เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 เวลา 9.30 –12.00 น. ได้มีการประชุม ความร่วมมือโครงการ Supporting Apprentice Students Program ระหว่าง ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ บริษัท ฮิตาชิ เอบีบี เพาเวอร์ กริดส์ ณ ห้องประชุมสวนรวมใจ 2 ชั้น 1 ตึก 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย ชรินพาณิชกุล รองคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้เกียรติเป็นประธานสถาบันการศึกษา พร้อม ดร.ประดิษฐพงศ์ สุขสิริถาวรกุล Director & Vice President บริษัท ฮิตาชิ เอบีบี เพาเวอร์ กริดส์ ในประเทศไทย ประธานสถานประกอบการ ร่วมแถลงความร่วมมือโครงการ Supporting Apprentice Students Program ระหว่างภาควิชาไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับบริษัท ฮิตาชิ เอบีบี เพาเวอร์ กริดส์ ดำเนินการจัดนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจำนวน 16 คน เข้าฝึกงานที่บริษัทฯ เป็นระยะเวลา 360 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ถึงวันที่ 30 กรกฎาคม 2564
โดยความร่วมมือดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างโอกาสให้กับนิสิตของมหาวิทยาลัยให้ได้สร้างเสริมประสบการณ์การทำงานจริง ณ สถานประกอบการ ทั้งยังเป็นการร่วมมือในทางวิชาการ การบูรณาการ พัฒนา และเผยแพร่องค์ความรู้ของบริษัทให้กับนิสิต ตลอดจนสร้างความร่วมมือและบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างบริษัทและมหาวิทยาลัยในประเทศไทย สำหรับโครงการ Supporting Apprentice Students Program ครั้งนี้ เป็นโครงการพัฒนาระบบการฝึกงานของทางบริษัทให้มีมาตรฐานระดับโลก พร้อมเพิ่มประสิทธิผลของการดำเนินการสูงสุด ด้วยการให้นิสิตสามารถเลือก พัฒนา และเรียนรู้ในขอบเขตงานเฉพาะทางด้านวิศวกรรมตามที่ตนเองสนใจ อาทิ
1. Grids Edge Solutions, Microgrid & Battery Energy Storage System (BESS) and e-mesh™
2. SCADA and Control Systems, Substation Automation, Protection & Control
3. High Voltage Switchgear & Breakers, Instrument Transformer Surge Arrester, Capacitor & Filters and Generator Circuit Breakers
4. Power Transformers and TXpert™ Ecosystem
5. FACTS & HVDC
6. Substation & Electrification and Digital Substation with SAM 600
7. Power Quality
8. Overvoltage & Controlled Switching (Capacitor, Line and Shunt Reactor)
9. Grid E-Motion Fleet (E-mobility) and TOSA E-bus
10. Smart Grids and Virtual Power Plants (VPP)
11. Enterprise Software and The Digital Energy Transformation
ทั้งนี้ทางบริษัทพร้อมเปิดโอกาสให้นิสิตทุกคน ร่วมแสดงความคิดเห็นและพัฒนาศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่ ด้วยแนวคิดในการประสานความหลากหลาย ผสานการทำงานร่วมกัน เพื่อนำมาซึ่งนวัตกรรมที่ยอดเยี่ยม โดยตลอดการฝึกงานนิสิตทุกคนจะมีผู้เชี่ยวชาญ และผู้ให้คำแนะนำในแต่ละขอบเขตงานที่เลือก เพื่อให้ได้รับความรู้ทักษะอย่างตรงจุดจากผู้เชี่ยวชาญ และเพิ่มประสิทธิผลระหว่างการฝึกงานอย่างเต็มที่ ก่อนสิ้นสุดโครงการทางบริษัทมีระบบประเมินผล รวมถึงระบบการสัมภาษณ์เชิงพฤติกรรม เพื่อวัดทัศนคติ ความรู้ และทักษะที่ได้รับจากการฝึกงานของโครงการ เพื่อพิจารณาและเพิ่มโอกาสให้กับนิสิตนักศึกษาในการร่วมงานกับบริษัทในอนาคต