหัวชนฝา เพราะมองภาพในอนาคตแล้วว่า ไม่เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชน
โดยเฉพาะหนี้สาธารณะที่จะเพิ่มขึ้นมากว่า 3 แสนล้านบาท จากเดิมที่มีหนี้อยู่ 2.2 แสนล้านบาท ซึ่งจะถูกโอนมาเป็นภาระของรัฐบาล ซึ่งก็คือภาษีของประชาชนในทันที รวมถึงรัฐบาลจะต้องนำงบประมาณไปสนับสนุนให้บริษัทการบินไทย ปีละ 5 หมื่นล้านบาท ตามค่า KPI ทำให้รัฐต้องเข้าไปค้ำประกันไม่น้อยกว่า 3- 5 ปี กว่าที่บริษัทการบินไทยจะกลับมามีกำไร งานนี้! ได้แต่ตั้งคำถามว่า เหตุไฉน? ถึงไม่รอกระบวนการตามแผนฟื้นฟู ซึ่งน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
พอได้ดูแผนที่กระทรวงการคลังเสนอดึงอดีตสายการบินแห่งชาติที่ล้มละลาย จนต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลายไปแล้วนั้น ถึงกับร้อง “อ๋อ!” เพราะพบว่า เหตุผลที่กระทรวงการคลัง ได้เสนอเรื่องที่จะดำเนินการกับสถานะของบริษัทการบินไทยให้กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจอีกครั้ง ก็เพราะเพื่อให้สามารถค้ำประกันเงินกู้ได้ใช่หรือไม่ เนื่องจาก ในปัจจุบันกระทรวงการคลัง ถือหุ้นบริษัทการบินไทย 47.86%
โดยที่กองทุนวายุภักษ์ จะขายหุ้นบริษัทการบินไทย ให้กับบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) ตั้งแต่ 2.15% ขึ้นไป ซึ่งจะมีผลทำให้ บริษัทการบินไทย กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจอีกครั้ง ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วิธีงบประมาณ พ.ร.บ.บริหารหนี้สาธารณะ และ พ.ร.บ.เอกชนร่วมลงทุนกับรัฐ รวมถึง พ.ร.บ. อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากให้ ธพส. ซึ่งตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อปี 2547 ซึ่งมีกระทรวงการคลังถือหุ้น 100% มีวัตถุประสงค์ เพื่อลงทุนก่อสร้างอาคารและบริหารอสังหาริมทรัพย์ โดย “บริหารจัดการทรัพย์สินอื่นของรัฐตามนโยบายรัฐบาล” นั้น หากเข้ามาถือหุ้นในบริษัทการบินไทย จะเป็นการดำเนินการที่เกินอำนาจวัตถุประสงค์ของ ธพส. ที่ก่อตั้งขึ้นมาหรือไม่ยังเป็นคำถามอยู่
จากประเด็นดังกล่าว เป็นที่น่าสังเกตว่า การดำเนินการในครั้งนี้ ไม่ต้องได้รับอนุมัติจาก ครม. ซึ่งมีการยกเว้นแต่เป็นการลงทุนเกิน 25% หรือการร่วมลงทุนในบริษัทในเครือ ซึ่งต้องนำเสนอกระทรวงการคลัง, คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และ ครม. แต่ในทางปฏิบัติแล้ว การลงทุนของ ธพส.ต้องกระทำผ่านการพิจารณาโดยผู้บริหาร/คณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นตัวแทนจากกระทรวงการคลังแทบทั้งสิ้น
กลับมาที่การประชุมเจ้าหนี้เพื่อโหวตแผนฟื้นฟู ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 นี้นั้น โดยในขณะนี้ธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้ได้มีการปรับแก้และเสนอแผนฟื้นฟูฉบับใหม่ ซึ่งหากรัฐบาลไม่ค้ำประกัน แบงก์ก็ไม่มีใครกล้าปล่อยกู้เพิ่ม ขณะที่เจ้าหนี้บางส่วนก็ต้องรับเงื่อนไขแปลงหนี้เป็นทุน ซึ่งไม่มีเจ้าหนี้อยากทำวิธีนี้ เพราะหากฟื้นฟูไม่สำเร็จจะไม่ได้อะไรกลับมาเลย ขณะเดียวกัน ประเด็นที่ยังเห็นต่างกันหลักๆ อยู่ 2-3 ประเด็น อาทิ เรื่องโมเดลธุรกิจ และกลไกการบริหารแผนฟื้นฟู ไม่เพียงเท่านั้น ในส่วนของกลไกการบริหารแผนฟื้นฟู มีประเด็นเรื่องการบริหารแผน ซึ่งทางเจ้าหนี้สถาบันการเงินต้องการมีส่วนบริหารแผนฟื้นฟูด้วย
จากรายละเอียดของข้อมูลต่างๆ ประกอบกับกูรูในวงการ ยังได้ออกมาระบุว่า ปัญหาสำคัญที่สุดตอนนี้ คือ ติดในเรื่องกระทรวงการคลังจะค้ำประกันเงินกู้หรือเพิ่มทุนให้การบินไทยหรือไม่ เพราะหากกระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน เจ้าหนี้สถาบันการเงินก็ไม่กล้าปล่อยกู้ โดยเฉพาะธนาคารของรัฐ รวมถึงถ้าคลังไม่เพิ่มทุน เจ้าหนี้ก็ไม่มั่นใจ นอกจากนี้ แผนฟื้นฟูในส่วนของแผนธุรกิจ ยังมีรายละเอียดที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน และไม่เห็นโอกาสที่การบินไทยจะสามารถสร้างรายได้ เพื่อนำมาชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ได้ตามแผน รวมถึงในการโหวตแผนฟื้นฟูในวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 นี้ คาดว่า แผนฯ จะได้รับความเห็นชอบ เนื่องจากมีเสียงของกลุ่มเจ้าหนี้ “หุ้นกู้” คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของหนี้ทั้งหมด รวมกับในส่วนของกระทรวงการคลัง และเจ้าหนี้การค้า ซึ่งน่าจะต้องโหวตให้ใช่หรือไม่
คงต้องจับตาดูเรื่องนี้กันให้ดี ว่าข้อเสนอของกระทรวงการคลัง ที่ออกมานั้นสุดท้าย จะมีข้อดีหรือข้อด้อย ออกมาอย่างไร โดยเฉพาะจะสามารถขจัดข้อโต้แย้งได้หรือไม่ หากดึงบริษัทการบินไทย กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจอีกครั้ง จะไม่เป็นภาระของรัฐบาล และกระทบต่อเงินภาษีของประชาชน