ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ แพทย์ประจำวิชาอายุรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบการหายใจ เวชบำบัดวิกฤตและภูมิแพ้ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทีมจัดตั้ง Chiang Mai Air Quality Health Index พบว่าในช่วงเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา สภาพอากาศช่วงที่เกิดเหตุไฟป่าในพื้นที่จ.เชียงใหม่ มีค่า PM 2.5 พุ่งสูงขึ้นอยู่ในระดับสีแดงเกินค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ โดยในพื้นที่ภาคเหนือ พบค่าระหว่าง 40 - 320 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และพบว่าหลายพื้นที่ในจ.เชียงใหม่ได้รับผลกระทบ PM2.5 จากเหตุไฟป่า โดยเหตุการณ์ไฟป่าล่าสุด เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 64 ที่ อ.สะเมิง วัด ได้ 179ไมรโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและก่อให้เกิดโรคร้ายแรงในระยะยาวอย่างยิ่ง ทั้งนี้ ข้อมูลการจัดอันดับคุณภาพอากาศในเว็บไซต์ AirVisual เผยข้อมูลดัชนีคุณภาพอากาศ ชี้ให้เห็นว่าสภาพอากาศของ จ.เชียงใหม่ มีปริมาณค่าฝุ่นละออง PM2.5 มากเกินค่ามาตรฐาน บางวันค่าฝุ่นละอองมลพิษในอากาศแย่เป็นอันดับที่ 1 ของโลก
จากปัญหาหมอกควันที่รุนแรง สิงห์อาสา โดย มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี และ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และเครือข่ายสถาบันการศึกษาภาคเหนือ 10 สถาบัน จัดอบรมให้ความรู้เรื่องปัญหาหมอกควัน แนะนำวิธีการดูแลสุขภาพและการปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้กับอาสาสมัครดับไฟป่าในต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ จำนวน 50 คน ในโครงการ “สิงห์อาสาสู้ไฟป่า รักษาต้นน้ำ” ซึ่งเป็นโครงการที่ดูแลรักษาป่าต้นน้ำภาคเหนือ โดยมี รศ.นพ.ณัฐพงษ์ โฆษะชุณหนันท์ รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ และ ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ แพทย์ประจำวิชาอายุรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบการหายใจ เวชบำบัดวิกฤตและภูมิแพ้ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมบรรยายถึงสาเหตุการเกิดหมอกควันและอันตรายต่อสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหา สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาไฟป่าและหมอกควันได้ตั้งแต่ต้นเหตุ สามารถดูแลตนเองและในขณะเดียวกันก็สามารถนำความรู้ไปถ่ายทอดให้กับคนในชุมชนได้ ที่สถานีควบคุมไฟป่าเชียงใหม่ เมื่อ 31 มี.ค.64
โครงการ “สิงห์อาสาสู้ไฟป่า รักษาต้นน้ำ” เป็น 1 ใน 4 ภารกิจ “ต้นน้ำ แหล่งน้ำ สายน้ำ และความยั่งยืน” ตอกย้ำเป้าหมายการดำเนินงานของ สิงห์อาสา เนื่องในวาระครบรอบ 10 ปี เป็นภารกิจที่ดูแลรักษาป่าต้นน้ำอย่างครบวงจร ซึ่งปัญหาไฟป่าเป็นต้นเหตุของการทำลายป่าต้นน้ำ ทำให้ป่าต้นน้ำขาดความชุ่มชื้น และอีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่เกิดจากไฟป่า คือ วิกฤตหมอกควันรุนแรง กลายเป็นฝุ่น PM 2.5 ที่จะส่งผลกระทบต่อปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในหลายพื้นที่ โดยสาเหตุหลักของไฟป่านั้นเกิดจากมนุษย์ อาทิ การลักลอบเผาป่า การรุกป่าทำแปลงเกษตรและปศุสัตว์ เป็นต้น โครงการ “สิงห์อาสาสู้ไฟป่า รักษาต้นน้ำ” จึงจัดอบรมให้ชาวบ้านที่อยู่ใกล้พื้นที่ป่า ตระหนักถึงปัญหาหมอกควันที่จะส่งผลกระทบในวงกว้างกับสุขภาพของประชาชน พร้อมแนะวิธีดูแลสุขภาพของตนเอง การปฐมพยาบาลเบื้องต้น และการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเมื่อเกิดเหตุ ให้กับชาวบ้านจาก ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่เกิดไฟป่าบ่อยครั้ง
ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ แพทย์ประจำวิชาอายุรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบการหายใจ เวชบำบัดวิกฤตและภูมิแพ้ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เผยว่า พื้นที่จ.เชียงใหม่และภาคเหนือเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควันอย่างรุนแรง โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ คือระยะเฉียบพลัน และระยะยาว เช่น ผู้ที่เป็นภูมิแพ้ โรคทางเดินหายใจ มีโรคประจำตัว กลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ รวมถึงทารกในครรภ์ นับว่าเป็นกลุ่มเปราะบาง จะได้รับผลกระทบในระยะเฉียบพลัน ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตกระทันหัน ด้านผลกระทบระยะยาวจะเห็นได้ว่าผู้ที่ไม่เคยป่วยก็จะป่วยสะสมเป็นโรคต่างๆ เช่น โรคความดัน โรคมะเร็งปอด โรคหัวใจ เป็นต้น โดยประชาชนสามารถดูดัชนีคุณภาพอากาศ งดกิจกรรมกลางแจ้ง และสังเกตอาการเบื้องต้น ถ้าอยู่ใกล้แหล่งกำเนิดจะได้กลิ่น แต่ถ้าอยู่ไกลสามารถสังเกตอาการได้จากอาการเวียนศรีษะ แสบจมูก คอแห้ง อ่อนเพลีย ระคายเคืองตาและผิวหนัง ซึ่งอาจสะสมจนก่อให้เกิดโรคถุงลมโป่งพอง โรคหอบหืดเรื้อรัง หรือ โรคมะเร็งปอดได้
รศ.นพ.ณัฐพงษ์ โฆษะชุณหนันท์ รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า กิจกรรมในโครงการ “สิงห์อาสาสู้ไฟป่า รักษาต้นน้ำ” ครั้งนี้ ทางคณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ได้มาร่วมบรรยายเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้เกิดฝุ่นควัน PM 2.5 ผลกระทบต่อสุขภาพและปัจจัยเสี่ยงด้านอื่นๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และสิ่งแวดล้อม โดยผลที่คาดว่าจะได้รับจากกิจกรรมนี้คือ ชุมชนเข้าใจถึงสาเหตุของปัญหาฝุ่นควันที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งทุกคนและทุกภาคส่วนสามารถช่วยกันแก้ไขปัญหาได้ เช่น การดูแลป่าต้นน้ำ การเฝ้าระวังไฟป่าเพื่อลดปัญหาหมอกควัน กระตุ้นให้เกิดการพูดคุยกันในวงกว้างเพื่อให้เกิดการตระหนักและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นและให้ทุกคนมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน
นอกจากการจัดอบรมให้ความรู้ปัญหาหมอกควัน โครงการ “สิงห์อาสาสู้ไฟป่า รักษาต้นน้ำ” ยังมีกิจกรรมอื่นๆ เพื่อดูแลรักษาป่าต้นน้ำในภาคเหนืออย่างครบวงจร ได้แก่ การทำแนวกันไฟป่า พร้อมจัดอบรมให้ความรู้กับชาวบ้านในพื้นที่เพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาไฟป่า การทำฝายชะลอน้ำรักษาความชุ่มชื้นป่าต้นน้ำ การร่วมกับเครือข่ายนักศึกษาภาคเหนือ 10 สถาบันจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังไฟป่า การสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครดับไฟป่า เช่น มอบเครื่องมือทำแนวกันไฟที่ได้มาตรฐาน รองเท้าเซฟตี้ รวมทั้งสนับสนุนอาหาร-น้ำดื่มอีกด้วย
ทั้งนี้ เนื่องในวาระครบรอบ 10 ปี สิงห์อาสา ในปีนี้ได้ทำโครงการเพื่อดูแลรักษาทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน แบ่งเป็น 4 ภารกิจหลัก ได้แก่ “ต้นน้ำ แหล่งน้ำ สายน้ำ และความยั่งยืน” ครอบคลุมทุกภูมิภาค โดยจับมือกับเครือข่ายสิงห์อาสาที่มีอยู่ทั่วประเทศ อาทิ เครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสา, บริษัทในเครือบุญรอดฯทั้งหมด รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ร่วมกันพัฒนา ฟื้นฟู อนุรักษ์ และจัดสรรทรัพยากรน้ำให้ยั่งยืนสืบไป