นายกิตติกร โลห์สุนทร ประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร และคณะ เดินทางศึกษาดูงาน ที่สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปเรื่องสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่ใช้กับยานยนต์ไฟฟ้า โโยร่วมมือกับปั้มน้ำมันบางจาก ในการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า เพื่อรองรับผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV)
โดยในช่วงที่ผ่านมา กฟภ. ได้ทำการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าไว้บริการประชาชนที่สำนักงานการไฟฟ้าภูมิภาค อำเภอหัวหิน ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2560 เพื่อขานรับนโยบายขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 เพื่อหนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยมีสถิติการใช้บริหารสถานีอัดประจุไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2562-2564 มีรถยนต์ EV เข้ามาใช้บริการ 731 คัน ในปี 2562 มี 139 คัน ปี 2563 มี 464 คัน เดือน ม.ค.-มี.ค.64 ใช้บริการ 128 คัน มีระยะการให้บริการต่อ 1 คัน 1 ชั่วโมง จำนวนพลังงานที่รับบริการต่อ 1 ชั่วโมง 26 kWh ค่าใช้จ่ายโดยประมาณ ในช่วง Peak 195 บาท ช่วง Off Peak 108 บาท
อย่างไรก็ตามการไฟฟ้าภูมิภาค ได้ร่วมมือกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพื่อทำการพัฒนาการบริการอัดประจุไฟฟ้า PEA VOLTA ทั้งงานวิจัยด้านยานยนต์ไฟฟ้า จะเป็นการวิจัยระบบโครงข่ายเครื่องอัดประจุไฟฟ้าอย่างรวดเร็วสำหรับโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะของ กฟภ. โดยจะทำการสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้าในพื้นที่ กฟภ.จำนวน 11 สถานี ครอบคลุมพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ สำนักงานใหญ่ รังสิต อยุธยา นครชัยศรี สมุทรสาคร เขาย้อย ชลบุรี พัทยาใต้ หัวหิน นครราชสีมา และปากช่อง ใช้งบประมาณ 19,434,000 บาท พร้อมทั้งพัฒนาระบบบริหารจัดการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้า เป็นการศึกษาและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบบริหารจัดการสถานีอัดประจุไฟฟ้า และมีระบบรักษาความปลอดภัยด้านข้อมูลในการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า ของ กฟภ.นั้น สามารถรองรับรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศได้ 3 หัวจ่าย CHAdeMO CCS TType2 และ AC Type 2