วันที่ 14 เม.ย.64 พล.ต.อ เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน ในฐานะประธานบอร์ด บจธ. เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแล บจธ. มีความเป็นห่วงความเป็นอยู่ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และได้มอบนโยบายสู่การปฏิบัติเรื่องที่ดินทำกินเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ให้แก่เกษตรกรและผู้ยากจนมีที่ดินเป็นของตนเอง โดยให้ บจธ. บูรณาการร่วมกับส่วนราชการ ภาคประชาชน และเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ส่วนความคืบหน้าในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินโดยกระจายการถือครองที่ดิน เพื่อจัดหา จัดสรรที่ดินรูปแบบแปลงรวมถือกรรมสิทธิ์ร่วม และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนส่งเสริมอาชีพ และช่วยเหลือเกษตรกรผู้ยากจนที่ประสบปัญหาจะสูญเสียสิทธิหรือสูญเสียสิทธิในที่ดินไปแล้วจากการจำนอง การขายฝาก และการถูกบังคับคดี ไปแล้ว รวมทั้งสิ้น 1,368 ครัวเรือน เนื้อที่ 4,698 ไร่ โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่มาบูรณาการ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนแบบยั่งยืน มีรายได้จากผลผลิตทางการเกษตร มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเห็นภาพอย่างเป็นรูปธรรม และชุมชนเข้มแข็งได้โดยชุมชน นายกุลพัชร ภูมิใจอวด ผู้อำนวยการ บจธ. เปิดเผยว่า หลังจากให้สำรวจความคิดเห็นของประชาชน โดยการทำ public hearing ร่างพระราชบัญญัติสถาบันบริหารจัดการที่ดินและกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน แล้ว ทาง บจธ. ได้นำร่างพระราชบัญญัตินี้ นำเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เพื่อเสนอคณะอนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมายการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม เป็นประธาน ในวันที่ 21 เมษายน 2564 นี้ หากคณะอนุกรรมการดังกล่าวพิจารณาเรียบร้อยแล้วจะได้เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติพิจารณา และเสนอคณะรัฐมนตรีภายในเดือนกันยายน 2564 เนื่องจากร่างกฎหมายดังกล่าว เป็นพระราชบัญญัติจะต้องเสนอสภาผู้แทนราษฎร โดยคาดว่าการดำเนินกระบวนการต่างๆ จะแล้วเสร็จภายในวันที่ 7 มิถุนายน 2565 ซึ่ง การจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการที่ดิน จะช่วยกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน เพราะเป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่และภารกิจที่จะมาช่วยเหลือประชาชนด้านที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ที่มีความครบถ้วนและสามารถแก้ไขปัญหาความเลื่อมล้ำด้านที่ดินให้แก่ประชาชนได้อย่างตรงจุดและไม่มีความซ้ำซ้อนกับภารกิจที่หน่วยงานอื่นดำเนินการอยู่แล้ว สำหรับประชาชนที่ต้องการขอความช่วยเหลือ สามารถติดต่อได้ที่ www.labai.th เบอร์ติดต่อ 02-278-1244 หรือ 02-278-1648 ต่อ 610