วช. หนุนงานวิจัยและนวัตกรรมแก่หน่วยงาน และโรงพยาบาลสนามในสังกัด อว. เพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากการติดเชื้อโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 27 เม.ย. ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่แพร่ระบาดมาตั้งแต่ปี 2563 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ให้ความสำคัญต่อการสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนป้องกัน และลดผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้งในเชิงวิชาการ การวิจัย และนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ โดยในส่วนของวิชาการ วช.ได้สนับสนุนการศึกษาวิจัยลักษณะทางพันธุกรรมและการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในประเทศไทย และสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยโครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจและสังคม การศึกษาวิจัยระบบบริหารจัดการโลจิสติกส์เวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาเพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
ส่วนของการสนับสนุนการวิจัยนวัตกรรมต้านโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563–ปัจจุบัน มีผลสำเร็จของงานวิจัยทยอยส่งมอบให้แก่หน่วยงานใช้ประโยชน์แล้วอย่างต่อเนื่อง เช่น นวัตกรรมหน้ากากอนามัยป้องกันการติดเชื้อโคโรนาไวรัสแบบซักได้ถึง 30 ครั้ง สามารถป้องกันหรือกรองฝุ่นฝอยขนาด 5 ไมครอน ป้องกันการซึมผ่านของละอองฝอยเสมหะ หรือสารคัดหลั่งที่เป็นของเหลว หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่ โดยนำ Silicone mask มาดัดแปลงเพิ่มแผ่นกรอง HEPA filter ที่มีคุณสมบัติและมาตรฐานเทียบเคียง N99 กรองแบคทีเรียและไวรัสมากกว่า 99 % ป้องกันเชื้อโรคได้สูงกว่าหน้ากากอนามัยชนิด N95 สามารถปกป้องผู้ใช้งานจากการสัมผัสเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสามารถเปลี่ยนไส้กรองได้ หน้ากากป้องกันเชื้อโรคแบบคลุมศรีษะชนิดมีพัดลมพร้อมชุดกรองอากาศประสิทธิภาพสูง นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรมที่ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในสถานการณ์โควิด-19ได้ ได้แก่ เครื่องผลิตไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์สำหรับฆ่าเชื้อ ระบบบริการตู้อบฆ่าเชื้อไวรัสแบบไฮบริดควบคุมผ่านอินเเตอร์เน็ตของสรรพสิ่งที่ให้บริการสถานที่สาธารณะ
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยอีกหลายโครงการที่ วช. ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยและสามารถนำมาใช้ประโยชน์เพื่อสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยจากการติดเชื้อโควิด 19 เช่น โครงการวิจัยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตหมอนยางพาราระดับชุมชน ของสหกรณ์จังหวัดพัทลุง ทำให้ได้ชุดที่นอนยางพาราที่สามารถระบายอากาศได้ดี มีความยืดหยุ่นสูง ไม่สะสมฝุ่น แบคทีเรีย และเชื้อโรค ซึ่ง วช. ได้นำนวัตกรรมยางพารานี้ไปมอบให้กับโรงพยาบาลสนามในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และหน่วยงานอื่น ถึงปัจจุบัน วช. ได้ส่งมอบที่นอนยางพาราให้โรงพยาบาลสนามไปแล้ว จำนวน 1,000 ชุด เพื่อนำไปใช้สำหรับผู้ป่วยโควิด-19